ข่าวเศรษฐกิจ

เคาะเก็บค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้งสายไม่เกิน 59 บาท!

27 มิ.ย. 65
เคาะเก็บค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ทั้งสายไม่เกิน 59 บาท!

 

"ชัชชาติ" จ่อเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วง "ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต" และ "แบริ่ง-สมุทรปราการ" ตลอดสายต้องไม่เกิน 59 บาท คาดได้ข้อสรุปภายใน ก.ค. นี้

วันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า จะต้องสรุปความคืบหน้าร่วมกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ซึ่งประธานกรรมการบริหารบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน


แต่ตอนนี้สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การคิดราคาค่าโดยรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนที่ 2 ที่ให้บริการฟรีมานาน เนื่องจาก กทม.มีภาระหนี้ที่ต้องใช้จ่ายเป็นค่าจ้างเดินรถ และปัจจุบันรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายดังกล่าว มีผู้ใช้บริการประมาณ 27% ซึ่งการคิดราคาค่าโดยสารจะเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวไม่ได้แก้ในภาพรวม


“เบื้องต้นคงเป็นไปตามข้อเสนอของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่ให้เก็บค่าโดยสารไม่เกิน 59 บาท ในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 แบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และ ห้าแยกลาดพร้าว-คูคต ถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าโดยสาร เพราะเราต้องจ่ายค่าเดินรถเพื่อความยุติธรรม” นายชัชชาติ กล่าว


นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีหนี้ส่วนต่อขยายราว 100,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีหนี้โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล แบ่งเป็น

- หนี้วางระบบขณะที่หนี้ของรัฐบาลเป็นหนี้วางระบบรถ ประมาณ 19,000 ล้านบาท
- หนี้ค่าจ้างเดินรถ อีก 13,000 ล้านบาท


ทั้งนี้ กทม. ต้องพิจารณา 2 ส่วน ได้แก่ การคิดอัตราค่าโดยสารที่ไม่ได้ขึ้นมานานหลายปี และการต่อสัญญาสัมปทาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน ก.ค.นี้

11146396_866583270053956_3873


สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบัน มีระยะทางรวม 67.45 กิโลเมตร จำนวน 59 สถานี เชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัด กทม. ปทุมธานี และ สมุทรปราการ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. เส้นทางหลัก สายสุขุมวิท “หมอชิต-อ่อนนุช” และ สายสีลม “สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน” ระยะทาง 23.5 กิโลเมตร กทม.ให้สัมปทาน บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เป็นเวลา 30 ปี เปิดบริการวันที่ 5 ธ.ค. 2542 ครบสัญญาวันที่ 4 ธ.ค. 2572 ปัจจุบันเก็บค่าโดยสาร 16-44 บาท


2. ส่วนต่อขยายช่วงที่ 1 สะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และ อ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทางรวม 12.75 กิโลเมตร กทม.ก่อสร้างและติดตั้งระบบ โดยมอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที วิสาหกิจของ กทม. เป็นผู้เดินการและได้ว่าจ้าง BTSC เดินรถถึงปี 2585 เก็บค่าโดยสาร 15 บาท ตลอดสาย


3. ส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทางรวม 31.20 กิโลเมตร กทม.รับโอนกรรมสิทธิ์โครงการพร้อมภาระหนี้จาก รฟม. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 และว่าจ้างให้ BTSC ติดตั้งระบบและเดินรถถึงปี 2585


ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ได้ประชุมคณะผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ตามข้อแนะนำจากการประชุมร่วมกับ TDRI เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง TDRI เสนอให้ กทม.เริ่มจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยาย ส่วนเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต และส่วนใต้ ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ หลังจากเปิดนั่งฟรีมานานแล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินค่าจ้างเดินรถที่ต้องจ่ายให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) สำหรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายเก็บ 15 บาท เมื่อรวมกับเส้นทางหลักสัมปทานเก็บได้สูงสุดไม่เกิน 59 บาท


สำหรับอัตราค่าโดยสาร 59 บาท เป็นตัวเลขที่คณะผู้บริหาร กทม.เห็นว่ามีความเหมาะสม ประชาชนน่าจะรับได้ เพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อขยายไกลพอสมควร ช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 19 กม. จำนวน 16 สถานี ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. จำนวน 9 สถานี ส่วนเรื่องระยะเวลาที่จะเริ่มเก็บ อยากให้เร็วที่สุด เดิมตั้งเป้าจะเริ่มเก็บวันที่ 1 ก.ค.นี้ แต่สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) แจ้งว่าอาจจะไม่ทัน เพราะต้องหารือกับบริษัทบีทีเอส เนื่องจากต้องมีการปรับแก้ไขระบบซอฟต์แวร์การคำนวณค่าโดยสารส่วนต่อขยาย

advertisement

SPOTLIGHT