ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดประวัติ ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ ผู้นำที่โลกรัก แต่คนรัสเซียเกลียด

31 ส.ค. 65
เปิดประวัติ ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ ผู้นำที่โลกรัก แต่คนรัสเซียเกลียด

ปิดฉากสหภาพโซเวียตอย่างสมบูรณ์ เมื่อ ‘มิคาอิล กอร์บาชอฟ’ (Mikhail Gorbachev) ผู้นำคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียตเสียชีวิตไปแล้วเมื่อวานนี้ด้วยวัย 91 ปี  

 000_sapa980226280020

สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์การเมืองโลกและรัสเซีย ชื่อกอร์บาชอฟอาจไม่ได้มีความสำคัญอะไรนัก แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นนักการเมืองคนสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตของคนทั้งโลก (และชีวิตของคุณ) ไปตลอดกาล ด้วยการออกนโนบายยุติ ‘สงครามเย็น’ จนคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปได้ในปี 1990

แต่ถึงแม้นโยบายของเขาจะนำไปสู่สันติภาพและเสรีภาพในหลายประเทศจนกลายเป็นที่ยกย่องในเวทีโลก นโยบายเดียวกันกลับทำให้เขาเป็นที่เกลียดชังของเพื่อนร่วมชาติบางกลุ่มในประเทศตัวเอง 

เพราะคนเหล่านั้นมองว่าเพราะนโยบายการต่างประเทศที่มุ่งสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีกับชาติตะวันตก และแนวคิด ‘กลัสนอสต์’ (glasnost) และ ‘เปเรสตรอยคา’ (perestroika) ที่มุ่งปฏิรูปการเมืองให้โปร่งใสและกระจายอำนาจให้ประชาชนของกอร์บาชอฟนั้นเป็นตัวการที่ทำให้โซเวียต ‘แตกแยก’ ‘อ่อนแอ’ และ ‘ล่มสลาย’ ไปในปี 1991 

ในโอกาสนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาเปิดประวัติและผลงานของกอร์บาชอฟ และมาดูเหตุผลว่าทำไมเขาถึงเป็นผู้นำที่โลก ‘รัก’ แต่คนรัสเซีย ‘เกลียด’

 

จากลูกชาวนายากจนสู่นักการเมืองคนสำคัญของสหภาพโซเวียต

เหมือนผู้นำประเทศคอมมิวนิสต์ส่วนมากในสมัยนั้นที่มีพื้นเพมาจากชนชั้นแรงงาน มิคาอิล กอร์บาชอฟ เกิดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี 1931 ในครอบครัวชาวนายากจนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศภายใต้การปกครองของโจเซฟ สตาลิน

ตามประวัติเขาใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่กับคุณตาคุณยายอย่างยากจนข้นแค้น ได้เห็นคนอดตาย และได้เห็นคุณตาของตัวเองถูกจับไปทรมานเพียงเพราะออกไปเรียกร้องทางการเมือง เขาจึงได้สัมผัสผลกระทบของนโยบายรัฐบาลที่มีต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง

ดังนั้นเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว เขาจึงทำงานช่วยครอบครัวอย่างขยันขันแข็งมาตั้งแต่เด็กด้วยการขับรถแทรคเตอร์ และประสบความสำเร็จในการเพิ่มผลผลิตให้เมืองมากจนทางการรัสเซียให้เครื่องอิสริยาภรณ์ธงแดงแห่งแรงงาน (Order of the Red Banner of Labour) ให้เป็นรางวัลแก่เขาตั้งแต่ยังอายุแค่ 17 ปี 

นอกจากนี้เขายังเป็นเด็กสมองไวและเรียนเก่ง หลังจากจบชั้นมัธยมปลายแล้วเขาก็เข้าไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยมอสโควโดยไม่ต้องสอบเข้า แถมยังมีผลการเรียนเป็นเลิศจนจบออกมาด้วยเกียรตินิยมในปี 1955

และเส้นทางทางการเมืองของเขาก็เริ่มต้นหลังจากนั้นไม่นานนัก เพราะปีนั้นเป็นปีหลังสตาลินเสียชีวิตไปแล้วเพียง 2 ปี ทำให้โครงสร้างภายในของรัฐบาลโซเวียตกำลังระส่ำระสายไม่ลงตัว เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าไปทำงานการเมืองเป็นจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นก็คือกอร์บาชอฟที่เข้าไปทำงานให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตผ่านการชักชวนของเพื่อนเก่าสมัยมัธยมที่เล็งเห็นความสามารถของเขา 

ซึ่งหลังจากเข้าไปทำงานให้พรรคอย่างเต็มตัว อาชีพทางการเมืองของเขาก็พัฒนาอย่างรวดเร็วจนทำงานได้เพียง 6 ปี กอร์บาชอฟก็ได้เป็นหัวหน้ากรมการเกษตรของเมือง Stavropol ทื่เป็นเมืองบ้านเกิด

ทำผลงานเตะตาผู้ใหญ่ในพรรคจนได้เข้าไปเป็นสมาชิกของ ‘โปลิตบูโร’ (Politburo) หรือคณะกรรมการบริหารที่มีอำนาจสูงที่สุดของพรรคในปี 1980 

