ธุรกิจการตลาด

สรุปดราม่า Hybe ซื้อหุ้น SM เมื่อศึกในบริษัทเปิดช่องให้คู่แข่งแทรกแซง

13 ก.พ. 66
สรุปดราม่า Hybe ซื้อหุ้น SM เมื่อศึกในบริษัทเปิดช่องให้คู่แข่งแทรกแซง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวงการ K-Pop หรือวงการเพลงป็อปเกาหลีเป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเกาหลี เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งในวงการที่เผยแพร่ soft power ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา อาหาร และสกินแคร์แล้ว ยังมีมูลค่าการส่งออกที่สูงถึงประมาณ 680 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2020

จากการสำรวจในปี 2021 ของ Statista ยังพบว่า คนส่วนมากทั่วโลกรู้สึกว่า K-Pop เป็นแนวดนตรีที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักกันเพียงในหมู่แฟนคลับ แต่เป็นแนวเพลงที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนทั่วไปแล้ว เหมือนแนวเพลงอื่นๆ เช่น ป็อป ร็อค ฮิปฮอป บ่งบอกว่า K-Pop เป็นแนวเพลงที่นอกจากจะได้รับความนิยมแล้ว ยังมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง จนคนจดจำสไตล์การทำดนตรีแนวนี้เป็นแนวดนตรีใหม่

เพราะฉะนั้น ในประเทศเกาหลีใต้ ค่ายเพลง K-Pop จึงมีอิทธิพลอย่างมากในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ 4 ค่ายเพลงใหญ่ที่แทบจะกุมส่วนแบ่งตลาด K-Pop ไว้ทั้ง 100% อย่าง Hybe Corporation, SM Entertainment, JYP Entertainment และ YG Entertainment ที่ต่างก็กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อผลิตกลุ่มไอดอล และเพลงออกมาครองใจผู้ฟังทั่วโลก

แต่เมื่อไม่นานมานี้ ได้เกิดดีลใหญ่สะท้านวงการระหว่าง Hybe Corporation และ ‘อีซูมาน’ ผู้ก่อตั้ง SM Entertainment ขึ้น เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ขึ้น เมื่อทั้งสองได้ส่งเอกสารให้กับกลต.เกาหลีใต้ว่า Hybe ได้ซื้อหุ้นถึง 14.8% จาก อีซูมาน ในมูลค่าถึง 4.22 แสนล้านวอน หรือราว 1.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ปัจจุบันค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ในขณะนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดของค่ายเพลงมีมูลค่าเป็นอันดับ 2 ด้วย

งานนี้ ทำไมผู้ก่อตั้งและอดีตโปรดิวเซอร์ค่ายใหญ่ที่ถือได้ว่าเป็น “Grandfather of K-Pop” หรือผู้ให้กำเนิด K-Pop ถึงยอมขายหุ้นให้คู่แข่งสำคัญ และวงการ K-Pop จะเป็นอย่างไรต่อไป ทีมข่าว Spotlight  สรุปให้อ่านกัน

486422

 

รอยร้าวที่เกิดจากความไม่พอใจของนักลงทุนรายย่อย

ในวงการ K-Pop ชื่อของ ‘อีซูมาน’ ถือได้ว่าเป็นตำนานแห่งวงการ เพราะเขาเป็นคนที่ตั้งค่ายเพลงที่เริ่มผลิตศิลปิน และเพลงแนวเคป็อปอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันเป็นแห่งแรกของเกาหลี 

โดยหลังจากจบการศึกษาที่สหรัฐฯ เขาก็กลับมาเปิดสตูดิโอค่ายเพลงในชื่อ SM Studio ที่ย่านอัปกูจอง ในประเทศเกาหลี ก่อนจะขยายบริษัทเป็น SM Entertainment ในปี 1995 และทำงานเดบิวต์ศิลปินชื่อดังเป็นจำนวนมากที่ถือได้ว่าเป็นต้นธารของกระแส K-Pop ไม่ว่าจะเป็น H.O.T., TVXQ หรือดงบังชินกิ และ Super Junior บอยแบนด์ที่โด่งดังไปทั่วเอเชียรวมถึงไทยในยุค y2k, Girls’ Generation ตำนานเกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติ จนมาถึง Red Velvet, NCT, และ Aespa ซึ่งเป็นศิลปินแถวหน้าของวงการ K-Pop ในปัจจุบัน

ซึ่งเมื่อทำงานปั้นศิลปินมานาน เขาก็เริ่มวางมือในด้านการบริหารและกำหนดทิศทางบริษัทไปในช่วงปี 2005 ที่ ‘คิมยองมิน’ ซีอีโอคนที่ 3 เข้ามารับตำแหน่ง แต่ก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ SM และได้รับความเคารพในฐานะผู้ก่อตั้งอยู่ โดยปัจจุบันเขาปล่อยให้หลานชายคือ ‘อีซองซู’ และ ‘ทัคยองจุน’ เป็นซีอีโอบริหารร่วมกันอยู่ 

อย่างไรก็ตาม ถึงภายนอก SM จะสามารถบริหารงานมาได้อย่างราบรื่น ภายในกลับมีศึกความขัดแย้งของของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายฝ่าย จากทั้งฝั่งของผู้บริหารชุดปัจจุบัน นักลงทุนรายย่อยของ SM และ อีซูมาน ซึ่งนี่เป็นเพราะนักลงทุนรายย่อยไม่พอใจที่อีซูมานตั้งบริษัท Like Planning ซึ่งเป็นบริษัทส่วนตัวขึ้นมา และจัดการให้ SM เซ็นสัญญาใช้บริการด้าน production จากบริษัทนี้ ทำให้รายได้ของ SM จำนวนมากหลั่งไหลไปอยู่กับบริษัทดังกล่าวและตัวอีซูมาน โดยในครึ่งปีแรกของ 2022 อีซูมานกวาดกำไรของ SM ไปทั้งหมด 1.14 หมื่นล้านวอน หรือประมาณ 30% ของกำไรทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่พอใจเพราะทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนลดลง

เพื่อประท้วงการกระทำดังกล่าว กองทุน “Align Partners Capital Management” หรือ Align Partners ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น 1% ใน SM Entertainment และตัวแทนของผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัท จึงได้ยื่นจดหมายประท้วงให้บอร์ดบริหาร SM จัดการให้การจัดการภายในมีความโปร่งใสกว่านี้โดยด่วน ไม่เช่นนั้นจะดำเนินการทางกฎหมาย

ด้วยเหตุนี้ ทางทีมผู้บริหารปัจจุบันจึงต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยการพยายามลดอำนาจของ อีซูมานในบริษัทลง ซึ่งทางบอร์ดบริหารได้ทำ 2 ทางด้วยกันก็คือ 

  1.  การเปิดแผนดำเนินธุรกิจแบบ SM 3.0 ที่มุ่งกระจายศูนย์โปรดักชั่นให้การผลิตเพลงและสื่อคอนเทนต์ต่างๆ มีความรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะกระจายอำนาจจากอีซูมานซึ่งในปัจจุบันยังกุมอำนาจสำคัญในการกำหนดทิศทางของงานเพลงและศิลปิน
  2. การดึง Kakao Corporation เข้ามาบริหาร SM โดยการขายหุ้น 9.05% ให้ Kakao ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ซึ่งทำให้ Kakao กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 2 ของ SM โดย Kakao Corp นี้เป็นบริษัทเทคโนโลยีเจ้าของแพลตฟอร์มบันเทิงครบวงจรของคนเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นแอพพลิเคชั่นแชท Kakao Talk แพลตฟอร์มสตรีมเพลง Melon Music และบริษัทย่อยด้านการทำเพลง คือ Kakao M ที่ดูแลต้นสังกัดของศิลปินดังอย่าง IU อยู่

 

