ธุรกิจการตลาด

'ไบเดน' ทุ่มกว่า 7 แสนล้าน อัดฉีด 'Intel' ปั้นอุตฯ ผลิตชิปเซ็ตในประเทศ ลดพึ่งโรงงานเอเชีย

21 มี.ค. 67
'ไบเดน' ทุ่มกว่า 7 แสนล้าน อัดฉีด 'Intel' ปั้นอุตฯ ผลิตชิปเซ็ตในประเทศ ลดพึ่งโรงงานเอเชีย

รัฐบาลสหรัฐฯ อัดฉีดเงินให้เปล่าและเงินกู้มูลค่ารวมกว่า 7 แสนล้านบาทกับ ‘Intel’ บริษัทผลิตชิปประมวลผลรายใหญ่จากสหรัฐ หวังปั้นอุตสาหกรรมผลิตชิปเซ็ตภายในประเทศ ลดการพึ่งพาโรงงานในเอเชีย 

นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ประกาศข่าวนี้ในงานเปิดการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ของ Intel ที่เมือง Chandler รัฐแอริโซนา โดย Intel จะได้รับเงินให้เปล่าทั้งหมด 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 แสนล้านบาท และได้รับเงินกู้เป็นจำนวนอีก 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.95 แสนล้านบาท ทำให้ Intel กลายเป็นบริษัทที่ได้รับเงินสนับสนุนมากที่สุดจากกฎหมาย CHIPS Act 

รัฐบาลสหรัฐฯ ลงมติผ่าน CHIPS and Science Act ในปี 2022 เพื่อจัดสรรเงินทุนเกือบ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาชิประดับสูง และสร้างซัพพลายเชนในผลิตชิปเซ็ตขึ้นมาใหม่ในประเทศ หลังที่ผ่านมาต้องพึ่งพาโรงงานภายนอก เช่น โรงงานของ Taiwan Semiconductor Manufacturing Co. and Samsung (TSMC ) ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดในโลกจากไต้หวัน และ Samsung จากเกาหลีใต้

จากการใช้ CHIPS Act รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะเพิ่มกำลังการผลิตชิประดับสูงภายในสหรัฐฯ ให้ถึง 20% ของโลกภายในปี 2030

หากประสบผลสำเร็จ ส่วนแบ่งตลาดระดับนี้จะทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นศูนย์กลางคิดค้น พัฒนา และผลิตชิประดับสูงที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก เพราะเดิมทีบริษัทที่คิดค้นชิประดับสูงได้จำนวนมาก เช่น Nvidia และ Qualcomm ก็อยู่ในสหรัฐฯ อยู่แล้ว ทำให้หากสหรัฐฯ มีกำลังผลิตชิปภายในประเทศได้อีกก็จะช่วยประหยัดต้นทุน และลดความเสี่ยงด้านซัพพลายเชนอย่างมหาศาล

 

Intel มุ่งเป็นอันดับ 2 ภายใน 2030 ลงทุน 3.6 ล้านล้านบาทตั้งโรงงาน

จากข้อมูลของกระทรวงการพาณิชย์สหรัฐฯ ปัจจุบัน Intel มีแผนที่จะลงทุนเงินทั้งหมด 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 ล้านล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิปใน 4 รัฐ คือ แอริโซนา โอไฮโอ นิวเม็กซิโก และโอเรกอน และคาดว่าจะเพิ่มผลิตชิปรุ่นล่าสุดคือ 18A และ 18 angstom ได้ภายในปี 2025

ด้วยการลงทุนนี้ Intel วางแผนที่จะชิงตำแหน่งผู้นำผู้ผลิตชิประดับสูงกลับมา หลังขาดการพัฒนา และพ่ายแพ้ให้กับอันดับหนึ่ง คือ TSMC และ อันดับสองคือ Samsung ที่ปัจจุบันกินส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกรวมกว่า 70% โดย Intel ตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นผู้ผลิตชิปอันดับสองรองจาก TSMC ให้ได้ภายในปี 2030

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้เงินทุนก้อนใหญ่ Intel ก็ไม่ได้อยู่ในภาวะที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่งนัก เพราะ TSMC และ Samsung ก็ได้รับเงินทุนสำหรับการเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในสหรัฐฯ จาก CHIPS Act เหมือนกัน โดยในปัจจุบัน TSMC กำลังจะก่อสร้างโรงงานมูลค่าถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในรัฐแอริโซนา ขณะที่ Smasung กำลังจะสร้างโรงงานมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในรัฐเท็กซัส

นอกจากนี้ TSMC ยังมีการขยายธุรกิจไปยังหลายประเทศ ไม่ใช่แค่ในสหรัฐฯ โดยเมื่อเร็วๆ นี้ TSMC ก็เพิ่งได้รับเงินทุนถึง 1.2 ล้านล้านเยนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในการเข้าไปเปิดโรงงานผลิตชิปสองแห่งในเมืองคุมาโมโตะ ขณะที่ Samsung และ Micron ได้รับเงินสนับสนุนมากกว่า 40% ของเงินลงทุน

ดังนั้น เส้นทางการขึ้นเป็นเบอร์สองด้านการผลิตชิปของ Intel จึงนับได้ว่าไม่น่าจะราบรื่นนัก และทางเดียวที่ Intel จะสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดมาจากคู่แข่งได้ก็คือ การเอาชนะด้วยนวัตกรรม และคิดค้นเทคโนโลยีผลิตชิปให้มีสมรรถภาพเท่ากับเทคโนโลยีของ TSMC ซึ่งก้าวหน้าไปจนถึงขั้นสามารถผลิตชิปขนาดเล็กเพียง 4 นาโนเมตร ได้แล้ว

 

 

ที่มา: Nikkei Asia





advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT