ข่าวเศรษฐกิจ

ควรมีต่อมั้ย? คนละครึ่งเฟส 5 ธุรกิจภัตตาคาร ขอรัฐทำต่อหลังยอดขายดีขึ้น

20 เม.ย. 65
ควรมีต่อมั้ย? คนละครึ่งเฟส 5  ธุรกิจภัตตาคาร  ขอรัฐทำต่อหลังยอดขายดีขึ้น

สมาคมภัตตาคารไทย ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลทำโครงการคนละครึ่งเฟส 5 เพราะทำให้ธุรกิจร้านอาหารมียอดขายและการจ้างงานที่ดีขึ้นมาก หลังหมดโครงการพบยอดขายลดลงทันที ขณะที่ท่าทีนายกรัฐมนตรี เมื่อวานนี้สั่งให้ศึกษาคนละครึ่งเฟส 5  เพราะเห็นประโยชน์โครงการนี้ แต่ติดที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก

 

 

ใจความสำคัญของหนังสือจากสมาคมภัตาคารไทย มีดังนี้

ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าครองชีพช่วยเหลือประชนมาอย่างต่อเนื่องนั้น หนึ่งในมาตรการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในแง่วัตถุประสงค์และเป้าหมายคือมาตรการ "คนละครึ่ง" ซึ่งดำเนินผ่านมาถึง 4 เฟส มีผู้เข้าร่วมโครงการรวม 26.38 ล้านราย และยอดใช้จ่ายรวม 55,749.6 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนใช้จ่ายผ่านโครงการ 28,352.2 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่าย 27,397.4 ล้านบาท

 

จากข้อมูลกระทรวงการคลังผลของโครงการคนละครึ่งมียอดใช้จ่ายสะสมแบ่งตามประเภทร้านค้า พบว่า ร้านอาหารและเครื่องดื่มมีการใช้จ่ายผ่านโครงการสูงสุด 23,300.3 ล้านบาท ซึ่งผลเชิงบวกในความสำเร็จของโครงการนี้ส่งผลโดยตรงและโดยอ้อมต่อภาคเศรษฐกิจ SME และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศอย่างมาก

กล่าวคือ ภาคธุรกิจร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการนี้มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาปกติที่ไม่โครงการนี้อย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในภาคธรุกิจ เกิดกำลังซื้อวัตถุดิบ สินค้าต่างๆเพิ่มขึ้น คงการจ้างงาน และเพิ่มการจ้างงาน ภาครัฐสามารถเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจภาพรวมประเทศ

 

และทันทีที่โครงการนี้สิ้นสุดลงหรือประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีการใช้จ่ายจนครบจำนวนเงินตามสิทธิ์ พบว่า ยอดขายของร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบให้แต่ละร้านต้องปรับตัวเพื่อประคองให้กิจการอยู่รอดได้ อาทิ ลดจำนวนพนักงาน ลดปริมาณการซื้อวัตถุดิบเพื่อสำรองไว้ อันมีผลมาจากรายได้ที่ลดลง

 

แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งยอมจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพร่วมตามมาได้ ดังนั้น ทางสมาคมภัตตาคารไทยในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการภัตตาคาร ร้านอาหาร ซึ่งได้รับฟังขอร้องเรียนและขอเสนอแนะจากผู้ประกอบการมาตลอด ถึงความต้องการจะให้รัฐบาลยังคงดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการให้มีมาตรการ คนละครึ่ง  จึงขอให้รัฐบาลได้ดำเนินโครงการ "คนละครึ่งเฟส 5" ต่อ เพื่อลดค่าครองชีพ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศเช่นเดียวกับโครงการคนละครึ่ง 4 เฟสที่ผ่านมา ในการนี้ สมาคมภัตตาคารไทยขอกราบขอบคุณ พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้กรุณาออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆด้วยความเข้าใจและเห็นใจผู้ประกอบการมาโดยตลอด

