"วัดประยุรวงศาวาส" พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี โดยมีเลขทะเบียนวัดที่ 24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระบวรพุทธศาสนา จึงได้อุทิศสวนกาแฟ ณ ตำบลกุฎีจีน ซึ่งเป็นที่ดินที่ได้รับพระราชทาน สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามสำหรับพระภิกษุสงฆ์และฆราวาสศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรม เมื่อปีชวดสัมฤทธิศก จุลศักราช 1190 หรือตรงกับ พ.ศ. 2371 ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 8 ปี จึงแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2379 และได้มีการฉลองวัดในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2379 ตรงกับวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 7 ค่ำ
ดังหลักฐานที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ บันทึกไว้ว่า "ครั้นลุถึงศักราช ๑๑๙๘ ปีวอก อัฐศก เป็นปีที่ ๑๓ ครั้นมาถึงวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๗ ค่ำ เจ้าพระยาพระคลังมีการฉลองวัดประยุรวงศาวาส พระสงฆ์ในวัดได้ปืนเปรียมกระสุน ๕ นิ้วชำรุดหูพะเนียงหักทิ้งอยู่ในวัดบอก ๑ เอาทำไฟพะเนียงจุด...."
เรื่องราวของการสร้างวัดประยุรวงศาวาสนั้น นับเป็นหนึ่งในสิ่งที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) ตั้งใจอุทิศชีวิตเพื่อสร้างคุณประโยชน์นานัปการให้แก่บ้านเมืองและพระศาสนา ตลอดระยะเวลาของการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ โดยมุ่งหวังที่จะนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง และความสงบสุขร่มเย็นแก่ทั้งอาณาจักรและพุทธจักร
ย้อนกลับไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 บ้านเมืองสยามในเวลานั้นสงบสุขร่มเย็น ด้วยว่างเว้นจากศึกสงครามมาเป็นระยะเวลาพอสมควร อีกทั้งการค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศ ก็เริ่มเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ประกอบกับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอนันต์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอารามหลวงใหม่ 3 พระอาราม ได้แก่ วัดเทพธิดาราม วัดราชนัดดาราม และวัดเฉลิมพระเกียรติราชวรวิหาร จังหวัดนนทบุรี ตลอดจนทรงสถาปนาและปฏิสังขรณ์พระอาราม พระพุทธปฏิมา ถาวรวัตถุ และเสนาสนะเพื่อเป็นพุทธบูชาและสังฆบูชาอีกจำนวนมาก เช่น วัดนางนอง วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดยานนาวา และวัดราชโอรสาราม เป็นต้น
นอกเหนือจากวัดในพระบรมราชูปถัมภ์ดังที่กล่าว ยังทรงชักชวน เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนเสนาบดีขุนนางผู้ใหญ่ ให้ช่วยกันสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามขึ้นอีกมากมายเช่นกัน ทำให้เกิดประเพณีของการสร้างวัดในที่ดินของตนขึ้น เพื่อใช้เป็นวัดประจำตระกูลแก่ลูกหลานสืบไป เช่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต้นสกุล สิงหเสนี ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้มถวายเป็นพระอารามหลวง ใน พ.ศ. 2362 แล้วได้รับพระราชทานชื่อว่า "วัดจักรวรรดิราชาวาส" ในขณะที่เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ต้นสกุลกัลยาณมิตร ได้อุทิศที่ดินตำบลกุฎีจีน สร้างวัดถวายเป็นพระอารามหลวง ใน พ.ศ. 2368 ได้รับพระราชทานชื่อว่า "วัดกัลยาณมิตร"
วัดประยุรวงศาวาส นับเป็นพระอารามเพียงแห่งเดียวที่ถือเป็น "พุทธสถานประจำสมเด็จเจ้าพระยาฯ" แม้ตลอดชั่วชีวิตของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) จะมีจิตศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระอารามเป็นพุทธบูชาจำนวนมาก การสร้างวัดแห่งนี้นอกจากมีความตั้งใจยิ่งเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวงแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีพระอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ผู้มีศักดิ์เป็นป้าของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) และอุทิศกุศลแด่เจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ 1 (นวล)ผู้เป็นมารดา ในปีที่สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี และเจ้าคุณพระราชพันธุ์ชั้นที่ 1 (นวล) ได้รับพระราชทานเพลิงพระศพและพระราชทานเพลิงศพเมื่อ พ.ศ. 2371
เมื่อสร้างแล้วเสร็จได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวัดโดยยาว 17 วา (35 เมตร)โดยกว้าง 14 วา (28 เมตร) ต่อมา พ.ศ. 2393 จึงได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "วัดประยุรวงศาวาส" ซึ่งคล้องกันกับพระราชทินนามที่ได้รับในเวลาต่อมา โดยชื่อของวัดนั้นมีความหมายว่า "อารามแห่งวงศ์พระประยูรญาติ" ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างสูงแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์และเหล่า "ราชินิกุลบุนนาค"
