สินทรัพย์ดิจิทัล

แบงก์ชาติเล็งออกกฎหมาย "ห้ามใช้คริปโตซื้อสินค้า"

24 ม.ค. 65
แบงก์ชาติเล็งออกกฎหมาย "ห้ามใช้คริปโตซื้อสินค้า"

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการคริปโตเคอเรนซีให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า คาดว่าภายในเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ.ปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการออกคำสั่งหรือออกกฎหมายบางประเภทโดยห้ามใช้เงินสกุลดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีในการใช้ชำระค่าซื้อสินค้าชั่วคราวออกมา ทั้งนี้เพื่อจะศึกษาหาแนวทางการกำกับควบคุมการใช้งานของคริปโตเคอเรนซีที่ชัดเจนต่อไป

 

เนื่องปัจจุบันกำลังเริ่มเป็นกระแสที่นิยมในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้มีศูนย์การค้า รวมถึงมีร้านค้าจำนวนมากทยอยเข้ามารับเงินสกุลดิจิตอลเพิ่มต่อขึ้น และผู้ซื้อสินค้าก็เริ่มทยอยให้ความสนใจใช้คริปโตเคอเรนซีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ธปท. มีความกังวลว่างินสกุลดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีในการใช้ชำระค่าซื้อสินค้าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงกระทบต่อต่อเสถียรภาพของระบบชำระเงิน และระบบการเงินของประเทศให้มีปัญหาเพราะปัจจุบันเงินสกุลดิจิทัลยังไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถใช้ชำระค่าสินหรือชำระหนี้ได้

 

"เดิมแบงก์ชาติน่าจะประกาศกฎหมายห้ามให้หยุดใช้คริปโคเคอเรนซีไปก่อนตั้งแต่กลางเดือน ม.ค.นี้ที่ผ่านมา แต่เข้าใจว่าจะมีขั้นตอนด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเข้าทำงานร่วมเพื่อพิจาณากฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยทำให้เกิดความล่าช้า" แหล่งข่าว กล่าว

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีข้อสั่งการก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลังไปศึกษาข้อมูลการซื้อขายตลาดคริปโทเคอเรนซี่ เตรียมมาตรการดูแลป้องกันความเสียหาย และผลกระทบที่อาจจะมีต่อคนจำนวนมาก

 

นายพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่รวมถึงประเทศไทยเห็นว่าการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ยังมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการชำระเงิน และเสถียรภาพระบบการเงิน หากมีการใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งเรื่องนี้ในแต่ละประเทศจะมีแนวทางการกำกับดูแลที่แตกต่างกันไป เช่น การห้ามใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการ, การกำกับดูแลผู้ให้บริการ และการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท และการจำกัดปริมาณการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

 

สำหรับแนวทางของต่างประเทศ ในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ในปัจจุบันสามารถแบ่งกลุ่มการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลของธนาคารกลางแต่ละประเทศ ได้ 3 กลุ่มหลัก คือ

 

1. ประเทศที่ยอมรับและอนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น เอลซาวาดอร์

 

2. ประเทศ/เขตพื้นที่ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณานโยบายและหลักเกณฑ์การกำกับดูแล หากจะมีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ แต่ไม่ห้ามเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มใหญ่สุด และไทยเองก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน เช่น

  • อินเดีย - อยู่ระหว่างเสนอกฎหมายเพื่อห้ามการใช้คริปโทเคอเรนซี เป็นสื่อการชำระเงิน (Means of Payment)

  • มาเลเซีย - มองว่าคริปโทเคอเรนซี ไม่มีคุณสมบัติที่จะนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการชำระเงินได้

  • ฮ่องกง - อยู่ระหว่างพิจารณานโยบาย และติดตามท่าทีของต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ

  • สิงคโปร์ - กำกับเหรียญที่เข้าข่าย e-money, ออกไกด์ไลน์จำกัดการโฆษณา โดยห้ามโฆษณาเทรดคริปโทฯ ในพื้นที่สาธารณะ และจุดที่โฆษณาได้จะต้องแจ้งความเสี่ยงไว้ชัดเจน

  • อังกฤษ สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา - อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น และจะมีการแยกประเภทของเหรียญในการออกกฎเกณฑ์กำกับดูแล

 

3. ประเทศที่ไม่ยอมรับและไม่อนุญาตให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เช่น

  • จีน - ที่เห็นว่าคริปโทเคอร์เรนซี และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโทเคอร์เรนซี ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

  • อินโดนีเซีย - ห้ามใช้คริปโทเคอร์เรนซีในการชำระค่าสินค้าและบริการ และสภาศาสนาอิสลาม ห้ามใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสกุลเงิน

 

"ธนาคารกลางทุกประเทศมีการคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ มีความผันผวน และเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีที่มาของมูลค่าชัดเจน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ธนาคารกลางทุกประเทศค่อนข้างห่วง เพราะกลัวว่าจะมาลดทอนเสถียรภาพของการเงิน...ในมุมมองของไทยแล้ว เราไม่ได้ต่างจากประเทศอื่นส่วนใหญ่ที่คิดเหมือนกัน" นายพงศ์ธวัช กล่าว
พร้อมระบุว่า ในส่วนของ ธปท.นั้น ไม่สนับสนุนการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบชำระเงิน เสถียรภาพระบบการเงิน และความเสียหายแก่สาธารณะ แต่อย่างไรก็ดี ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น เพื่อออกเกณฑ์กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในเร็วๆ นี้

 

"มุมมองของ ธปท.ที่ไม่สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการนั้น ไม่ได้ต่างจากธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เพียงแต่เกณฑ์ของแต่ละประเทศมีบริบทต่างกัน ประเทศที่ตอนนี้ยังไม่ออกกฎเกณฑ์ ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ออก การออกกฎเกณฑ์มีหลายดีกรี แต่เราคงไม่ปิดทุกทาง เรื่องที่เกี่ยวกับนวัตกรรมเราสนับสนุน และให้ความสำคัญ" นายพงศ์ธวัช ระบุ

 

ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนบางราย มีการออกเหรียญคริปโทฯ ไปแล้ว ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้เข้ากับหลักเกณฑ์ที่กำลังจะออกมาในเร็วๆ นี้ และคงต้องมีช่วงเวลาเพื่อให้ปรับตัว

 

ส่วนกรณีของธนาคารพาณิชย์นั้น ธปท.ได้เคยมีหนังสือเวียนถึงแนวทางปฏิบัติไปก่อนหน้านี้แล้ว ว่าการจะลงทุนหรือเข้าไปเก็งกำไรในคริปโทฯ ไม่สามารถทำได้ เพราะถือว่าเป็นการนำเงินฝากของประชาชนไปเสี่ยง แต่หากเป็นการนำไปลงทุนในส่วนที่เกี่ยวกับการต่อยอดหรือพัฒนานวัตกรรมก็สามารถทำได้ รวมทั้งมีเพดานสำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เป็นฟินเทคไว้แล้ว

advertisement

SPOTLIGHT