 

หนังสือจากสมาคมภัตตาคารไทย 

 

 

ขณะที่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระบุหลังการประชุมครม.เมื่อวานนี้(19 เม.ย.65) ว่า เป็นห่วงการใช้จ่ายเงินของประชาชน เพราะวันนี้รายได้ลดลง แต่ราคาสินค้าบริโภค และพลังงานสูงขึ้น ทำให้รายได้ที่ได้แต่ละเดือนไม่เพียงพอ  โดยได้สั่งการให้มีมาตรการต่างๆทยอยออกมาเรื่อยๆ แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เพิ่มเติมให้ได้ ส่วนจะมีการกู้เงินเพิ่มหรือไม่ ถ้าจำเป็นก็ต้องหารือกัน จะต้องบริหารให้ดีที่สุด  ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ได้ให้แนวทางไปแล้ว เนื่องจาก เป็นโครงการที่ส่งผลดีหลายด้าน ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนอีกหลายเท่า แต่ปัญหาอยู่ที่ใช้งบประมาณมาก ต้องมีการกลับไปดูเรื่องงบประมาณ

 

ส่วนนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาล ได้ออก 10 มาตรการช่วยเหลือประชาชนไปในช่วงก่อนหน้านั้น หากจำเป็นก็พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม ส่วนที่ประกาศว่าจะตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ลิตรละ 30 บาท จนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ จากนั้นวันที่ 1 พ.ค.2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะช่วยเหลือราคาน้ำมันในส่วนที่เกินกว่าลิตรละ 30 บาท ในอัตรา 50% นั้น “ตอนนี้ได้สั่งการให้กระทรวง พลังงาน ไปหารือกับคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ว่าจะมีแนวทางดูแลและลดผลกระทบให้ประชาชนมากขึ้นได้อย่างไร เพราะหากช่วยแค่ 50% ของราคาน้ำมันดีเซลที่จะปรับขึ้นในส่วนที่เกิน 30 บาทก็จะส่งผลกระทบพอสมควร จึงได้ดูไว้หลายแนวทางเพื่อลดผลกระทบกับประชาชนให้มากที่สุด ส่วนการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภายในเดือน เม.ย.นี้จะได้ข้อสรุปทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย เพราะได้ประสานกระทรวงคลังให้มาช่วยให้ความมั่นใจกับสถาบันการเงินแล้วว่าเงินกู้ในส่วนนี้รัฐบาลจะช่วยดูแล” โดย ณ วันที่ 17 เม.ย.2565 กองทุนน้ำมันติดลบอยู่ 50,614 ล้านบาท และ ณ วันที่ 19 เม.ย.ต้องชดเชยราคาน้ำมัน ดีเซล ลิตรละ 11.21 บาท

 

ผลการประชุม ครม.เมื่อวานนี้ มีการปรับถ้อยคำเรื่องการลดค่าไฟ โดยจากเดิมให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) 23 สตางค์ต่อหน่วย ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เปลี่ยนเป็นไม่กำหนดส่วนลด แต่เป็นการขอวงเงินไปช่วยดูแล 2,000-3,500 ล้านบาท โดยให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปกำหนดอีกทีว่าจะให้ส่วนลดเท่าใด พร้อมกำหนดการให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค.2565

 

นอกจากนี้ การช่วยเหลือผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ได้ปรับการให้ส่วนลดราคาน้ำมันให้ครอบคลุมทั้งกลุ่มเบนซิน จากเดิมที่ระบุเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์และปรับจากเดิมกำหนด 5 บาทต่อลิตรและไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นรูปแบบรัฐร่วมจ่าย 50% ไม่เกิน 50 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 250 บาทต่อคนต่อเดือน ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.2565 พร้อมทั้งให้ ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับเงินจากโครงการนี้ โดยภาครัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 79.992 ล้านบาท.

 

 

advertisement

SPOTLIGHT