Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เศรษฐกิจญี่ปุ่น Q1 หดตัว0.7% YoY เหตุภาษีทรัมป์ทำส่งออกหด บริโภคอ่อนแอ
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

เศรษฐกิจญี่ปุ่น Q1 หดตัว0.7% YoY เหตุภาษีทรัมป์ทำส่งออกหด บริโภคอ่อนแอ

16 พ.ค. 68
12:07 น.
แชร์

เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวครั้งแรกในรอบปี เผชิญแรงกดดันจากภาษีทรัมป์ การส่งออกชะลอ และความเปราะบางภายในประเทศ

เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 0.7% ในไตรมาสแรกของปี 2025 (มกราคม–มีนาคม) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า ตามข้อมูลเบื้องต้นที่รัฐบาลญี่ปุ่นเผยแพร่ในวันนี้ (16 พฤษภาคม) ถือเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจครั้งแรกในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2024 โดยมีปัจจัยหลักจากการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนยังคงซบเซา และการนำเข้าสินค้ากลับขยายตัว สะท้อนแรงกดดันด้านดุลการค้า

ตัวเลข GDP ที่ประกาศออกมายังต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ โดยผลสำรวจของ Reuters คาดว่า GDP ไตรมาสแรกจะหดตัวเพียง 0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และหดตัว 0.2% จากปีก่อน ขณะที่แบบสำรวจของ QUICK (เครือ Nikkei) คาดการณ์ว่า GDP จะลดลง 0.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ตัวเลขจริงที่ออกมาจึงสะท้อนแรงกดดันเชิงโครงสร้างต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ

การส่งออกลดลง บริโภคเอกชนไม่ฟื้น ฉุด GDP ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากภาษีทรัมป์

ในไตรมาสแรกของปี 2025 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกและภายใน โดยการส่งออกหดตัวลง 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ฉุด GDP ลงราว 0.8 จุดเปอร์เซ็นต์ ขณะที่การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นถึง 2.9% ส่งผลให้ดุลการค้าติดลบ ซึ่งเป็นอีกแรงถ่วงสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสนี้

หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักคือความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งบังคับใช้ภาษีใหม่ต่อสินค้านำเข้าหลายรายการจากญี่ปุ่น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคส่งออกของญี่ปุ่นที่มีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้าง GDP

ในขณะเดียวกัน การบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว โดยทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ทาคาฮิเดะ คิอุจิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยโนมูระ ระบุว่า “โครงสร้าง GDP ในไตรมาสนี้สะท้อนการบริโภคของครัวเรือนที่ยังอ่อนแอ” พร้อมชี้ว่า ราคาข้าวและผักสดที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2024 กำลังบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชน

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่ยังมีมุมบวกบางประการ คริชนา ภิมวาราปู นักเศรษฐศาสตร์จาก State Street Global Advisors ชี้ว่า การบริโภคในประเทศที่ขยายตัว 0.6% ถือเป็น “จุดสว่าง” และ “แข็งแกร่งมาก” พร้อมประเมินว่า ญี่ปุ่นอาจสามารถบรรลุ “ข้อตกลงที่เหมาะสม” กับสหรัฐฯ ได้ในไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งจะช่วยคลายแรงกดดันจากมาตรการภาษี

“ทั้งหมดนี้หมายความว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถรอและจับตาสถานการณ์ได้อย่างสบาย โดยเราคาดว่า BOJ จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียงหนึ่งครั้งในปีนี้ อาจเป็นในไตรมาส 4” ภิมวาราปู กล่าวเสริม

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ ญี่ปุ่นยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขทางการค้ากับสหรัฐฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม เรียวเซ อาคาซาวะ หัวหน้าคณะเจรจาการค้าของญี่ปุ่น ยอมรับว่า “แม้ผลกระทบต่อ GDP จะยังไม่ปรากฏชัดในไตรมาสแรก แต่ความเสี่ยงจากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ยังมีสูงมาก” พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนิน “มาตรการที่จำเป็นทั้งหมด” เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจ

โดยแม้ตลาดแรงงานและค่าจ้างจะปรับตัวดีขึ้นและช่วยหนุนการฟื้นตัวในระดับปานกลาง แต่อาคาซาวะย้ำว่ายังมีความเสี่ยงจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักเศรษฐศาสตร์จาก UBS Securities ได้แก่ มาซามิจิ อาดาจิ และโก คุริฮาระ ระบุในรายงานวันที่ 2 พฤษภาคมว่า “เราคาดว่า ความเปราะบางของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะชัดเจนยิ่งขึ้นในไตรมาสที่สอง โดยเฉพาะจากแรงกระแทกของภาษีต่อภาคส่งออก รวมถึงความไม่แน่นอนที่ฉุดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ” พร้อมแสดงความกังวลว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอาจถดถอยลงอีกในระยะถัดไป

ผลสำรวจล่าสุดโดย QUICK (ในเครือ Nikkei) ยังพบว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินว่า มาตรการภาษีศุลกากรของรัฐบาลทรัมป์จะส่งผลให้ GDP ญี่ปุ่นในปีนี้หดตัวระหว่าง 0.4–0.6 จุดเปอร์เซ็นต์ เพิ่มแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงเวลาที่เปราะบางอย่างยิ่ง

ธนาคารกลางญี่ปุ่นส่งสัญญาณระวังผลกระทบ แต่ยังมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ย

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ถือเป็นการตรึงอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน ท่ามกลางแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้า

ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม BOJ ออกแถลงการณ์เตือนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มจะชะลอตัวลง โดยระบุว่าสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของนโยบายการค้าทั่วโลก ทั้งจากอุปสงค์ที่ลดลงทั่วโลก และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ การบริโภคของภาคครัวเรือน ปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ลดลง และกำไรของภาคส่งออกญี่ปุ่นที่อ่อนแอลง

BOJ ยังเน้นย้ำว่า นโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสร้างแรงกดดันต่อทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระดับราคาสินค้าในประเทศ

แม้จะมีความกังวลต่อแนวโน้มการเติบโต แต่ BOJ ยังไม่ตัดโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง โดยกรรมการบางคนแสดงความเห็นว่า เป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของ BOJ มีแนวโน้มบรรลุได้ และหากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสอดคล้องกับการประเมิน ธนาคารกลางควรเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าเป้าหมาย 2% ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม โดยล่าสุดในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 3.6% สะท้อนแรงกดดันด้านราคาที่ต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กรรมการ BOJ บางรายยังเตือนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเปราะบางและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน พร้อมเสนอให้ BOJ “ประเมินทั้งความเสี่ยงด้านบวกและด้านลบอย่างรอบคอบ และดำเนินนโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง”

ด้าน มาร์เซล ทีเลียนต์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกจาก Capital Economics ให้ความเห็นว่า การที่ BOJ ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในการประชุมก่อนหน้านี้ “น่าจะเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมในเชิงนโยบาย” และเสริมว่า “โอกาสที่ BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคมตามที่เคยคาดไว้ อาจลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ”

การคงดอกเบี้ยในรอบนี้จึงสะท้อนจุดยืนระมัดระวังของ BOJ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน โดยธนาคารกลางยังไม่ปิดโอกาสสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต แต่เน้นการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องก่อนตัดสินใจในขั้นต่อไป


ที่มา: CNBC, Nikkei Asia


แชร์
เศรษฐกิจญี่ปุ่น Q1 หดตัว0.7% YoY เหตุภาษีทรัมป์ทำส่งออกหด บริโภคอ่อนแอ