ข่าวเศรษฐกิจ

ถึงยุคแบงก์ชาติทั่วโลกแห่ "ขึ้นดอกเบี้ย"

17 ธ.ค. 64
ถึงยุคแบงก์ชาติทั่วโลกแห่ "ขึ้นดอกเบี้ย"

"ธนาคารกลางอังกฤษ" (BoE) สร้างเซอรไพรส์เมื่อคืนที่ผ่านมา (16 ธ.ค. 2564) ด้วยการเป็นธนาคารกลางขนาดใหญ่แห่งแรกในโลกที่ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายปี 2019

 


แบงก์ชาติอังกฤษลงมติ 8 ต่อ 1 ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.1% เป็น 0.25% โดยมีเป้าหมายเพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อที่ล่าสุดพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี และคาดว่าเงินเฟ้ออังกฤษจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 6% ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งสูงกว่าระดับที่ตั้งเป้าไว้ราว 3 เท่า

 

 

สถานการณ์เงินเฟ้อข้าวของแพงดังกล่าว จึงเป็นสัญญาณเตือนที่ทำให้อังกฤษจำเป็นต้องใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยทันที แม้ว่ากำลังเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอไมครอนทั่วอังกฤษก็ตาม โดยแอนดรูว์ ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า แม้โอไมครอนได้ส่งผลต่อร้านค้าและร้านอาหารต่าง ๆ แล้ว แต่การยับยั้งราคาสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ให้สูงขึ้นเกินไปจนกลายเป็นปัญหาระยะยาว เป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

 


ด้าน"ธนาคารกลางนอร์เวย์" ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามมาเช่นกัน (17 ธ.ค. 2564) โดยขึ้น 0.25% สู่ระดับ 0.50%

 

 

แบงก์ชาตินอร์เวย์ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะเศรษฐกิจในประเทศสามารถฟื้นตัวขึ้นได้แล้ว และหากเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ตามการคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกในปี 2565 โดยอาจเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. แต่การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยก็ต้องดูควบคู่ไปกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย

 


ขณะที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) อย่าง "เม็กซิโก" ก็ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวดเดียว 0.5% หรือมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดกันว่าจะขึ้นแค่ 0.25% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอยู่ที่ 5.5%

 


การที่แบงก์ชาติเม็กซิโกขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาด เป็นเพราะแรงกดดันหลักจากอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งล่าสุดในเดือน พ.ย. พุ่งขึ้นไปแตะระดับ 7.37% หรือสูงสุดที่สุดในรอบ 10 ปี เช่นเดียวกับในอังกฤษ และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 6.24% ในเดือน ต.ค. ทำให้เม็กซิโกต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมภาวะข้าวของแพงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน

 


นอกจากการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว มีรายงานว่าธนาคารกลางขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง เช่น ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ก็กำลังพิจารณา "เปลี่ยน" ทิศทางนโยบายการเงินเช่นกัน จากเดิมที่ใช้มาตรการผ่อนคลาย หันมาเป็นมาตรการที่ตึงตัวขึ้น ด้วยการลดวงเงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจ (Tapering)

 


สำนักข่าว Nikkei รายงานว่า แบงก์ชาติญี่ปุ่นซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมล่าสุดในวันนี้ ประกาศลด "มาตรการอัดฉีดเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19" โดยจะยุติการอัดฉีดเงินซื้อพันธบัตรภายใต้โครงการดังกล่าวลง ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565
นอกจากนี้ บีโอเจจะยุติโครงการให้สินเชื่อปลอดดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้ธุรกิจที่ประสบปัญหา โดยจะยุติในส่วนเงินกู้ของธุรกิจขนาดใหญ่ ณ สิ้นเดือน มี.ค. และของธุรกิจขนาดเล็ก ณ สิ้นเดือน ก.ย. ปีหน้า

 


ขณะที่อีซีบี ซึ่งเสร็จสิ้นการประชุมไปเมื่อคืนที่ผ่านมานั้น ยังคงอัตราดอกเบี้ยต่ำเท่าเดิม แต่เลือกใช้วิธีลดการอัดฉีดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยการลดวงเงินซื้อพันธบัตรจากปัจจุบันที่เดือนละ 4 หมื่นล้านยูโร เหลือเดือนละ 3 หมื่นล้านยูโร ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2565 และจะลดลงอีกเหลือเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565

 

advertisement

SPOTLIGHT