ปรากฏการณ์คนโสด เทรนด์การใช้ชีวิตคนเดียวที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จำนวนประชากรโสดทั่วโลกพุ่งสูง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด
ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตเป็นโสดมากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนคนโสดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ทั้งในซีกโลกตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรและองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี 2023 ระบุว่า ปัจจุบันมีคนโสดทั่วโลกมากถึง 2.12 พันล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลกทั้งหมด สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23% ในปี 1985 และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 35% ภายในปี 2050 โดยประเทศ เดนมาร์ก เป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดต่อประชากรมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 24.1% รองลงมาคือ ฝรั่งเศส (22.8%) และฟินแลนด์ (19.6%) ตามลำดับ
สาเหตุหลักมาจาก ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อความพร้อมในการสร้างครอบครัว ประกอบกับวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับ ความเป็นตัวตน (Individualization) มากขึ้น ในเอเชีย ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนโสดสูงที่สุด อยู่ที่ 15.5% ของประชากรทั้งหมด สอดคล้องกับข้อมูลในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนคนโสดที่อาศัยอยู่คนเดียว (Unpartnered adults) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 40% ในปี 2023 จาก 29% ในปี 1990
โดยครึ่งหนึ่งของคนโสดเหล่านี้ ไม่ได้สนใจที่จะหาคู่ครอง เช่นเดียวกับในยุโรป ผลสำรวจจาก IfD Allensbach ประเทศเยอรมนี พบว่า จำนวนคนโสดที่ใช้ชีวิตแบบ Single เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จาก 4.74 ล้านคนในปี 2019 เป็น 5.18 ล้านคนในปี 2023 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) ประมาณ 2.2% ต่อปี สอดคล้องกับจำนวนครัวเรือนที่อาศัยอยู่คนเดียว ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา กระแสคนโสด สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ส่งผลต่อวิถีชีวิต รูปแบบครอบครัว และความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมยุคใหม่
ทั้งนี้ ข้อมูลและสถิติเหล่านี้ เป็นเพียงภาพรวมของ "ปรากฏการณ์คนโสด" ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจของแต่ละบุคคล การวิเคราะห์เชิงลึก ถึงปัจจัยเฉพาะในแต่ละประเทศ ภูมิภาค วัฒนธรรม และกลุ่มประชากร จะช่วยให้เข้าใจ "ปรากฏการณ์คนโสด" ได้อย่างถ่องแท้และครอบคลุมยิ่งขึ้น
ในขณะที่สังคมเอเชียหลายแห่งยังคงให้ความสำคัญกับการแต่งงานและครอบครัว แต่สำหรับคนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น มุมมองเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พวกเขามีแนวโน้มที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น และมีความต้องการแต่งงานน้อยลง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากสถิติการจดทะเบียนสมรสที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้อมูลล่าสุดในปี 2022 ชี้ให้เห็นว่า อัตราการจดทะเบียนสมรสของญี่ปุ่นอยู่ที่เพียง 4.1 คู่ต่อประชากร 1,000 คน เมื่อเทียบกับ 10 คู่ต่อประชากร 1,000 คน ในปี 1970 ผลการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงกลางปี 2022 ยิ่งตอกย้ำแนวโน้มนี้ พบว่ากว่า 1 ใน 4 ของประชากรวัย 30-40 ปี ไม่มีแผนจะแต่งงาน
จากการศึกษาพบว่า เหตุผลหลักประการหนึ่งมาจากทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ ผู้หญิงหลายคนไม่อยากแต่งงานเพราะกลัวภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่ตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทแม่บ้าน ภรรยา และผู้ดูแลสมาชิกครอบครัว ซึ่งเป็นค่านิยมแบบดั้งเดิมที่ผู้หญิงญี่ปุ่นเผชิญมานานสำหรับผู้ชาย เหตุผลหลักคือความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงินและความสามารถในการเลี้ยงดูครอบครัว ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
