ข่าวเศรษฐกิจ

คนรุ่นใหม่ไทยว่างงานสูงสุด ผลพวงจากโควิด19

24 พ.ย. 64
คนรุ่นใหม่ไทยว่างงานสูงสุด ผลพวงจากโควิด19

24.พ.ย..64 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทำการสำรวจการว่างงานในวัยหนุ่มสาว ที่มีอายุ 15-24 ปี  ในประเทศไทยว่า พบว่า การจ้างงานแรงงานเยาวชน ลดลงร้อยละ 7 ในไตรมาส 1 ของปี 2564  เทียบกับไตรมาสที่4 ของปี 2562 (ก่อนโควิด19) โดยอัตราการว่างงานของเยาวชนทั้งชายและหญิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จุด ซึ่งสูงที่ร้อยละ 6 และร้อยละ 8 ตามลำดับ

.

ในผลการสำรวจ ระบุว่า มาตราการการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการจ้างงานในสถานประกอบการขนาดเล็กที่มีการจ้างแรงงานน้อยกว่า 50 คน โดยการจ้างงานเยาวชนได้รับผลกระทบมากที่สุดในสถานประกอบการเหล่านี้ โดยแรงงานชายจ้างงานลดลงร้อยละ 18 ส่วนแรงงานหญิงจ้างงานลดลงร้อยละ 24

.

นายแกรม บัคเลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ประจำประเทศไทย กัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กล่าวว่า  ผลกระทบของโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างรุนแรงในกลุ่มเยาวชนและสถานประกอบการขนาดเล็ก มาตรการช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงลงไปในภาคธุรกิจหลักและรายกลุ่มของกำลังแรงงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัว เช่นเดียวกับความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทุกคนได้รับวัคซีน ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย

 .

ผลการสำรวจยังพบด้วยว่า ชั่วโมงการทำงานของแรงงานกลุ่มนี้ลดลง โดยระหว่างไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 และไตรมาสที่ 1ของปี 2564 จำนวนชั่วโมงการทำงานทั้งหมดลดลงร้อยละ 7 หรือเทียบเท่าการลดลงของการจ้างงานเต็มเวลา จำนวน 2 ล้านชั่วโมง ส่วนการฟื้นตัวการจ้างงานมีทิศทางล่าช้าเพราะการระบาดระลอกใหม่ในช่วงต้นปี 2564

ซึ่งข้อกังวลประการหนึ่งคือ  การแพร่ระบาดของโรคโควิด19 จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตลอดช่วงไตรมาสที่2และไตรมาส3 ของปี 2564 และกำลังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่ 4 ความเข้มงวดของมาตรการควบคุมโรคโควิด 19 ที่มีการบังคับใชในไตรมาสที่3องปี 2564 เทียบเท่ากับความเข้มงวดของมาตรการในไตรมาสที่2ของปี 2563 ดังนั้นอาจคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอาจมีขนาดใกล้เคียงกับที่เคยเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563

.

ซึ่งหากเปรียบเทียบผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด 19 กับ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2541 พบว่า ผลกระทบทางสังคมเศรษฐกิจในปี 2564 อาจจะใหญ่กว่ามาก เพราะวิกฤตโควิด-19 มีความยืดเยื้อยาวนาน แม้ว่าจะมีการฟื้นตัวอยู่บ้างในปี 2564 แต่ระดับของ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ระดับเดียวกันกับปี 2562  สำหรับภาคธุรกิจที่ได้ผลกระทบมากที่สุดในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 คือ ภาคธุรกิจที่พักอาศัยและบริการอาหาร ภาคขนส่งและคลังสินค้า และภาคธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งทั้ง 3 ภาคธุรกิจนี้มีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 30 ของ GDP

 .

ส่วนธุรกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัว ได้แก่ ภาคเกษตรกรรม และภาคการผลิต เป็นต้น ขณะที่ภาคธุรกิจที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงการระบาดใหญ่ ได้แก่ ภาคธุรกิจก่อสร้าง ด้านข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และภาคอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น มีความไม่สมดุลเกิดขึ้นระหว่างภาคการผลิตต่าง ๆ และหากไม่สอดคล้องกันเป็นระยะเวลานาน ๆ อาจส่งผลให้ตลาดแรงงานสถานการณ์เลวร้ายลงและกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

 

ที่มา องค์การแรรงานระหว่างประเทศ

https://www.ilo.org/asia/media-centre/news/WCMS_829230/lang--en/index.htm

 

advertisement

SPOTLIGHT