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร มีเนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน 55.1 ตารางวา ตามโฉนดเลขที่ 22762-22763 ลักษณะพื้นที่ราบเรียบสี่เหลี่ยม มีอาณาเขตอุปจารดังนี้
- ทิศตะวันออก มีอาณาเขตจรดถนนประชาธิปก
- ทิศตะวันตก มีอาณาเขตจรดคลองสาธารณะ
- ทิศเหนือ มีอาณาเขตจรดถนนเทศบาลสาย 1
- ทิศใต้ มีอาณาเขตจรดถนนเทศบาลสาย 2 และโรงเรียนศึกษานารี
วัดประยุรวงศาวาส และวัดพิชยญาติการาม คือสองวัดสำคัญในฝั่งธนบุรี ที่นอกจากจะมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานเคียงคู่กันมากว่า 8 รัชกาลแล้ว ยังถือเป็นวัดพี่วัดน้อง เนื่องด้วยท่านผู้สร้างวัดทั้งสอง ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ผู้สร้างวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) หรือสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย ผู้สร้างวัดพิชยญาติการามวรวิหาร เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันคือ เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ตลอดจนวัดทั้งสองยังได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เฉกเช่นเดียวกันอีกด้วย
การผ่าตัดใหญ่ครั้งแรกในสยาม
การผ่าตัดครั้งนี้เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ปืนใหญ่ที่ใช้จุดไฟพะเนียง ในงานเฉลิมฉลองวัดประยุรวงศาวาสเกิดระเบิดขึ้น ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) จึงขอให้ "หมอบรัดเลย์" ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณที่เกิดเหตุไปรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ซึ่งคนเจ็บส่วนใหญ่เลือกรักษากับหมอไทยเท่านั้น แต่มีผู้บาดเจ็บเพียง 2 ราย ที่ยินยอมให้หมอบรัดเลย์ทำการรักษา ในจำนวนนี้คือ พระภิกษุรูปหนึ่งที่กระดูกแขนแตก จำเป็นต้องตัดแขนทิ้ง หมอบรัดเลย์ จึงได้ผ่าตัดแขนพระภิกษุรูปนั้นในที่เกิดเหตุนั่นเอง ซึ่งในขณะนั้นคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าจะสามารถตัดอวัยวะออกจากร่างกายมนุษย์ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ทำอันตรายแก่ชีวิต เนื่องจากไม่เคยปรากฏวิธีการรักษาเช่นนี้ในระบบการแพทย์ไทยมาก่อน ความสำเร็จของการผ่าตัดครั้งนั้นจึงเป็นที่เลื่องลือกันมากในสังคมไทย สร้างความน่าเชื่อถือให้กับหมอบรัดเลย์ และทำให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัดแบบตะวันตกเริ่มเป็นที่ยอมรับ ยังผลให้การแพทย์แบบตะวันตกเริ่มมีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้นในเวลาต่อมา
เจดีย์วัดประยุรวงศาวาส ได้รับรางวัลจากองค์การยูเนสโก้
พระบรมธาตุมหาเจดีย์ อายุเกือบ 200 ปี ภายในวัดประยูรวงศาวาส สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2371 โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เป็นพระเจดีย์องค์ใหญ่แบบลังกาองค์แรกในสมัยรัตนโกสินทร์ ทรงกลม สัณฐานรูปโอคว่ำ สูง 60.525 เมตร ฐานล่างส่วนนอกวัดโดยรอบได้ 162 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 50 เมตร ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นล่างพระเจดีย์มีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบ 54 คูหา ชั้นบนถัดจากช่องคูหาขึ้นไปมีพระเจดีย์เล็ก 18 องค์ เรียงรายพระเจดีย์องค์ใหญ่อยู่ ภายในองค์เจดีย์มีเสาแกนกลาง หรือเสาครู ทำจากท่อนไม้ซุงขนาดใหญ่ ขนาดกว้างด้านละ 2 ม. สูง 20.30 ม. หนัก 144 ตัน ฐานเสาก่อด้วยอิฐมอญโบราณ สอด้วยปูนหมักน้ำอ้อยและกาวหนัง เสาแกนกลางดังกล่าวใช้เป็นศูนย์กลางรัศมีวงกลมของเจดีย์ และเป็นเสาหลักสำหรับวางพาดไม้นั่งร้านในขณะก่อสร้างองค์เจดีย์ และยังเป็นเสาค้ำบัลลังก์ปลียอดเจดีย์อีกด้วย
ภายหลังองค์เจดีย์ทรุดโทรมลง จึงได้มีการสำรวจพบว่า ยอดเจดีย์เอียงไปทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 1 เมตร เนื่องจากในอดีตได้มีคนเข้าไปขุดค้นทำลายใต้ฐานเจดีย์ไปบางส่วน ทำให้เสาแกนกลางทรุด หลุดพังลงมาเหลือความสูงเพียง 18 ม. และได้ล้มเอียงพิงผนังภายในองค์เจดีย์ ทำให้องค์เจดีย์ทรุด ทางวัดจึงเริ่มซ่อมแซมเสาแกนกลาง โดยใช้การก่ออิฐเสริมฐานเสาแกนให้เต็มฐานและเข้าเฝือกที่แกนเสาก่อนบูรณะ แล้วจึงใช้แม่แรงดีดแกนเสาให้ตั้งตรง นับเป็นการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยอนุรักษ์โบราณสถานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุมหาเจดีย์ ได้รับรางวัลจากยูเนสโก รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 หรือ Award of Excellence จากโครงการประกวดรางวัล เพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย และแปซิพิก ประจำปี 2556 ซึ่งมีผู้ส่งเข้าประกวดกว่า 47 โครงการ จาก 16 ประเทศ
ขอบคุณข้อมูล : วัดประยุรวงศาวาส/สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
Advertisement