ข่าวเศรษฐกิจ

สงครามรัสเซีย ยูเครนจะจบอย่างไร? ผลกระทบจากวิกฤติน้ำมันแพงต่อเศรษฐกิจไทย

12 มี.ค. 65
สงครามรัสเซีย ยูเครนจะจบอย่างไร? ผลกระทบจากวิกฤติน้ำมันแพงต่อเศรษฐกิจไทย
ไฮไลท์ Highlight
มุมมองต่อทิศทางราคาน้ำมันโลก เมื่อผู้เขียนคาดการณ์สถานการณ์สงครามว่าจะจบในเดือน มี.ค.-เม.ย. ทำให้ราคาน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติน่าจะเริ่มปรับลดลงหลังชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตร ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลงจากประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสแรก เป็นประมาณ 80 ดอลลาร์ในไตรมาสที่สอง และ 75 ดอลลาร์ในครึ่งปีหลัง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเหตุผลหลักที่ราคาน้ำมันจะลดลง เนื่องจากเป็นไปได้ที่กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นหากการเจรจาด้านข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านประสบความสำเร็จ รวมถึงความพยายามของสหรัฐล่าสุดที่อาจยกเลิกการคว่ำบาตรน้ำมันจากเวเนซูเอลา ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นประมาณ 2-3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

สงครามรัสเซีย ยูเครนจะจบอย่างไร?

ผลกระทบจากวิกฤติน้ำมันแพงต่อเศรษฐกิจไทย

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บ. หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด

 

ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤตยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานพุ่งขึ้นมาก กระทบต่อเงินเฟ้อและนโยบายการเงินทั่้วโลก ในปัจจุบัน ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจจะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ได้หรือไม่ ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอมุมมองในบทความนี้ โดยจะขอฉายภาพใน 4 มุมมอง คือ (1) จุดจบของสงครามยูเครน (2) ทิศทางราคาน้ำมันโลก (3) มุมมองต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยนโยบายของไทย และ (4) ความเสี่ยงและโอกาสของเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์นี้

 

ในมุมมองแรก จุดจบของสงครามยูเครนนั้น ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ผู้เขียนขออนุญาตบรรยายถึงพัฒนาการของสงครามจนถึงปัจจุบัน (กลางเดือน มี.ค.) และแนวโน้มในอนาคต โดยสงครามแบบเต็มรูปแบบเริ่มขึ้นหลังรัสเซียบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นคน ผู้ที่ต้องพรากจากบ้านเรือนไม่ต่ำกว่า 2.3 ล้านคน และตึกรามบ้านช่องเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

กลยุทธ์ในการทำสงครามของกองทัพรัสเซียนั้น เป็นการบุกยึดจาก 3 ด้าน คือ ฝั่งเหนือจากประเทศเบลารุส ฝั่งตะวันออกจากแคว้น Donbas ที่มีเมืองสำคัญอย่าง Donetsk และ Luhansk ที่ขอแยกตัวเป็นอิสระ และรัสเซียรับรองก่อนหน้า รวมถึงจากฝั่งใต้จากแคว้น Crimea ที่รัสเซียได้ยึดครองไว้ก่อนหน้า และกองทัพได้รุกคืบเข้าตอนกลางประเทศขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะยังตีเมืองสำคัญอย่าง Kyiv ที่เป็นเมืองหลวง และ Kharkiv ที่เป็นเมืองอันดับสองไม่ได้ก็ตาม

 mapukraine

 

 

สาเหตุที่ยังบุกยึดไม่ได้นั้น เป็นเพราะกองทัพยูเครน มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีในการต่อต้านการยึดครอง ขณะที่กองทัพรัสเซียอาจไม่คุ้นชินกับภูมิศาสตร์รอบข้าง นอกจากนั้น การที่ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน สามารถปลุกขวัญและกำลังใจชาวยูเครนให้จับอาวุธต่อสู้ ทำให้ทหารรัสเซียเผชิญแรงต้าน แต่ก็ทำให้ทางรัสเซียเปลี่ยนยุทธวิธี โดยหันมาโจมตีประชาชนมากขึ้น ทำให้ผู้เสียชีวิตและความเสียหายของบ้านเรือนมากกว่าช่วงเริ่มต้นการบุกยึดมาก ซึ่งยุทธวิธีนี้ จะเป็นการบีบให้ยูเครนยอมจำนนมากขึ้น

 

ในฝั่งของชาติตะวันตก ได้มีการประกาศคว่ำบาตรด้านเศรษฐกิจผ่าน 4 ช่องทาง คือ

(1) ตัดช่องทาง SWIFT รวมถึงตัดโอกาสที่สถาบันการเงินรัสเซียจะเข้าถึงการทำธุรกรรมรูปดอลลาร์ทุกรูปแบบ ซึ่งจะทำให้การที่ต่างชาติเข้าทำธุรกรรมกับรัสเซียทำได้ยาก และเป็นการกดดันทางอ้อมกับธุรกิจชาติอื่น ๆ ที่ทำกับรัสเซียด้วย (เพราะธุรกิจเหล่านั้นก็จะขอสินเชื่อการค้า หรือ Trade finance ยากขึ้น เพราะทางการประเทศอื่น ๆ ก็จะกังวลในความเสี่ยง)

