ข่าวเศรษฐกิจ

ย้ำส่งออกไปจีนต้องเข้มงวด "โควิด" ด้านเกษตรกรโอดราคาทุเรียนตกโลละไม่ถึง 100 บาท

16 เม.ย. 65
ย้ำส่งออกไปจีนต้องเข้มงวด "โควิด" ด้านเกษตรกรโอดราคาทุเรียนตกโลละไม่ถึง 100 บาท

เกษตรฯ ย้ำให้ผู้ส่งออกผลไม้ไปจีนเข้มงวดมาตรการโควิด หลังจีนปิดด่าน 3 วัน เพราะเจอโควิดปนเปื้อนรถบรรทุกทุเรียนไทย ฉุดราคาทุเรียนตราดร่วงเหลือโลละ 100 บาท


นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าในคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่า ด่านโม่ฮาน ในมณฑลยูนนาน ของจีน ได้เปิดนำเข้าทุเรียนไทยจากด่านบ่อเต็นของลาว แล้วตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา หลังจากระงับการนำเข้าทุเรียนไทย 3 วัน ระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย.65 เพราะตรวจพบการปนเปื้อนโควิดในรถบรรทุกคอนเทนเนอร์จากไทย

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ส่งออกดำเนินมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิดและฆ่าเชื้อสินค้าตามข้อกำหนดของทางราชการอย่างเคร่งครัด และยังแนะนำให้ผู้ประกอบการเพิ่มการขนส่งทางเรือและทางอากาศ เนื่องจากท่าเรือของจีนที่เปิดให้บริการนำเข้าผลไม้ไทย ได้แก่

  • ท่าเรือชินโจว (กว่างซีจ้วง) มีเที่ยวเรือในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือชินโจว สัปดาห์ละ 4-7 เที่ยว ระยะเวลา 3-8 วัน ระยะเวลาในการตรวจปล่อยและผ่านโกดังห่วงโซ่ควบคุมความเย็นประมาณ 3-4 วัน
  • ท่าเรือเสอโข่ว (เซินเจิ้น) มีเที่ยวเรือในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือเสอโข่ว เฉลี่ยวันละ 1-4 เที่ยว ระยะเวลา 6-11 วัน
  • ท่าเรือหนานซา (กว่างโจว) มีเที่ยวเรือในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือหนานซา เฉลี่ยวันละ 1-3 เที่ยว ระยะเวลา 5-9 วัน
  • ขณะที่ท่าเรือเซินเจิ้นวาน และท่าเรือเซี่ยงไฮ้ แม้เปิดบริการ แต่มีมาตรการตรวจโควิดเข้มข้นอาจเกิดความล่าช้ามากกว่าปกติ

    ท่าเรือซินโจว


ส่วนการขนส่งทางอากาศนั้น สนามบินเซินเจิ้น เป่าอัน มีเที่ยวบินคาร์โกของบริษัท S.F. รองรับน้ำหนักบรรทุกประมาณ 25 ตันต่อเที่ยว จากสนามบินสุวรรณภูมิไปสนามบินเซินเจิ้น สัปดาห์ละ 6 เที่ยว (ยกวันวันเสาร์) ส่วนสนามบินเซียงไฮ้ ผู่ตงยังเปิดให้บริการ แต่เนื่องจากนครเซี่ยงไฮ้ขยายการล็อคดาวน์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ทำให้การตรวจปล่อยและขนส่งสินค้าล่าช้าติดขัด

"ขอให้ผู้ส่งออกติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพราะสถานการณ์ด่านนำเข้าของจีนอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่" นายอลงกรณ์ กล่าว


ทั้งนี้ ปัญหาที่จีนปิดด่านทุเรียนไทยเพราะพบการปนเปื้อนเชื้อโควิดนั้น ยังฉุดให้ราคาทุเรียนร่วงลงหนักในช่วงที่ผ่านมา

นายเรือง ศรีนาราง รองประธานสภาเกษตรกร จ.ตราด และเจ้าของสวนนายเรือง (เกษตรกรดีเด่นระดับชาติ) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาทุเรียนจากช่วงต้นเดือนเมษายน เดิมที่ออกสู่ตลาดแรกๆ และส่งขายไปยังประเทศจีน มีราคา 200 บาท/กก. โดยเฉพาะพันธุ์กระดุม ส่วนหมอนทองราคาเกิน 200 บาท/กก. ซึ่งทุเรียนล๊อตแรกของจังหวัดตราดที่ออกก่อนจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกที่ติดทะเล ทำให้ทุเรียนสุกเร็ว ซึ่งสามารถส่งขายไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะจีนจำนวนมาก ซึ่งล้งจะเป็นผู้ดำเนินการส่งไปและได้รับการยอมรับว่า มีรสชาดดี มีคุณภาพมากกว่าทุกปี เนื่องจากภาครัฐได้ร่วมกันป้องกันไม่ให้มีทุเรียนอ่อนที่ไม่มีคุณภาพส่งไป

ทุเรียนส่งออก


แต่ปัจจุบัน ราคาทุเรียนได้ตกลงมากจนเหลือไม่ถึง 100 บาท/กก. เพราะจีนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายเมืองมีการล็อกดาวน์ไม่ให้เข้าออก ทำให้ล้งไม่กล้าส่งทุเรียนไปเนื่องจากเกรงว่าจะมีการปิดด่านและทำให้ผลทุเรียนได้รับความเสียหาย จึงต้องหยุดการรับซื้อไปทั่วประเทศ และยังมีด่านตรวจคุณภาพอีก ทำให้ทั้งล้งและชาวสวนตกใจและมองไม่ออกว่า สถานการณ์จะไปทางไหน

นายเรือง กล่าวว่า เกษตรกรต้องทำใจและอดทนเพื่อให้ราคาทุเรียนสูงขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์ ที่ราคาน่าจะสูงขึ้น แม้จะได้ราคา 150-160 บาท/กก.ก็น่าพอใจแล้ว

ในส่วนของทางราชการ เช่น เกษตรจังหวัดตราด ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงไป แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ในจีนคาดเดาได้ยาก ส่วนตลาดภายในประเทศนั้น คนไทยก็มีความต้องการบริโภคทุเรียนคุณภาพและสามารถสู้ราคาได้ ส่วนที่จะมีเหตุการณ์ประท้วงหรือปิดถนนกดดันภาครัฐนั้น คงไม่มีสถานการณ์ระดับนั้น

advertisement

SPOTLIGHT