ข่าวเศรษฐกิจ

ก.พาณิชย์ ยืนยันปุ๋ยไม่ขาดแคลน ปรับขึ้นราคาได้ แต่ละสูตรขึ้นไม่เท่ากัน

29 มี.ค. 65
ก.พาณิชย์ ยืนยันปุ๋ยไม่ขาดแคลน  ปรับขึ้นราคาได้ แต่ละสูตรขึ้นไม่เท่ากัน
ไฮไลท์ Highlight
“ผู้ประกอบการยืนยันจะเร่งนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าแล้วบางส่วน และขณะนี้ได้มีวางแผนสั่งซื้อต่อเนื่อง แต่อาจจะสะดุดบ้าง เพราะแหล่งนำเข้าสำคัญหลายแห่งมีปัญหาจากผลกระทบของสงคราม และบางประเทศได้สำรองไว้ใช้ในประเทศ ทำให้ปริมาณในตลาดลดลง ซึ่งผู้ประกอบการแก้ปัญหาด้วยการหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ ทดแทน เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของโลก” นายวัฒนศักดิ์ กล่าว

กระทรวงพาณิชย์ ยืนยัน ปุ๋ยไม่ขาดแคลนแน่นอน เพาะมีการนำเข้ามาล่วงหน้าแล้ว แต่ผลจากสงครามรัสเซีย ยูเครน ทำให้ต้องวางแผนบริหารจัดการให้ดีขึ้น ส่วนราคาปุ๋ย เห็นว่า สามารถปรับราคาขึ้นได้ แต่ละสูตรขึ้นไม่เท่ากัน และต้องมาพิจารณาดูต้นทุนที่แท้จริง ว่าจะปรับขึ้นได้เท่าไหร่

 

นายวัฒนศักดิ์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับ 3 สมาคมผู้ผลิตผู้จำหน่ายและนำเข้าปุ๋ยเคมี ประกอบด้วย สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เพื่อหารือถึงสถานการณ์ปุ๋ยเคมีในขณะนี้ว่า เอกชนยืนยันว่าปุ๋ยมีเพียงพอสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกที่จะเริ่มในเดือน พ.ค.65 เพราะเตรียมการนำเข้ามาเป็นระยะๆ และสั่งซื้อล่วงหน้าแล้ว ทั้งปุ๋ยยูเรีย โพแทสเซียม และฟอสเฟต ทำให้มั่นใจว่าช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะไม่มีปัญหาปุ๋ยขาดแคลน และช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ก็ไม่น่ามีปัญหาเช่นกัน

 

“ผู้ประกอบการยืนยันจะเร่งนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าแล้วบางส่วน และขณะนี้ได้มีวางแผนสั่งซื้อต่อเนื่อง แต่อาจจะสะดุดบ้าง เพราะแหล่งนำเข้าสำคัญหลายแห่งมีปัญหาจากผลกระทบของสงคราม และบางประเทศได้สำรองไว้ใช้ในประเทศ ทำให้ปริมาณในตลาดลดลง ซึ่งผู้ประกอบการแก้ปัญหาด้วยการหาแหล่งนำเข้าอื่นๆ ทดแทน เช่น ซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญอีกแหล่งหนึ่งของโลก” นายวัฒนศักดิ์ กล่าว

 

สำหรับการปรับขึ้นราคาปุ๋ยเคมีตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้นนั้น กรมฯ ได้ขอให้ผู้ประกอบการส่งต้นทุนมาให้พิจารณาแล้ว ซึ่งจะพิจารณาตามต้นทุนที่แท้จริง และจะอนุญาตให้มีปรับขึ้นราคาตามต้นทุน ไม่ใช่ให้ขึ้นเท่ากันหมดทุกสูตรทุกราย เพราะผู้ประกอบการแต่ละราย ปุ๋ยแต่ละชนิด มีต้นทุนไม่เท่ากัน ที่สำคัญการปรับขึ้นราคาต้องไม่เป็นภาระกับเกษตรกรมากเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการยังประกอบธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทุกอย่างจะต้องสมเหตุสมผล เพราะหากไม่ให้ขึ้นราคา จะมีปัญหาขาดแคลน ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาอีก

 

ส่วนต้นทุนปุ๋ยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการแจ้งว่า ปุ๋ยสูตรหลักๆ ปรับสูงขึ้น เช่น ปุ๋ยยูเรีย ราคาส่งออก ณ ท่าเรือต้นทาง (เอฟโอบี) ตันละ 960-1,000 ดอลลาร์, ฟอสเฟต ตันละ 1,100-1,200 ดอลลาร์ และโพแทสเซียม ตันละ 950-1,000 ดอลลาร์ สูงขึ้นจากเดิม 100-200% แต่การอนุญาตให้ปรับขึ้นราคาจะไม่อนุญาตให้ขึ้นตามต้นทุนทั้งหมดเพราะยังมีสต๊อกเก่าที่ต้นทุนต่ำกว่าเหลืออยู่บางส่วน แต่จะพิจารณาให้ตามเหมาะสม และตามต้นทุนที่แท้จริง

 

“โจทย์ตอนนี้ต้องดูแลปริมาณให้เพียงพอกับความต้องการใช้ เพราะแต่ละปีมีความต้องการใช้ปุ๋ยในประเทศประมาณ 5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยยูเรีย ที่เหลือเป็นปุ๋ยชนิดอื่นๆ โดยเรื่องปริมาณเบาใจได้แล้ว แต่เรื่องราคา กรมฯ ต้องดูแลอย่างสมเหตุสมผล เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค” นายวัฒนศักดิ์ กล่าว

 

นอกจากนี้ กรมฯยังขอความร่วมมือให้สมาคมช่วยดูแลสมาชิก หากพบว่า ผู้ประกอบการรายใดกักตุน ฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา ขอให้ตัดสิทธิ์ไม่ให้เป็นผู้จัดจำหน่ายอีก และกรมจะดำเนินคดีตามกฎหมายถึงที่สุดทุกราย พร้อมขอความร่วมมือให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ติดตาม ตรวจสอบปริมาณและการจำหน่ายปุ๋ยอย่างใกล้ชิด

 

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดทุกเรื่อง ทุกวัน วันนี้ต้องมองในสมมติฐานว่า กรณีที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จะเกิดยาวนานหรือไม่ ในช่วง 3 เดือนจะเกิดปัญหาอะไรขึ้น และหากปัญหาเกิดต่อเนื่องอีก 3 เดือนจะทำอย่างไร หรือหากสถานการณ์รุนแรงมากกว่านี้จะทำอย่างไร

 

ทุกเรื่องต้องมีการหารือ 2 ฝ่ายเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ให้บริการจัดหาปุ๋ยเข้าประเทศ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารสัตว์ ส่วนหนึ่งสมาคมผู้ประกอบการพืชไร่ที่ไม่อยากให้นำเข้าจากต่างประเทศมาช่วย แต่เมื่อมีการขาดแคลนจะทำอย่างไร หากไม่นำเข้า ดังนั้นจึงต้องค่อยๆหารือกันว่าจะทำอย่างไรต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยข้อง

ผู้ค้าฯขอขึ้นราคาปุ๋ย ต้นทุนพุ่ง 200% เหตุสงครามรัสเซีย ยูเครนกระทบวัตถุดิบขาด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT