ข่าวเศรษฐกิจ

"หนี้ครัวเรือนสูง-รายได้ต่ำ" กดดันประเทศไทยปีนี้

4 ก.พ. 65
"หนี้ครัวเรือนสูง-รายได้ต่ำ" กดดันประเทศไทยปีนี้
ไฮไลท์ Highlight
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะยังไม่กลับไปสู่ภาวะปกติ ด้วยปัญหา "หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง" และ "รายได้ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด" เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคครัวเรือนให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

TDRI มองเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ดีช่วงครึ่งปีหลัง '65 แต่ไทยอาจยังเกาะอานิสงส์ไม่ได้มากพอ เหตุหนี้ครัวเรือนสูง-รายได้ต่ำ กดดันการบริโภคของคนไทย เชื่อจีดีพีโตได้ 3.5%


น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงาน "จับชีพจรเศรษฐกิจโลกปี 65 ฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19" ว่า เชื่อว่าช่วงครึ่งปีหลัง 2565 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศหลักๆ ที่เป็นคู่ค้าของปะเทศไทย เนื่องจากความเสี่ยงต่างๆ ลดลง หลังจากที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีการกระจายการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องและมากกว่า 70% ของประชากรไปแล้ว ซึ่งจะเห็นได้จากโควิด-19 สายพันธุ์โควิดโอมิครอนที่เริ่มอ่อนแรงลง ส่งผลให้หลายประเทศทั่วโลกเริ่มเปิดกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจได้


TDRI มองว่า สถานการณ์โควิดที่ดีขึ้นจะหนุนให้ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวลดลง แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้กลับไปสู่ภาวะปกติก็ตาม เนื่องจากยังมีปัจจัยเรื่องของสงครามทางการค้าที่มีอย่างต่อเนื่องระหว่างสหรัฐและจีน รวมไปถึงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งหากรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นสงคราม ก็จะมากระทบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ซึ่งรัฐบาลประเมินไว้ว่าจะเติบโตได้ในระดับ 4% นั้น มองว่าจะทยอยกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่าจีดีพีจะเติบโตได้ 3.5% และคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในปี 66

 

TDRI มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนจะเบาบางกว่าสายพันธุ์เดลตา ซึ่งประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการเรียนรู้ที่จะอยู่กับเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วย จึงมองว่าจะไม่มีการใช้มาตรการปิดเมือง (Lock Down) แล้ว ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยหลักที่จะเข้ามาสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี '65 นี้ มาจากการบริโภคภายในประเทศ ที่มีสัดส่วนมากถึง 50% ของจีดีพี เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ หลังจากมีการคลายมาตรการ Lock Down

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะยังไม่กลับไปสู่ภาวะปกติ ด้วยปัญหา "หนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง" และ "รายได้ที่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด" เป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภาคครัวเรือนให้ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยรายงานปี 2564 ก่อนหน้านี้ซึ่งบ่งชี้ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยมีความน่าเป็นห่วง เพราะภาวะหนี้เดิมที่สูงอยู่แล้ว ยิ่งถูกซ้ำเติมจากภาวะโควิด โดยเฉพาะกลุ่ม "ลูกจ้างเอกชนนอกภาคเกษตร" ที่มีรายได้ต่ำ มากกว่าครัวเรือนกลุ่มอื่น และส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูง โดย ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 อยู่ ที่ 89.3% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ที่สำคัญที่สุดก็คือ รายละเอียดใส้ในของหนี้ครัวเรือนไทย ซึ่งพบว่าเต็มไป "สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรถ"ในสัดส่วนที่มากกว่าสินเชื่อบ้าน ซึ่งแตกต่างกับในหลายประเทศทั่วโลกที่มีสัดส่วนของสินเชื่อบ้านมากกว่า 50% ของหนี้ครัวเรือน

 

TDRI ยังประเมินภาคการท่องเที่ยวของไทยว่า คาดว่าจะยังต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี กว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยประมาณการว่าปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา 5-6 ล้านคน จากปีก่อนที่ 4.3 แสนคน

 

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เริ่มกลับมาแล้ว เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มเห็นทิศทางการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องมีการลงทุนเพื่อเตรียมการก่อนกำลังซื้อที่เริ่มกลับมา และ ได้มีการย้ายการลงทุนจากประเทศจีน มายังประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ

 

ส่วนการส่งออกของประเทศไทยมีทิศทางการเติบโตได้ค่อนข้างดี โดยคาดว่าจะโต 5-10% ตามการฟื้นตัวของประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ จีน และสหภาพยุโรป ยังมีการขยายตัวอยู่ ในขณะเดียวกันคาดว่าค่าขนส่งจะสามารถอ่อนตัวลงมาเล็กน้อยจากปี '64 แต่อย่างไรก็ตามยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากผลกระทบด้านราคาพลังงาน แต่อย่างไรก็ตามจะมีปัจจัยหนุนจากทิศทางค่าเงินบาทคาดว่าจะอยู่ที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับปี 64

 

ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยของไทยนั้น มองว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนกับประเทศอื่นๆ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ได้ดีมากนัก เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับไม่สูงนัก สวนทางกับหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และหนี้ของ SMEs ยังอยู่ในระดับสูงเช่นกัน "จึงมองว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี หรือไตรมาส 4 ปี 2565 จำนวน 1 ครั้ง"

advertisement

SPOTLIGHT