ถึงแม้ในโลกอุดมคติสถาบันการศึกษาทุกแห่งควรถูกพัฒนาให้มีคุณภาพการเรียนการสอนใกล้เคียงกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในปัจจุบัน ก็ยังต้องยอมรับว่าการได้เข้าเรียนใน ‘มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ’ เป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถการันตีได้ว่า บุคคลนั้นจะได้เข้าทำงานในบริษัทหรือองค์กรที่ดีในอนาคต จึงปรากฎข่าวเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 6 แย่งกันสอบเข้า จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ เป็นประจำทุกปี
แนวคิดนี้ทำให้คนส่วนมากในสังคมเชื่อว่าหาก ‘พยายาม’ มากพอจนเข้ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้ ตัวเองก็จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวได้ แต่แท้จริงแล้ว คำถามที่สำคัญคือ “แค่ความพยายามนั้นเพียงพอจะให้คนคนหนึ่งสามารถเข้ามหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้จริงหรือ?”
สำหรับคำถามนี้ ใน ‘ไทย’ เองก็เพิ่งมีการถกเถียงในเรื่องนี้ไป หลังเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล อดีตนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเพื่อศึกษาวิจัยฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำภายในนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของนิสิตจุฬาฯ ส่วนมากสูงถึง 118,160 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าอยู่ในท็อป 14% ของประเทศ และยังมาจากโรงเรียนในกรุงเทพมหานครหรือจังหวัดใหญ่ในภูมิภาคต่างๆ ที่มีความเจริญไม่ทิ้งกัน
โดยถึงแม้การศึกษานี้จะไม่ได้เก็บข้อมูลครอบคลุมถึงนิสิตทุกคนในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลการศึกษานี้ชี้ข้อเท็จจริงบางอย่างในวงการการศึกษาไทย ที่ว่ามหาวิทยาลัยอาจไม่ใช่ตัวช่วยที่ช่วยให้เด็กยากจนถีบตัวพ้นจากสภาพแร้นแค้น แต่เป็นเครื่องมือสร้างความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เด็กที่มาจากครอบครัวมีฐานะอยู่แล้วคงสถานะตัวเองไว้ได้ และกดให้เด็กที่มีโอกาสน้อยกว่าอยู่ที่เดิมต่อไป
และที่สำคัญ คือ สิ่งนี้ไม่ได้เกิดที่ไทยเพียงที่เดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะใน ‘สหรัฐฯ’ ที่เด็กในมหาวิทยาลัยชั้นนำ หรือ ‘ไอวี่ลีก’ และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในระดับเดียวกัน เกินครึ่งมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด 20% ของประเทศ
เช่นเดียวกับที่ไทยมีจุฬาฯ หรือญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยโตเกียว ในสหรัฐฯ ก็มีกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง และเป็นที่หมายตาของเด็กไฮสคูลทั้งประเทศเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ มหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวี่ลีก (Ivy League) ซึ่งประกอบไปด้วยมหาวิทยาลัย 8 แห่ง อาทิ เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้เปรียบเสมือนเครื่องการันตีอนาคตของบัณฑิตว่าจะพวกเขาจะประสบความสำเร็จทั้งด้านการงานและการเงินแน่นอนในอนาคต
โดยจากการศึกษาของ Opportunity Insights กลุ่มนักวิจัยและนักวิเคราะห์นโยบายด้านความเท่าเทียมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า การได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย 8 แห่งนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสของนักเรียนในการขึ้นไปเป็นผู้มีรายได้สูงสุด 1% ของประเทศถึง 60% เพิ่มโอกาสในการเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาโทถึงเกือบสองเท่า และเพิ่มโอกาสในการได้เข้าทำงานในบริษัทใหญ่ระดับโลกถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเหล่านี้ยังมีอัตราการรับเข้าที่ต่ำ คือเพียง 3.14-7% ทำให้เด็กทั่วประเทศรวมไปถึงเด็กต่างชาติต้องแข่งขันกันสูงมากเพื่อให้ได้เข้าเรียน จนเรียกได้ว่ามี 'exclusivity' สูง และถ้าหากใครได้รับคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย 8 แห่งนี้ ก็เท่ากับประสบความสำเร็จนำหน้าคนส่วนมากในประเทศไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ไอวี่ลีกจะเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสมากมายให้กับบัณฑิต มหาวิทยาลัยเหล่านี้กลับมีสัดส่วนนักเรียนที่มาจากครอบครัวรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชนอื่นๆ
โดยการศึกษาของ Opportunity Insights พบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของสหรัฐฯ มีโอกาสมากกว่าถึง 2 เท่าที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกทั้ง 8 แห่ง เมื่อเทียบกับโอกาสของเด็กที่มาจากครอบครัวรายได้ปานกลางหรือรายได้ต่ำที่ได้คะแนน SAT และ ACT เท่ากัน ขณะที่การศึกษาของ The HEA Group ระบุว่า เด็กที่มาจากครอบครัวจนที่สุด 20% มีโอกาสน้อยกว่าเด็กรวยถึง 77 เท่าในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไอวี่ลีก
นอกจากนี้ การศึกษาของ The New York Times ยังพบอีกว่า เด็กเกิน 50% ในมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในระดับเดียวกันอีก 4 แห่ง เช่น MIT และ สแตนฟอร์ด มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด 20% ในสหรัฐฯ และมีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อยครอบครัวละ 134,500 ดอลลาร์ต่อปี (4,902,592.25 บาท) หรือ 11,208 ดอลลาร์ต่อเดือน (ราว 408,549 บาท)
