ข่าวเศรษฐกิจ

สรรพากรชี้แจงเพิ่ม!วิธียื่นภาษีคริปโตทำอย่างไร

6 ม.ค. 65
สรรพากรชี้แจงเพิ่ม!วิธียื่นภาษีคริปโตทำอย่างไร
ไฮไลท์ Highlight
"ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยกับ Platform หรือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้บันทึกข้อมูลผู้เทรดและส่งข้อมูลนั้นให้กับกรมสรรพากร แต่เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจา ทำให้การยื่นภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลขณะนี้ จึงเป็นการประเมินตนเอง"

โฆษกกรมสรรพากรชี้แจงเพิ่ม กรณียื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ให้รวมเฉพาะธุรกรรมที่มีกำไรตลอดปี นำมายื่นภาษี ไม่ใช้วิธีการหักลบกับการขาดทุน พร้อมยอมรับต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพราะมีคนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เตรียมทำสรุปเป็น Q&A ลงในเว็บไซต์กรมสรรพากรเพื่อให้ผู้ลงทุนที่จะยื่นแบบภาษีมีความเข้าใจมากขึ้น

 

6 ธ.ค.65 สมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ถึงความชัดเจนในการยื่นภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า แม้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2561 จะมีผลให้ผู้ลงทุนและมีเงินได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลต้องยื่นภาษี แต่ทางกรมสรรพากรจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังในขณะนี้ เพราะในปี 2564 ที่ผ่านมาคนไทยหันไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลกันนมากขึ้น จึงอยากประชาสัมพันธ์ว่า จะต้องมีการยื่นภาษีด้วย ยังมีเวลาเหลืออีกประมาณ 3เดือน หากยื่นแบบเป็นกระดาษหมดเขตภายใน 31 มีนาคม2565  ส่วนยื่นผ่านออนไลน์ หมดเขต 8 เมษายน 2565

 

ทีมงาน Spotlight สรุปหลักปฏิบัติในการยื่นภาษีคริปโต โดยสรุปจากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อของโฆษกกรมสรรพากรดังนี้

1.มีกำไรจารการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากกำไร 15%

ผู้ที่จ่ายเงินได้ ให้กับผู้รับ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% และนำส่งภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป กรณีที่ทำผ่านระบบอินเทอร์เน็ต วันที่ 15 ของเดือนถัดไป  ผู้ขายก็มีหน้าที่ชี้แจงตัวเองว่ามีกำไรเท่าไรและต้องหัก 15% จากกำไร เพราะหากผู้ขายไม่แจ้ง อาจทำให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าทั้งหมดคือเป็นกำไร เลยต้องหัก 15% จากยอดรวมหากผู้ขายไม่แจ้ง แต่การหักภาษี ณ ที่จ่าย จะสามารถนำไปยื่นหักลบ ตอนยื่นภาษีปลายปีของผู้ขายได้ จึงไม่ถือเป็นภาระ

ส่วน กระดานเทรด หรือ Exchange ตามกฏหมายนี้  ไม่ได้ระบุว่า เป็นหน้าที่ในการต้องนำส่งข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้นจึงเป็นภาระที่ผู้ลงทุนต้องบันทึกเอง

 

2.กำไรจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว ต้องนำมายื่นภาษีเงินได้บุคลธรรมดาประจำปีด้วย

โฆษกกรมสรรพากรใช้คำว่า การบันทึกกำไรเป็นการประเมินตนเอง นักลงทุนจะมีคำถามถึงการคิดกำไรที่ซับซ้อน และยากต่อการปฏิบัติ โฆษกกรมสรรพากร ชี้แจงว่า

"ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยกับ Platform หรือ ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้บันทึกข้อมูลผู้เทรดและส่งข้อมูลนั้นให้กับกรมสรรพากร แต่เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการเจรจา ทำให้การยื่นภาษีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลขณะนี้ จึงเป็นการประเมินตนเอง"

 

  • หากมีการโอนกำไรเข้าบัญชีธนาคารให้เก็บหลักฐานจากบัญชีนั้นเช่น Capture หน้าจอไว้ หรือ Statementจากบัญชีที่แสดงธุรกรรม  

 

  • หากมีการขายแล้ว แม้เงินจะอยู่ใน Wallet ของกระดาน Exchange ให้นับว่ากำไรนั้น คือเงินได้ที่ต้องยื่นภาษี แม้จะยังไม่โอนเงินนั้นออกมาก็ตาม

 

  • หากมีการเทรดในหลาย Transaction  ให้รวมเฉพาะ ธุรกรรมที่มีกำไรทั้งปี มากรอกลงในประเภทเงินได้ 40(4)  ไม่ใช้วิธีการ เอากำไรไปหักลบจากธุรกรรมที่ขาดทุน

 

  • กรณีบาง Platform ที่ให้ผลตอบแทนจากการ Lock เหรียญเช่น 30 วัน 45 วัน แล้วมีผลตอบแทนให้ ให้นับว่าผลตอนแทน เข้าเกณฑ์เงินได้ประเภท 40(4) เช่นกัน

 

  • กรณีได้มาด้วยการ ขุดเหรียญ  เงินได้นั้นจะต้องยื่นภาษีด้วยเช่นกัน   โดยเข้าเกณฑ์เงินได้ประเภท 40(8)  โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายต่างๆมาหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง     

 

อย่างไรก็ตามกรมสรรพากร ยอมรับว่า พร้อมจะมีการปรับแก้กฎหมายหากในอนาคตเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปมากกว่านี้ และขณะนี้กำลังรวบรวมข้อสงสัยของประชาชน เพื่อทำเป็น  Q&A ลงในเว็บไซต์ของกรมสรรพากรภายในเดือนนี้ด้วยเพื่อทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในการยื่นแบบภาษีมากยิ่งขึ้น

 

ขณะที่ กูรูด้านภาษี เจ้าของเพจTaxBugoms ถนอม เกตุเอม ให้ความเห็นผ่านสื่อว่าแม้กฎหมายในการยื่นภาษีคริปโตจะยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน แต่การยื่นภาษีเงินได้ผู้ลงทุนต้องเป็นผู้ประเมินตนเอง  ไม่อยากให้นักลงทุนตื่นตระหนก มองว่า การยื่นภาษีดีกว่าไม่ยื่นภาษี เพราะ หากไม่ยื่นแบบ ตามอำนาจของสรรพากรสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง10 ปี  หากยื่นแบบ แต่ไม่ถูกต้อง อำนาจของสรรพากรในการตรวจสอบย้อนหลังจะลดลงเหลือ 5 ปี และในความเห็นส่วนตัวมองว่า ผู้ลงทุนสามารถยื่นแบบตามข้อมูลที่เรามีและคิดว่าถูกต้อง เพราะในกฎหมายยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ดังนั้น เชื่อว่าโอกาสจะที่จะถูกตรวจสอบย้อนหลังเป็นเรื่องยาก และถือว่าการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนี้เป็นเรื่องใหม่     

 

advertisement

SPOTLIGHT