ก่อนจะก้าวขึ้นจุดสูงสุดของพรรคในปี 1985 ในฐานะ ‘เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต’ (The General Secretary of the Communist Party of the Soviet Union) ซึ่งเปรียบได้กับผู้นำสูงสุดของคนทั้งสหภาพโซเวียต

 

ผู้นำนักปฏิรูปที่พัฒนาโซเวียตให้มีความเป็น ‘ประชาธิปไตย’

ตลอดเวลาในการดำรงตำแหน่งผู้นำของสหภาพโซเวียต 2 คำที่อธิบายมุมมองทางการเมืองและนโยบายของกอร์บาชอฟได้ดีที่สุดก็คือ ‘กลัสนอสต์’ (glasnost) และ ‘เปเรสตรอยคา’ (perestroika) ที่แปลตรงๆ ได้ว่า ‘ความโปร่งใส’ และ ‘การเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เขานำมาใช้ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตครั้งที่ 27 ในเดือนกุมภาพันธ์ 1986 หรือเพียง 1 ปีหลังขึ้นรับตำแหน่ง

แนวคิดกลัสนอสต์และเปเรสตรอยกาได้ปฏิวัติ 2 ด้านของสหภาพโซเวียตด้วยกันคือ ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ เพราะมันเปิดให้ประชาชนที่ไม่เคยมีสิทธิมีเสียงอะไรออกมาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างอิสระ 

รวมไปถึงเปลี่ยนโครงสร้างการปกครองทางเศรษฐกิจ ให้อำนาจเกษตรกรตัดสินใจเองว่าจะปลูกอะไร ปลูกเท่าไหร่ จากที่ไม่ก่อนไม่เคยทำได้ และทำให้การปกครองส่วนท้องถื่นมีส่วนตัดสินใจในการวางแผนเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาปากท้อง และวิกฤติอาหารที่เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมโซเวียตมาตั้งแต่ก่อนกอร์บาชอฟมีอำนาจ

แต่ถึงแม้นโยบายนี้จะทำให้คนโซเวียตรากหญ้ามีสิทธิเสรีภาพในการกำหนดชีวิตตัวเองมากขึ้น และทำให้ประชาชนบางส่วนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงพอใจ นโยบายนี้กลับส่งผลเสียร้ายแรง สั่นคลอนอำนาจในการปกครองของพรรคและตัวกอร์บาชอฟเองอย่างมหาศาล

เพราะเมื่อรัฐบาลอนุญาตให้คนขุดคุ้ยวิพากษ์วิจารณ์ประวัติศาสตร์โซเวียตได้อย่างอิสระ เรื่องเลวร้ายที่พรรคคอมมิวนิสต์เคยทำกับประชาชนก็โผล่มาหมด ทั้งเรื่องที่รัฐบาลเคยตั้งค่ายบังคับใช้แรงงานหรือ ‘gulag’ ในสมัยเลนินและสตาลินจนมีคนตายไปประมาณ 1.6 ล้านคน หรือที่เคยสังหารหมู่ชาวโปแลนด์ 22,000 คนในป่ากาตึญสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

นานวันเข้าประชาชนในประเทศพวกนี้ก็เกิด ‘ตาสว่าง’ และเกิดความ ‘ชาตินิยม’ ขึ้นจนพากันลุกฮือ ออกมาเรียกร้องอิสรภาพจากสหภาพโซเวียตให้ชาติตัวเองในช่วงปี 1980s 

ตัวกอร์บาชอฟเองก็ไม่สนใจปราบปราม ปล่อยให้ประชาชนในประเทศเหล่านี้แสดงความคิดเห็น เรียกร้องอิสรภาพกันได้เต็มที่จนปี 1989 ประเทศใน Warsaw Pact เช่น เชกโกสโลวาเกีย ฮังการี โปแลนด์ และ ‘เยอรมันตะวันออก’ ก็ค่อยๆ กลายไปเป็นประเทศประชาธิปไตย นำไปสู่การพัง ‘กำแพงเบอร์ลิน’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสงครามเย็นลงในปีเดียวกัน

และแน่นอนว่าเมื่อเห็นอำนาจและความยิ่งใหญ่ของประเทศตัวเองเสื่อมถอยลงเช่นนี้ ผู้มีอำนาจและประชาชนบางส่วนในรัสเซียย่อมไม่พอใจที่นโยบายของกอร์บาชอฟทำให้อำนาจของตนสั่นคลอน และสหภาพโซเวียตแตกแยก

มิหนำซ้ำนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจตามแนวคิดเปเรสตรอยคาที่กอร์บาชอฟหวังจะช่วยชุบชูสหภาพโซเวียตก็ไม่ได้ผลอย่างที่หวัง เมื่อการลดเงินอุดหนุนผลิตภัณฑ์การเกษตรและสนับสนุนให้เกษตรกรหาผลกำไรทำให้ราคาของแพงขึ้นจนคนไม่มีเงินซื้อ ปั้มเงินเข้าระบบเพื่อแก้ปัญหาจนเงินเฟ้อ โหมความไม่พอใจของคนในประเทศเข้าไปอีก