โดยแต่ละมหาวิทยาลัยมีสัดส่วนเด็กที่มาจากครอบครัว Top 20% และจนสุด 5% เรียงตามรายได้เฉลี่ยของผู้ปกครอง ดังนี้
จากข้อมูลนี้ จะเห็นได้ว่า เด็กส่วนมากที่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ ได้ ล้วนเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวที่ร่ำรวยและมีฐานะดีอยู่แล้วในสหรัฐฯ และเด็กจากครอบครัวยากจนคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในมหาวิทยาลัยเหล่านี้
ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่า เด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยมีโอกาสมากกว่าที่จะได้รับการศึกษาจากโรงเรียนก่อนระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพการเรียนการสอนที่ดี มีเงินทุนมากกว่าในการหาความรู้และประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมถึง มีสมาชิกในครอบครัวเป็นศิษย์เก่าของสถาบันนั้นๆ ทำให้ได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษจากคณะกรรมการของมหาวิทยาลัย
นี่ถือเป็นความจริงที่สะท้อนว่า มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ไม่ใช่เครื่องมือที่เปิดให้เด็กที่มาจากครอบครัวยากจน หรือชนชั้นล่างไต่เต้าบันไดทางสังคมขึ้นมาอย่างที่มันควรจะเป็นตามแนวคิด American Dream ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าใครก็สามารถประสบความสำเร็จได้หากมีความสามารถหรือพยายามมากพอ แต่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กในครอบครัวร่ำรวยสามารถคงสถานะทางสังคมของตัวเอง ในขณะที่เด็กจากครอบครัวยากจนพยายามเท่าไหร่ก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ หรือต้องมีความสามารถโดดเด่นมากจริงๆ จึงจะได้โอกาสนั้น
ดังนั้น เพื่อให้สถานที่ศึกษากลายเป็นที่ๆ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรได้จริง การเปลี่ยนแปลงในสังคมและระบบการศึกษาในทุกระดับจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กยากจนไม่สามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ เป็นทั้งเพราะการศึกษาในแต่ละพื้นที่ไม่มีความเท่าเทียม คุณภาพไม่เท่ากัน เด็กอาจต้องทำงานเพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่จนกระทบการเรียน หรือเด็กไม่มีเงินทุนเข้าถึงการเรียนพิเศษซึ่งกลายเป็นสิ่งจำเป็นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในสมัยนี้ไปแล้ว
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา คือ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ที่ฐานราก คือ ความยากจน โดยการมุ่งกระจายความเจริญไปในทุกพื้นที่ ไม่เพียงแต่เมืองหลวง และพัฒนาการศึกษาในต่างจังหวัดให้มีคุณภาพทัดเทียมกับการศึกษาในกรุงเทพฯ ซึ่งต้องอาศัยการให้เงินทุน งบประมาณ และพัฒนาบุคลากรครูให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของเด็ก
นอกจากนี้ ภาครัฐและสังคมอาจต้องพยายามลดวัฒนธรรมการเรียนพิเศษ เพราะนอกจากจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองอย่างมหาศาลแล้ว ยังเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ โดยรัฐต้องเน้นให้การศึกษาในห้องเรียนมีคุณภาพและเพียงพอต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่ผลักภาระให้ผู้ปกครองในการจ่ายเงินซื้อความรู้ให้ลูกหลานเพิ่มทั้งที่ต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนอยู่แล้ว
นอกจากการแก้ปัญหาในระยะยาวแล้ว รัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ อาจแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการพิจารณารับเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนเพิ่ม รวมถึงให้การสนับสนุนทางสังคม ปรับค่าครองชีพภายในและรอบๆ มหาวิทยาลัยให้ทุกคนเข้าถึง ไม่ให้เด็กจากครอบครัวยากจนรู้สึกแปลกแยกหรือต้องเผชิญกับความลำบากทางการเงินอีกหากได้เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นจริง
ที่สำคัญ ความเปลี่ยนแปลงนี่ได้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลกแล้ว รวมไปถึง มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ ที่ในอดีตเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแต่ชนชั้นสูงผู้ชายซึ่งส่วนมากจะจบมาจากโรงเรียนประจำอย่าง Eton College หรือ St. Paul’s School เท่านั้นที่เข้าไปศึกษาได้
โดยในปัจจุบันทั้งเคมบริดจ์และอ็อกซ์ฟอร์ดพยายามรับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลมากขึ้น ลดจำนวนนักเรียนจากโรงเรียนประจำลง และเพิ่มสัดส่วนความหลากหลายทางเชื้อชาติลงด้วยการให้ความสำคัญกับพื้นเพครอบครัวประกอบไปกับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ทำให้ในช่วงปี 2011-2020 สัดส่วนนักเรียนจากโรงเรียนประจำใน 2 มหาวิทยาลัยนี้ ลดลงจาก 36.9% เหลือ 25.8%
ดังนั้น มหาวิทยาลัยในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ เองจึงควรเร่งเพิ่มความหลากหลายด้านพื้นฐานครอบครัวของนักศึกษา เพราะถ้าหากทำได้อย่างเหมาะสม สถาบันการศึกษาจะเป็นส่วนสำคัญมากในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมไปถึงลดปัญหาความยากจนในประเทศ แทนที่จะเป็นตัวการทำให้ปัญหาเหล่านี้ทวีความรุนแรงมากขึ้นแบบไหนปัจจุบัน
อ้างอิง: The New York Times, CNN, The Hea Group, The Financial Times