วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานในพิธีทำบุญเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติแด่พระสงฆ์ จำนวน 9 รูป โดยมีนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงานเข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นมีการเคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติ ริ้วขบวนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงาน และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน และเคลื่อนริ้วขบวนออกจากบริเวณแยก จปร.ถนนราชดำเนินนอก มายังลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้สำหรับกลุ่มแรงงาน ได้เสนอข้อเรียกร้องจำนวน 9 ข้อ ได้แก่ 1.ให้รัฐบาลเร่งรัดการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ.1948 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ.1949
2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นหลักประกันในการทำงานของลูกจ้าง
3.ให้รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้จากเงินก้อนสุดท้ายที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง เมื่อพ้นสภาพการเป็นลูกจ้างในทุกกรณี ทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจในวงเงิน 1 ล้านบาท
4.ให้พนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถอยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นระบบเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข และมีลักษณะการจ่ายเงินร่วม (co-payment) เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยอย่างเป็นธรรม
5.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ได้แก่ปรับฐานการรับเงินบำนาญ ให้มีรายรับไม่น้อยกว่า 5,000 บาท กรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุ และรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 การคิดคำนวณเงินบำนาญขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33 เมื่อผู้ประกันตนรับบำนาญแล้ว ให้คงสิทธิรักษาพยาบาลตลอดชีวิต กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ ขยายอายุผู้เริ่มเข้าเป็นผู้ประกันตนจากเดิม 15-60 ปี เป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ
6.ให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ดำเนินการให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม.11/1 อย่างเคร่งครัด
7.ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงาน เป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน
8.ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดำเนินการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 7 ลงวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2541 กฎกระทรวงฉบับที่ 8 ลงวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2541 และกฎกระทรวงฉบับที่ 13 ลงวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2543 ซึ่งทั้ง 3 ฉบับออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีข้อความตัดสิทธิลูกจ้างรายเดือนที่ทำงานล่วงเวลาไม่ให้ได้รับค่าล่วงเวลา 1.5 เท่า เช่นเดียวกับพนักงานรายวัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้รับทราบ และรับว่าจะดำเนินแก้ไขมาก่อนแล้ว
และ 9.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2568
Advertisement