สินทรัพย์ดิจิทัล

เมื่อวิกฤตซับไพรม์กำลังเกิดขึ้นบนโลกคริปโทเคอเรนซี่

16 ก.ค. 65
เมื่อวิกฤตซับไพรม์กำลังเกิดขึ้นบนโลกคริปโทเคอเรนซี่
ไฮไลท์ Highlight

ปัจจุบัน โลกของคริปโทเคอเรนซี่ เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกับวิกฤต Subprime ปี 2008 (วิกฤตสภาพคล่อง) และไม่ได้เกิดจากใครที่ไหน แต่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่เราเชื่อว่าผู้เล่นเหล่านี้ เข้ามาด้วยความรู้และความสามารถ น่าจะผลักดัน Bitcoin และคริปโทเคอเรนซี่ไปได้ไกล 

ในขณะที่ปี 2008 วิกฤตจบลงด้วยการ Bailout ด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล "แต่ในโลกของคริปโทเคอเรนซี่ ไม่มีรัฐบาล" 

วิกฤตสภาพคล่องกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะบนคริปโทเคอเรนซี่


Bitcoin เป็นสินทรัพย์ดิจิตัลตัวแรกของโลก เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2007 - 2008 หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Subprime Crisis โดย Satoshi Nakamoto ได้เขียนข้อความใส่ไว้ในบล๊อกเชนว่า “The Times 03/Jan/2009 Chancellor on brink of second bailout for banks.” ซึ่งเป็นพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์ The Times ฉบับวันที่ 3 มกราคม ปี 2009   

วิกฤต Subprime เริ่มต้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ ลดดอกเบี้ยจาก 6.5% เหลือเพียง 1% หลังจากการเกิดวิกฤต Dot Com ในปี 2000 เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้เกิดผู้ฉวยโอกาส เมื่อสภาพคล่องเพิ่มขึ้นก็มีการให้กู้ยืมหนี้บ้านที่มากเกินกำลังของผู้จ่าย และมีการซ่อนความเป็นจริงของโอกาสเกิดหนี้เสีย ด้วยกลไกของธนาคาร ทำให้เกิดการระเบิดของฟองสบู่ขนาดใหญ่ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงให้กับเศรษฐกิจโลก

lehman

ธนาคารหลายแห่งเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง มูลค่าหุ้นดิ่งอย่างหนัก ธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง Lehman Brothers ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ถูกลบหายไปจากประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์นี้ จากการที่สินทรัพย์ที่ตนถือ มูลค่าลดลงอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤต และมีปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง ธนาคารขาดทุนอย่างหนักและไม่มีเงินคืนนักลงทุน 

หลังวิกฤต Covid-19 ธนาคารกลางทั่วโลกได้อัดฉีดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ทำให้สินทรัพย์ทุกอย่างราคาพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ และ "คริปโทเคอเรนซี่" ก็เป็นหนึ่งในนั้น 


Three Arrow Capital เป็นหนึ่งใน Hedge fund ที่เติบโตในตลาดเงินมายาวนาน โดยเริ่มต้นในปี 2012 ด้วยเงินทุนประมาณ 1 ล้านดอลลาร์ จากการลงทุนในตลาดทุนเดิม จนมาถึงคริปโทเคอเรนซี่ในช่วงหลัง และในวันที่ Three Arrow Capital เติบโตมากที่สุด บริษัทมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์ 

3ac

Three Arrow Capital เน้นเข้ามาลงทุนในคริปโทเคอเรนซี่ผ่านการลงทุนในรอบ Private ซึ่งทำให้ได้ของในราคาถูกกว่ารายย่อยอย่างมาก ส่งผลให้เกือบทุกเหรียญที่พวกเขาลงทุน มีราคาสูงขึ้นกว่าราคาที่ซื้อมาหลายเท่า และอาจจะเป็นเหตุผลให้พวกเขาชะล่าใจในการป้องกันความเสี่ยง โดยที่กลไกการซื้อเหรียญแบบนี้ ทำให้พวกเขาถูกห้ามไม่ให้ซื้อขายเหรียญที่ลงทุนจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด

ท่ามกลางตลาดคริปโทที่ราคาเริ่มถดถอย สินทรัพย์ของพวกเขาก็มูลค่าหดตัวลงเรื่อยๆ พวกเขาเริ่มเสียหายรุนแรงมากขึ้นจากการที่ Luna ถูกโจมตีจนไม่เหลือมูลค่า พวกเขาลงทุนไปกว่า 200 ล้านดอลลาร์ และกลายเป็น "0"  

Three Arrow Capital ยังมีการยืมเงินจากหลากหลายแหล่ง (โดยมีสินทรัพย์ค้ำประกันหรือไม่มี) เช่น Tether (ผู้ออก USDT), Voyager Capital (ผู้ให้บริการกู้ยืม), BlockFi (ผู้ให้บริการกู้ยืม) เป็นเงินรวมกันกว่าหลายพันล้านดอลลาร์

เมื่อปราศจากรายได้จากตลาด ประกอบกับทรัพย์สินที่มีอยู่ก็ด้อยค่าไม่สามารถชดเชยหนี้และดอกเบี้ยได้ พวกเขาก็ประกาศ "ล้มละลาย" เป็นที่เรียบร้อยต่อศาลนิวยอร์ก