ด้านประเทศ จีนเผชิญวิกฤตครั้งสำคัญ เมื่อจำนวนประชากรโสดพุ่งสูงแตะ 260 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มสูงถึง 400 ล้านคนในอีกไม่ช้า สาเหตุหลักมาจากอัตราการจดทะเบียนสมรสที่ลดลงและอัตราการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้น จากผลสำรวจพบว่า คนหนุ่มสาวจีนวัย 30 ปีขึ้นไปที่ยังโสดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเขตเมืองใหญ่และชนบท ปรากฏการณ์นี้สร้างความกังวลให้รัฐบาลจีนอย่างมาก เพราะส่งผลต่ออัตราการเกิดที่ต่ำลง
ในปี 2022 จีนมีประชากรลดลงกว่า 850,000 คน เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ทศวรรษ และอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.09% ซึ่งต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก วิกฤตนี้ทวีความรุนแรง เมื่อจีนเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุที่เพิ่มจำนวนมาก ส่งผลต่อโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจในระยะยาว
สังคมไทยกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง นั่นคือ "สังคมคนโสด" ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเทรนด์ทั่วโลกที่ผู้คนเลือกที่จะใช้ชีวิตตัวคนเดียวมากขึ้น สำหรับสาเหตุที่ทำให้คนไทยยุคใหม่เลือกที่จะครองตัวเป็นโสดมากขึ้น?
ข้อมูลเหล่านี้ส่งผลให้คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีแนวโน้มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของสํานักงานสถิติแห่งชาติ ที่เปิดเผยว่า อัตราการจดทะเบียนสมรสลดลงจาก 13.1 คู่ต่อพันประชากร ในปี 2556 เหลือเพียง 11.3 คู่ต่อพันประชากร ในปี 2565 ด้านอัตราการจดทะเบียนหย่าร้างเพิ่มสูงขึ้นจาก 4.7 คู่ต่อพันประชากร ในปี 2556 เป็น 5.4 คู่ต่อพันประชากร ในปี 2565 และสัดส่วนครัวเรือนที่อยู่อาศัยคนเดียวก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปรากฏการณ์คนโสดที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยและทั่วโลก ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มีสาเหตุที่คล้ายคลึงกันจากหลายปัจจัย ดังนี้
อนาคตคนโสดจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่กําลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกแล้ว เทรนด์คนโสดจะกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพสูง เพราะคนโสดยังมีแนวโน้ม ปรนเปรอตัวเอง (Self indulgence) และกล้าใช้จ่ายเงินเพื่อเปย์ให้ตัวเองมากกว่าคนที่มีครอบครัวแล้ว อีกด้วย สำหรับปัจจัยสนับสนุน มีดังต่อไปนี้
ผู้ประกอบการ ที่ต้องการคว้าโอกาสนี้ จำเป็นต้อง ปรับเปลี่ยนแนวคิดและโมเดลธุรกิจ เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจผู้บริโภคกลุ่มนี้ สำหรับ กลุ่มธุรกิจที่จับเทรนด์ คนโสด มีดังนี้
ในอนาคตภาคธุรกิจ จำเป็นต้อง ปรับตัวและโมเดล ในการทำธุรกิจเพื่อรองรับตลาดคนโสด และเข้าใจความต้องการ ที่มีความเฉพาะเจาะจงและแตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นในตลาด มีการวิเคราะห์ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตของคนโสด จากนั้นปรับกลยุทธ์ทางการตลาด ให้มีความเฉพาะเจาะจงและเหมาะสม
สุดท้ายนี้สังคมไทยและสังคมโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งสำคัญ โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลง อัตราการเกิดลดลง ภาครัฐและภาคเอกชนต้องหาแนวทางรองรับ เพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีความพร้อมและอยากมีครอบครัวมากขึ้น อนาคตของสังคมขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับตัวอย่างไรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ที่มา SCB EIC