Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สหรัฐฯขึ้นค่าวีซ่า8พันบาท คนไทยจ่ายพุ่ง14,000บาท ขึ้นได้อีกตามเงินเฟ้อ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

สหรัฐฯขึ้นค่าวีซ่า8พันบาท คนไทยจ่ายพุ่ง14,000บาท ขึ้นได้อีกตามเงินเฟ้อ

18 ก.ค. 68
14:58 น.
แชร์

ในอนาคตอันใกล้ นักเดินทางที่ต้องการเข้าสหรัฐอเมริกาอาจต้องเตรียมงบเพิ่มจากที่เคย เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านกฎหมาย “One Big Beautiful Bill Act” ซึ่งรวมมาตรการหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน ความมั่นคง และระบบตรวจคนเข้าเมือง โดยหนึ่งในประเด็นที่กระทบผู้เดินทางโดยตรงคือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ที่ชื่อว่า “Visa Integrity Fee” หรือ “ค่าธรรมเนียมตรวจสอบความน่าเชื่อถือของวีซ่า” กับผู้ที่ยื่นขอวีซ่าชั่วคราวทุกประเภท

มาตรการนี้จะบังคับใช้กับทุกคนที่ต้องขอวีซ่าเพื่อเข้าสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ หรือนักศึกษา โดยค่าธรรมเนียมจะเริ่มต้นที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8,000 บาท ในปีงบประมาณ 2025 และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ ที่สำคัญ ค่าธรรมเนียมนี้ “ไม่มีข้อยกเว้น” แม้ในบางกรณีจะสามารถยื่นขอคืนเงินได้ก็ตาม

แม้ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าจะเริ่มเก็บเมื่อใด หรือกระบวนการจัดเก็บเป็นอย่างไร แต่การประกาศดังกล่าวก็สร้างแรงสะเทือนทันทีในแวดวงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นในช่วงที่งบประมาณขององค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวสหรัฐฯ ถูกลดลงอย่างมาก จนหลายฝ่ายมองว่าเป็นการปิดประตูรับนักท่องเที่ยวมากกว่าจะต้อนรับ

ยิ่งไปกว่านั้น มาตรการนี้ยังเรียกได้ว่ามา "ผิดเวลาอย่างมาก" เพราะสหรัฐฯ กำลังเตรียมฉลองครบรอบ 250 ปีแห่งการก่อตั้งประเทศในปี 2026 พร้อมทั้งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน FIFA World Cup ซึ่งจะดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกเข้าสู่ประเทศ แต่แทนที่จะเปิดแขนรับ กลับกลายเป็นว่าผู้มาเยือนต้องเจอกับด่านค่าใช้จ่ายใหม่ที่อาจทำร้ายการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ในระยะยาว

Visa Integrity Fee ต้องจ่ายเท่าไร และเมื่อไร?

ภายใต้กฎหมาย One Big Beautiful Bill Act ค่าธรรมเนียมที่เรียกว่า Visa Integrity Fee จะถูกเรียกเก็บจากผู้ขอวีซ่าชั่วคราวทุกคน โดยจะเริ่มต้นที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อครั้ง หรือประมาณ 8,000 บาท โดยคาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปีงบประมาณ 2025 ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2024 ถึง 30 กันยายน 2025 ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) มีอำนาจในการปรับเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมตามดุลยพินิจ และจะมีการปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อในอนาคต

ค่าธรรมเนียม Visa Integrity Fee จะถูกเรียกเก็บเฉพาะในกรณีที่ผู้สมัครวีซ่าได้รับการอนุมัติเท่านั้น หากการสมัครถูกปฏิเสธ จะไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าว

ทั้งนี้ สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องรู้คือ ค่าธรรมเนียมนี้ไม่ใช่การแทนที่ค่าธรรมเนียมวีซ่าปกติ แต่เป็นการเรียกเก็บเพิ่มเติมจากเดิม ตัวอย่างเช่น ผู้สมัครวีซ่าประเภท H-1B ที่ปัจจุบันเสียค่าธรรมเนียม 205 ดอลลาร์ อาจต้องจ่ายรวมเป็น 455 ดอลลาร์ ในขณะที่ผู้สมัครวีซ่าท่องเที่ยวหรือธุรกิจประเภท B1/B2 จากประเทศไทย ซึ่งเดิมต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 185 ดอลลาร์ จะต้องจ่ายเพิ่มรวมเป็น 435 ดอลลาร์ หรือประมาณ 14,000 บาท

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับเดียวกันยังระบุให้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมสำหรับแบบฟอร์ม I-94 ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเป็นสำหรับการเข้า-ออกประเทศสหรัฐฯ จากเดิม 6 ดอลลาร์ เป็น 24 ดอลลาร์ โดยมีผลกับผู้เดินทางเกือบทั้งหมดที่ต้องยื่นเอกสารผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งนับเป็นภาระเพิ่มเติมที่ผู้เดินทางควรเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า ทั้งในด้านค่าใช้จ่ายและขั้นตอนที่อาจเพิ่มความซับซ้อนในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ

Visa Integrity Fee ขอคืนได้ไหม?

แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้สามารถขอคืนค่าธรรมเนียม Visa Integrity Fee ได้ หากผู้ถือวีซ่าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ไม่รับงานที่ผิดกฎหมาย และไม่อยู่ในสหรัฐฯ เกินกำหนดมากกว่า 5 วัน แต่จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนหรือระบบในการยื่นขอคืนเงินที่ชัดเจนออกมาอย่างเป็นทางการ

สำนักงานงบประมาณรัฐสภาสหรัฐฯ (CBO) ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศอาจต้องใช้เวลาอีก “หลายปี” กว่าที่จะสามารถจัดตั้งกระบวนการคืนเงินได้อย่างครบถ้วน พร้อมประเมินว่า ในทางปฏิบัติแล้ว จะมีเพียง “จำนวนน้อยมาก” ของนักเดินทางเท่านั้นที่มีโอกาสได้รับเงินคืนจริง

ด้าน Steven A. Brown ทนายความด้านตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ ให้คำแนะนำว่า ผู้สมัครควรมองค่าธรรมเนียมนี้ในลักษณะของค่าใช้จ่ายที่ “ไม่สามารถขอคืนได้” เพื่อไม่ให้เกิดความคาดหวังเกินจริง โดยกล่าวว่า “ถ้าได้เงินคืนก็ดี แต่โดยทั่วไปแล้ว การขอเงินคืนจากรัฐบาลไม่ใช่เรื่องง่าย”

CBO ประเมินว่า กฎหมายนี้จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นและลดการขาดดุลงบประมาณลง 2.89 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2025-2034

ยังไม่รู้จะเก็บเงินเมื่อไร และอย่างไร?

นอกจากนี้ แม้กฎหมาย Visa Integrity Fee จะผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) ยังไม่ได้ประกาศวันที่แน่ชัดที่จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว และยังไม่มีข้อมูลว่าผู้สมัครจะต้องชำระเงินที่ใด หรือผ่านระบบใด

โฆษกของสมาคมการท่องเที่ยวสหรัฐฯ (U.S. Travel Association) ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ตัวบทกฎหมายจะกำหนดให้ DHS เป็นผู้เรียกเก็บเงิน แต่ในความเป็นจริง DHS ไม่ได้มีบทบาทโดยตรงในการดูแลขั้นตอนการสมัครหรือออกวีซ่า ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า “จะเก็บเงินที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร?”

ด้าน DHS เองก็ยอมรับกับ CNBC ว่าการดำเนินการจะต้องอาศัย “การประสานงานระหว่างหน่วยงานหลายแห่ง” ก่อนจะสามารถเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมได้จริง ซึ่งหมายความว่า ผู้เดินทางอาจต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ไปอีกระยะหนึ่ง

นโยบายเข้มตรวจคนเข้าเมือง แต่ทำร้ายการท่องเที่ยว

แม้กฎหมาย “One Big Beautiful Bill” จะถูกเสนอในนามของการฟื้นฟู “ความน่าเชื่อถือของระบบตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐฯ” ตามคำให้สัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (DHS) แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายชุดนี้อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวระหว่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

แม้ข้อมูลจากรัฐสภาสหรัฐฯ จะระบุว่า มีเพียง 1-2% ของผู้ถือวีซ่าชั่วคราวที่อยู่เกินกำหนดในช่วงปี 2016-2022 แต่สถิติยังชี้ว่า ประชากรต่างด้าวผิดกฎหมายกว่า 42% เคยเดินทางเข้าสหรัฐฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะอยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ฝ่ายสนับสนุนกฎหมายนี้นำมาใช้อธิบายความจำเป็นของมาตรการใหม่

อย่างไรก็ตาม Steven A. Brown ทนายความด้านตรวจคนเข้าเมืองเตือนว่า ค่าธรรมเนียม Visa Integrity Fee ที่สูงถึง 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน อาจกลายเป็นภาระหนักสำหรับกลุ่มผู้เดินทางที่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและนักเรียนต่างชาติ ซึ่งมักเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวต่อค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเดินทาง

นอกจากนี้ กฎหมายยังประกาศใช้ในช่วงที่สหรัฐฯ เตรียมเป็นเจ้าภาพการเฉลิมฉลอง 250 ปีแห่งการก่อตั้งประเทศในปี 2026 รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลโลก FIFA World Cup ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ แต่กลับมาพร้อมกับนโยบายที่อาจลดทอนแรงจูงใจในการเดินทางเข้าสหรัฐฯ ของนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศ

ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับเดียวกันยังตัดงบประมาณของ Brand USA ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ จาก 100 ล้านดอลลาร์ เหลือเพียง 20 ล้านดอลลาร์ โดยไม่มีรายละเอียดว่าจะมีแนวทางใดในการทดแทนบทบาทที่ลดลง

Geoff Freeman ประธานสมาคมการท่องเที่ยวสหรัฐฯ (U.S. Travel Association) แสดงความเห็นแบบสองแง่สองง่าม โดยระบุว่า แม้จะรู้สึกพอใจกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการรักษาความปลอดภัยชายแดนที่มากับกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ยอมรับว่าการเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควบคู่กับการลดงบองค์กรโปรโมตการท่องเที่ยวของประเทศ เป็นสิ่งที่ “ยากต่อการยอมรับ” และอาจบั่นทอนศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ เองในระยะยาว


แชร์
สหรัฐฯขึ้นค่าวีซ่า8พันบาท คนไทยจ่ายพุ่ง14,000บาท ขึ้นได้อีกตามเงินเฟ้อ