สิ่งนี้ส่งผลต่อผู้ให้กู้ต่อไปอีกด้วย เนื่องจากแทนที่จะได้รับเงินคืนจากผู้กู้เต็มเม็ดเต็มหน่วย กลับได้รับเงินล่าช้า และต้องรอกระบวนการศาล Voyager Digital ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ้าหนี้ ล่าสุดก็ได้ประกาศล้มละลายตามไปเป็นที่เรียบร้อย

Celsius เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เสียหายในช่วงที่ผ่านมา โดยตัวระบบเป็นผู้ให้บริการด้านการกู้ยืมคริปโทเคอเรนซี่ โดยผู้ฝากจะได้ดอกเบี้ยเป็นคริปโทที่มีปริมาณสูงกว่าธนาคารทั่วไป โดยให้ดอกเบี้ยสูงสุดกว่า 17%  ในบางสกุลเงิน

ที่มาของดอกเบี้ยที่มากมายขนาดนี้ เนื่องจากในช่วงขาขึ้น ตลาดสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูง จึงสามารถจ่ายได้ อย่างเช่นระบบธนาคารบน Luna ที่ชื่อว่า Anchor สามารถให้ดอกเบี้ยได้สูงกว่า 20% ต่อปี  Celsius สามารถที่จะนำเงินของนักลงทุนไปลงใน Anchor เพื่อกินส่วนต่างของดอกเบี้ยได้  และอีกทางหนึ่งคือนำเงินไปให้สถาบันการเงินกู้เพื่อหาผลตอบแทน

แต่ปรากฏว่าพวกเขาคิดผิด ระบบ Luna พังลงไปพร้อมกับราคาของสินทรัพย์ที่หายไปเกือบเป็น 0 เงินนักลงทุนส่วนหนึ่งหายวับไป ทำให้ Celsius ขาดทุนจำนวนมาก

Celsius ยังทำการกู้ด้วยการนำ Bitcoin ของลูกค้าไปวางค้ำประกัน และกู้เหรียญ Stablecoin ออกมาใช้บน Platform ของ MakerDAO ซึ่งทำให้พวกเขาขาดสภาพคล่องไปกับการประคองไม่ให้ถูกยึดทรัพย์อีกด้วย 

บนระบบ Defi การหาผลตอบแทนอาจทำได้ผ่านกลไกการวางสินทรัพย์ค้ำประกันและกู้เงิน จากนั้นนำสัญญาเงินกู้ไปค้ำประกันใหม่ ทำให้เกิดการ Leverage หลายชั้น สร้างสิ่งที่เรียกว่า “recursive borrowing” ซึ่งเป็นที่มาของผลตอบแทนที่เกินจริง

แต่วิธีการนี้จะสามารถทำได้ในตลาดขาขึ้นเท่านั้น ส่วนในตลาดขาลง ผู้กู้จะเจอปัญหาการลดลงของมูลค่าหลักประกัน และเกิดเป็น "Margin Call" ได้   


นักลงทุนคาดหวังว่า บริษัทที่บริหารเงินให้จะจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่า ในขณะที่ความเป็นจริง สถาบันทางการเงิน กลับใช้กลยุทธ์เช่นเดียวกันกับนักลงทุนที่กล้าได้กล้าเสีย 

istock-1336308247

เมื่อจัดการปัญหาไม่ได้  Celsius เลือกที่จะห้ามผู้ใช้งานถอนเงินจากระบบ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งก็คือการเกิด Bank Run ใน Celsius แล้ว และยังไม่ทราบว่าจะจบอย่างไร หากเปิดให้ถอนอีกครั้ง หากสินทรัพย์ของ Celsius ไม่สามารถชดใช้หนี้ที่มีได้ ก็คงเป็นรายถัดไปที่ล้มละลาย (ล่าสุดได้ยื่นล้มละลายตามมาเป็นรายที่ 3 แล้ว)

นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้บริการคริปโทอีกหลายแห่งที่ห้ามการถอนไปแล้ว และไม่รู้อนาคตว่าจะเป็นอย่างไร เช่น CoinFlex, และ Babel Finance 

ปัจจุบัน โลกของคริปโทเคอเรนซี่ เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกับวิกฤต Subprime ปี 2008 (วิกฤตสภาพคล่อง) และไม่ได้เกิดจากใครที่ไหน แต่เป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่เราเชื่อว่าผู้เล่นเหล่านี้ เข้ามาด้วยความรู้และความสามารถ น่าจะผลักดัน Bitcoin และคริปโทเคอเรนซี่ไปได้ไกล 

ในขณะที่ปี 2008 วิกฤตจบลงด้วยการ Bailout ด้วยเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่ในโลกของคริปโทเคอเรนซี่ ไม่มีรัฐบาล 

เราจึงไม่รู้ว่าวิกฤตรอบนี้จะไปจบที่ไหน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ วิกฤตของ Subprime ได้เกิดบนโลกคริปโทแล้ว 

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์

ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์

อดีตนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และ CEO and Founder at Bitcast

advertisement

SPOTLIGHT