(2) คว่ำบาตรการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินชั้นนำของรัสเซีย รวมถึงธนาคารกลางรัสเซีย ทำให้ไม่สามารถใช้ทุนสำรองที่มีอยู่ได้

(3) คว่ำบาตรการค้าระหว่างประเทศกับรัสเซีย โดยล่าสุดทางสหรัฐได้มีการคว่ำบาตรการค้าในสินค้าหลักได้แก่เชื้อเพลิง (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ)  ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ และ

(4) คว่ำบาตรทางการเงินกับ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน และผู้บริหารระดับสูง รวมถึงชนชั้นสูงของรัสเซีย เพื่อให้ชนชั้นสูง มากดดันปูตินอีกทีหนึ่ง

 285308

ในบรรดามาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ นี้ การคว่ำบาตร SWIFT และคว่ำบาตรการค้าสำคัญสุด เพราะทำให้รัสเซียขาดแหล่งรายได้หลักโดยเฉพาะจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แต่ก็จะกระทบต่างประเทศเช่นกัน ผ่านปริมาณเชื้อเพลิงที่เข้าสู่ตลาดโลกที่ลดลง รวมถึงทำให้การนำเข้าสินค้าจำเป็นลำบากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้เศรษฐกิจรัสเซียจะได้รับผลกระทบภายใน 2-3 เดือน (รัสเซียนำเข้าเป็น 20% ของ GDP)

 

ระหว่างที่พัฒนาการสงครามและการคว่ำบาตรดำเนินไป ประธานาธิบดีปูตินจะเปิดการเจรจากับชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ โดย ณ ปัจจุบัน เริ่มมีสัญญาณของการเจรจาเบื้องต้น อันเป็นผลจากการที่กองทัพรัสเซียเข้าปฏิบัติการทางทหารเต็ม 100% ในยูเครนส่งผลให้มีความสูญเสียมากขึ้น โดยผู้เขียนมองว่า น่าจะมีการหยุดยิงภายในช่วงปลายเดือน มี.ค. ขณะที่เจรจาอาจดำเนินการต่อไปจนเดือน เม.ย. ซึ่งหากตกลงกันได้ระหว่างรัสเซียและยูเครน จะทำให้รัสเซียถอนกองกำลังออกจากยูเครน ขณะที่ซีกโลกตะวันตกจะถอนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากรัสเซีย

 

มุมมองที่สอง

มุมมองต่อทิศทางราคาน้ำมันโลก เมื่อผู้เขียนคาดการณ์สถานการณ์สงครามว่าจะจบในเดือน มี.ค.-เม.ย. ทำให้ราคาน้ำมันรวมถึงก๊าซธรรมชาติน่าจะเริ่มปรับลดลงหลังชาติตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตร ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยลดลงจากประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสแรก เป็นประมาณ 80 ดอลลาร์ในไตรมาสที่สอง และ 75 ดอลลาร์ในครึ่งปีหลัง ทำให้ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยเหตุผลหลักที่ราคาน้ำมันจะลดลง เนื่องจากเป็นไปได้ที่กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นหากการเจรจาด้านข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านประสบความสำเร็จ รวมถึงความพยายามของสหรัฐล่าสุดที่อาจยกเลิกการคว่ำบาตรน้ำมันจากเวเนซูเอลา ซึ่งจะทำให้มีน้ำมันเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้นประมาณ 2-3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

 

มุมมองที่สาม ผลต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดยจากการทำ Sensitivity analysis หรือความอ่อนไหวของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย ต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ผู้เขียนพบว่า หากราคาน้ำมันมีการปรับขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.5% p.p. ขณะที่เศรษฐกิจชะลอลงประมาณ 0.1% ฉะนั้น หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 70 ดอลลาร์เป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ประมาณ 3.4% จาก 3.6% ขณะที่เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นจาก 1.6% เป็น 3.1% (ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ) ซึ่งหากขึ้นถึงระดับนั้น เป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งปีหลังเพื่อคุมความคาดหวังเงินเฟ้อ เพราะผลกระทบที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอนั้น น้อยกว่าผลจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น

 

 213946

 

ในประเด็นเงินเฟ้อของไทยนั้น มีประเด็นย่อยที่น่าสนใจ 3 ประการคือ (1) ในส่วนของการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรนั้น ในปัจจุบัน กองทุนน้ำมันขาดทุนอยู่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท และกองทุนมีเพดานการกู้เงินที่ 4 หมื่นล้านบาท (แต่ก็มีความพยายามในการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานการกู้เงินดังกล่าว) โดยจากการคำนวณเบื้องต้น พบว่า หากประเทศไทยบริโภคน้ำมันดีเซล 65 ล้านลิตรต่อวัน และกองทุนต้องชดเชยราคาน้ำมัน 10 บาทต่อลิตร จะทำให้กองทุนต้องชดเชยเป็นมูลค่าประมาณ 650 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งในอัตราดังกล่าว หากเป็นการสนับสนุน 100 วัน (หรือประมาณ 3 เดือน) จะใช้วงเงินทั้งหมดประมาณ 6.5 หมื่นล้านบาท (หรือประมาณ 0.4% ของ GDP)

 

วงเงินดังกล่าวอาจกล่าวได้ว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนโครงการภาครัฐหนึ่ง ๆ (รถไฟฟ้าสายสีชมพูและสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี ใช้วงเงินจำนวน 5.3 หมื่นล้านบาทและ 1.3 แสนล้านบาทตามลำดับ) หรือแม้แต่การสนับสนุนเกษตรกร (โครงการ "ประกันรายได้เกษตร" ผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 ใช้วงเงินรวม 7.6 หมื่นล้านบาท) แต่เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจในระยะสั้น ก็เป็นไปได้ที่ทางรัฐบาลจะตัดสินใจกู้เงินมากขึ้นเพื่อชดเชยกองทุนน้ำมันดังกล่าว

 

opec 

มุมมองสุดท้าย ได้แก่ความเสี่ยงและโอกาสในวิกฤตนี้ ผู้เขียนมองว่า ในส่วนของความเสี่ยงของการคาดการณ์นั้น มีหลายประเด็น โดยอาจแบ่งแยกได้ดังนี้

 

ความเสี่ยงที่ 1ป็นไปได้ที่สงครามจะยืดเยื้อกว่าที่ผู้เขียนคาด โดยหากสหรัฐและชาติตะวันตกเข้าช่วยเหลือทางการทหารต่อยูเครน หรือแม้แต่ยูเครนอาจยังไม่ยอมรับในข้อเสนอจากทางรัสเซีย เหตุการณ์จะยืดเยื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใด เนื่องจากผู้เสียชีวิตชาวยูเครนจะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจรัสเซียและเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำมากขึ้น รวมถึงจะทำให้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก ทั้งในสหรัฐและชาติตะวันตกมีมากขึ้นจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่จะกระทบกับการผลิตเชื้อเพลิง (โดยเหตุการณ์ที่เสียหายทุกฝ่าย หรือ Lose-lose situation นี้ ทำให้ผู้เขียนมองว่ามีความน่าจะเป็นประมาณ 20%)

 

ความเสี่ยงที่ 2 ได้แก่ โอกาสที่ราคาน้ำมันอาจพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง จากที่ผู้เขียนมองที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เนื่องจาก (1) ปริมาณสต๊อกสำรองได้ลดลงมากจากความต้องการที่มีมากกว่าปริมาณการผลิต (โดยนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2020 ที่ผ่านมา ความต้องการน้ำมันโลกมากกว่าปริมาณการผลิตเฉลี่ยประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้สต๊อกสำรองลดลงมาก) และ (2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทำให้หลายฝ่ายอาจต้องเพิ่ม "War premium" หรือส่วนเพิ่มจากความเสี่ยงสงคราม แม้สงครามจะยุติลงก็ตาม ทั้งสองปัจจัยนี้อาจทำให้ราคาน้ำมันยังอยู่ระดับสูงและไม่ลดลงแม้สงครามยุติก็ตาม

 

ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ นวโน้มเศรษฐกิจไทยรวมถึงเงินเฟ้อที่อาจถูกกระทบจากวิกฤตยูเครนมากกว่าที่คาด โดยหากมีปัจจัยอื่นใดที่มากระทบต่อเศรษฐกิจซ้ำเติมจากที่ผู้เขียนคาด เช่น สหรัฐจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากเพื่อคุมเงินเฟ้อ เศรษฐกิจยุโรปถูกกระทบมากจากวิกฤตยูเครน หรือกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากจนเงินเฟ้อพุ่งขึ้น หรือแม้แต่การที่ราคาน้ำมันดิบโลกยังอยู่ในระดับสูงยาวนานจนภาครัฐไม่สามารถกู้เงินเพื่อมาอุดหนุนกองทุนน้ำมันแล้วก็ตาม ปัจจัยต่าง ๆ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอกว่าคาด เงินเฟ้อสูงกว่าคาด และ/หรือ ธปท. ต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าคาดเพื่อคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจะกระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

กล่าวโดยสรุป คือแม้ผู้เขียนจะมองว่า (1) สงครามสงบใน 1-2 เดือน (2) ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาเฉลี่ย 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ (3) เศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยถูกกระทบไม่มากนัก แต่ความเสี่ยงก็ยังคงมีในหลายจุด ดังนั้น ผู้อ่านจึงต้องระมัดระวังในการลงทุน รวมถึงการทำธุรกิจในระยะต่อไป เพราะอาจเผชิญสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอลง ยอดขายลดลง แต่ต้นทุนการผลิตและต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่าภาวะ Stagflation ได้

 

เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น ผู้อ่านทั้งหลาย โปรดระมัดระวัง

 

บทความอื่นๆของ ดร.ปิยศักดิ์ 

ดอกเบี้ยไทย ขาขึ้นหรือยัง? ถอดรหัสนโยบายการเงินไทยหลังเงินเฟ้อพุ่ง

เงินเฟ้อ วายร้ายตัวฉกาจของเศรษฐกิจ

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT