Oxfam International องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานขับเคลื่อนเพื่อบรรเทาความยากจนทั่วโลก เปิดเผยรายงานใหม่ชี้ว่าระหว่างปี 2020-2021 คนรวยที่สุด 1% ของโลกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันมากกว่า 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 854 ล้านล้านบาท ซึ่งมากเป็นเกือบ 2 เท่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นของคนอีก 99% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ข้อมูลชุดนี้มาจากรายงาน “Survival of the Richest” หรือ “การอยู่รอดของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด” ของ Oxfam ที่เน้นตีแผ่ความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นสูง 1% และชนชั้นกลางและชนชั้นล่างอีก 99% ที่ถ่างกว้างขึ้นในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด และหลังการระบาดของโควิด ที่ตีพิมพ์ออกมาในวันเดียวกันกับที่จะมีการประชุมของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประชุมของกลุ่มคน 1% ของโลกที่ Oxfam โจมตี
คนรวย 1% รวยขึ้น 8.9 หมื่นล้านบาท/วัน
ส่วนคน 1.7 พันล้านคนรายได้ไม่พอสู้เงินเฟ้อ
จากข้อมูลในรายงาน ในระหว่างปี 2020-2021 ที่โลกกำลังต่อสู้ และเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด มหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดของโลก 1% มีทรัพย์สินรวมขึ้นถึง 26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (854 ล้านล้านบาท) หรือเฉลี่ยราว 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน (ราว 8.9 หมื่นล้านบาท) ซึ่งมากเป็นเกือบ 2 เท่าของคนอีก 99% ที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเพียง 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยในรายงานระบุว่าปัจจัยที่ทำให้มหาเศรษฐีเหล่านี้ร่ำรวยขึ้นอย่างมากในระหว่างปี 2020-2021 คือ
นอกจากนี้ Oxfam ยังเผยอีกว่าในระยะเวลา 2 ปีที่โลกอยู่กับโควิด อัตราผู้ที่ต้องอาศัยอยู่กับความยากจนยังเพิ่มขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นในรอบ 25 ปี หลังจากที่โลกสามารถลดจำนวนผู้ที่อาศัยอยู่ในความยากจนมาได้อย่างต่อเนื่องจากการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้สะท้อนความล้มเหลวของระบบเก็บภาษี
อย่างไรก็ตาม นอกจากสภาวะทางเศรษฐกิจแล้ว Oxfam ยังชี้อีกว่า อีกสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างมหาศาลในโลกนี้ก็คือ "ระบบการเก็บภาษี" ที่เอื้อคนรวยมากกว่าคนจน
โดยจากข้อมูลของ Oxfam มีเพียง 1 ใน 3 ของประเทศในโลกนี้เท่านั้นที่มีภาษีมรดก และครึ่งหนึ่งของมหาเศรษฐีทั่วโลกที่ทรัพย์สินมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐอาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่มีภาษีมรดก เช่น แคนาดา สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ทำให้เศรษฐีหลายคนสามารถถ่ายทอดเงินมูลค่ารวมกันถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไปยังลูกหลานในตระกูลคนรวยได้หลายชั่วอายุคนแบบไม่ต้องเสียภาษีเลยแม้แต่แดงเดียว
นอกจากนี้ อัตราการเก็บภาษีเงินได้ยังมีแนวโน้มลดลง และมีการเก็บเป็นขั้นบันได (progressive) ลดลง โดยอัตราการเก็บภาษีประชากรที่มีรายได้สูงที่สุดของแต่ละประเทศโดยเฉลี่ยลดลงจาก 58% ในปี 1980 มาเป็น 42% ในปี 2022 และประเทศส่วนมากยังมีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gains tax) ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ใหญ่ของคนรวย 1% น้อยกว่าภาษีเงินได้ โดยมีเพียง 3 ประเทศในโลกที่มีการเก็บภาษีกำไรจากการขายหลักทรัพย์มากกว่าภาษีเงินได้ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีจากเหล่าคนรวยที่ทำรายได้จากการลงทุนได้มากเท่าที่ควร
ด้วยเหตุนี้ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ Oxfam จึงเสนอให้มีการ “Tax The Rich” หรือ การเก็บภาษีคนรวยในอัตราที่มากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้การเกิดการกระจายรายได้ โดยเสนอให้รัฐบาลทั่วโลก
โดยจากข้อมูลของ Oxfam ถ้าหากรัฐบาลทั่วโลกเก็บภาษีเพียง 5% กับ เศรษฐีทั่วโลกที่มีเงินหลายล้านไปจนถึงหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รัฐบาลจะระดมเงินภาษีได้ถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสามารถช่วยให้คนถึง 2 พันล้านคนทั่วโลกพ้นจากความยากจนได้
ที่มา: Oxfam International, CNN