อีซูมานโต้กลับ ดึง Hybe Corporation มาคานอำนาจ

แน่นอนว่าเมื่อเจอทีมผู้บริหารและหลานชายแท้ๆ พยายามเลื่อยขาเก้าอี้แบบนี้ อีซูมานก็ไม่รอช้า ตกลงขายหุ้นที่ตัวเองถือถึง 14.8% ให้กับ Hybe Corporation เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ส่งบริษัทคู่แข่งขึ้นไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในบริษัท โดยหวังว่า Hybe ที่อีซูมานน่าจะไปดีลเอาสิ่งที่ตัวเองน่าจะได้ประโยชน์มาแล้ว จะปกป้องผลประโยชน์ของกันและกันอย่างที่ตกลงกันไว้ เพราะปัจจุบัน อีซูมานเหลือหุ้นอยู่ในบริษัทเพียง 3.66% เท่านั้น ทำให้ถ้าถูก Hybe ทรยศอีก อีซูมานก็แทบไม่เหลืออะไรแล้ว

นอกจากนี้ Hybe Corporation ยังมีแผนที่จะทำ tender offer หรือการเสนอซื้อหุ้นจากนักลงทุนรายอื่นอีก 25% ด้วยการให้ราคาพรีเมียมสูงกว่าตลาด สูงสุด 120,000 วอนต่อหุ้น ซึ่งถ้า Hybe ทำสำเร็จ รวมแล้ว Hybe จะมีหุ้นรวมเกือบถึง 40% ใน SM Entertainment ซึ่งจะทำให้ Hybe มีอำนาจในการควบคุมทิศทางของบริษัทคู่แข่งไปโดยปริยาย

ซึ่งหลังจากดีลนี้ถูกเปิดเผยออกมา ทางทีมผู้บริหารของ SM ก็ออกมาตอบโต้ในวันเดียวกันเลยว่าการเป็นพันธมิตรกับ KaKao Corp เป็นเพียงเพื่อการปฏิรูปองค์กรภายใต้แผน SM 3.0 และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทด้านการแย่งสิทธิการบริหารตามที่ อีซูมาน กล่าวอ้าง นอกจากนี้ทางบริษัทยังมองว่าการเข้าซื้อหุ้นของ Hybe ยัง “เข้าข่ายมีเจตนาเข้าควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ” ซึ่งเป็นสิ่งที่ Hybe ทำมาแล้วกับหลายค่ายเล็กอย่าง Pledis Entertainment และ KOZ Entertainment เพียงแต่ไม่เคยเล่นกับค่ายใหญ่เจ้าพ่อวงการระดับ SM Entertainment มาก่อน

โดยในเอกสารที่ยื่นให้กับกลต. Hybe กล่าวว่า ข้อตกลงระหว่าง Hybe กับ อีซูมานมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และรุกตลาดอุตสาหกรรมดนตรีโลกอีกเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายๆ คนมองว่าสาเหตุที่ทำให้ Hybe กำลังมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ อยู่ตอนนี้ก็ คือ BTS ซึ่งผู้ผลิตรายได้ 80-90% ของ Hybe กำลังจะทยอยเข้ากรมรับใช้ชาติ ทำให้ Hybe ต้องรีบปั้นเด็กใหม่ และกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุนอย่างเร่งด่วน

เมื่อผลมาลงแบบนี้แล้ว ก็น่าติดตามดูกันต่อไปว่า สุดท้ายฝ่ายใดจะเป็นผู้ได้ครองอำนาจนำใน SM Entertainment เพราะถึงแม้ Hybe จะเสนอ tender offer ในราคาที่ค่อนข้างสูง หาก Kakao จะเข้ามาเสนอราคาสู้ก็ย่อมทำได้ หากต้องการจะทำ เพราะ Kakao ก็เป็นบริษัทที่ใหญ่และมีอิทธิพลต้นๆ ของเกาหลีใต้ จนเรียกได้ว่า เป็นแชโบลของธุรกิจอินเตอร์เน็ต โดยปัจจุบันในวันที่ 13 กุมภาพันธ์มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 3 หมื่นล้านวอน หรือราว 8 แสนล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่ามูลค่าตลาดของทั้ง Hybe และ SM รวมกันเสียอีก

 

 

ที่มา: Statista, Infostockdaily, Reuters 

 

advertisement

SPOTLIGHT