 

ผู้นำนักปฏิรูปที่นำ ‘สันติสุข’ มาสู่โลก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นโยบายของกอร์บาชอฟจะทำให้อำนาจที่พรรคคอมมิวนิสต์และรัสเซียสั่นคลอนอย่างหนักจนล่มสลายในปี 1991 นโยบายการต่างประเทศของกอร์บาชอฟที่เน้นเพิ่มความโปร่งใส สร้างความร่วมมือ และมุ่งลดอาวุธและความขัดแย้ง กลับทำให้เขาเป็นที่ยกย่องของทั้งนักการเมืองและคนนอกประเทศในฐานะผู้นำโลกออกมาจากยุค ‘สงครามเย็น’ ที่กินเวลายาวนานเกือบ 45 ปี

ตั้งแต่ก้าวขึ้นมามีอำนาจในปี 1985 กอร์บาซอฟทำสิ่งที่ไม่มีผู้นำโซเวียตคนไหนทำมาก่อนคือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำตะวันตกจากทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และดำเนินวิถีการทูตแบบประนีประนอมที่เน้นสร้างความร่วมมือมากกว่าความขัดขัดแย้ง

ในปี 1987 กอร์บาชอฟกับโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) เซ็นสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง หรือ Intermediate-Range Nuclear Forces (INF) Treaty เพื่อตกลงลดอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองร่วมกัน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของสงครามเย็น และเป็นสนธิสัญญาที่มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐ-รัสเซีย มาอย่างยาวนานก่อนถูกคว่ำลงในปี 2019 โดยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

ในปี 1989 กอร์บาชอฟถอนกำลังโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน จบสงครามอัฟกันยาวนานเกือบ 10 ปี ที่สังเวยชีวิตทหารโซเวียตไปกว่า 15,000 คน

ในปี 1990 กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในฐานะเป็นผู้นำคนสำคัญที่ทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในหลายพื้นที่ของโลก และลดความตึงเครียดของสงครามลง

แต่ถึงแม้เขาจะประสบความสำเร็จมากในฐานะผู้นำโลก ความไม่พอใจที่คนภายในรัสเซียมีต่อเขาก็ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนระเบิดขึ้นเมื่อเขาถูกกองทัพบุกเข้าทำรัฐประหารในปี 1991

และเมื่อเห็นว่าไม่มีทางทำให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งได้ต่อโดยไม่มีการนองเลือดแล้ว เขาก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้นำสหภาพโซเวียตในเดือนธันวาคมปีนั้น ปิดฉากสงครามเย็นอย่างเป็นทางการ และ ‘ลบ’ สหภาพโซเวียตออกจากแผนที่โลกไปด้วย

 

‘ฮีโร่’ และ ‘คนทรยศ’ สองด้านของเหรียญเดียวชื่อกอร์บาชอฟ 

หลังจากก้าวลงจากตำแหน่ง กอร์บาชอฟก็ไม่ได้กลับเข้าไปมีตำแหน่งสำคัญอะไรในรัฐบาลรัสเซียอีก แต่ถึงแม้ความนิยมในประเทศของเขาจะไม่มีวันกลับมา และจวบจนเสียชีวิตก็ไม่ได้มีอิทธิพลอะไรกับการเมืองโลกอีกแล้ว

ดูสิ่งที่เขาทำมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายหลายๆ อย่างของเขามีส่วนสำคัญมากในการกำหนดสภาพการเมืองและเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน เพราะถ้ากอร์บาชอฟมีนโยบายแข็งกร้าวต่อชาติตะวันตกและมุ่งทำสงครามต่อไป ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสภาพความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกก็คงไม่เป็นอย่างปัจจุบันนี้ ถึงแม้จะบอกไม่ได้ว่ามันได้ทำให้สถานการณ์ดำเนินไปทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงก็ตาม

เพราะในขณะที่มุมหนึ่ง กอร์บาชอฟ ถูกยกย่องให้เป็นผู้นำนักปฏิรูปที่กล้าคิดนอกกรอบ นำนโยบายสร้างสันติภาพมาใช้จนพาโลกพ้นภาวะสงครามเย็นมาได้

อีกมุมหนึ่งเขาก็เป็น ‘คนทรยศ’ ที่ทำให้สหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่ล่มสลาย และนำรัสเซียเข้าสู่ความวุ่นวายทางการเมืองและวิกฤติเศรษฐกิจที่จะดำเนินต่อมาอีกเป็นเวลาหลายปีต่อจากนั้น

ทำให้เขาเป็นอดีตผู้นำคนหนึ่งที่นับได้ว่าได้ทิ้งมรดกที่เป็นทั้ง ‘คำอวยพร’ และ ‘คำสาป’ ให้คนคนรุ่นหลัง 

โดยที่มันจะเป็นอย่างแรกหรืออย่างหลัง ก็ขึ้นอยู่กับว่า ‘ใครเป็นคนมองมัน’





ที่มา: CNN, History, Biography, Russia Beyond, BBC ไทย

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT