ธุรกิจการตลาด

PTT รุกธุรกิจ 'โลจิสติกส์' ครบวงจร ทุ่ม 230 ล้านบาท

6 ต.ค. 65
PTT รุกธุรกิจ 'โลจิสติกส์' ครบวงจร ทุ่ม 230 ล้านบาท

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า คณะกรรมการบริษัท สยาม แมนเนจเมนท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอของ ปตท. มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) โดย SMH ถือหุ้นสัดส่วน 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท

โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ โดยเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศไทย รวมถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยมีบริการหลัก อาทิ การขนส่งสินค้าทางราง ทางทะเล ทางบกและทางอากาศ การบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็น รวมถึงการบริหารและให้เช่าทรัพย์สินสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์

ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ให้กับผู้ประกอบการ โดยการจัดตั้งงบริษัทของ ปตท. ดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท. ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ดังกล่าวแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565

ทั้งนี้มีการรวบรวมตัวเลขว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดโลจิสติกส์อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นธุรกิจขนส่งพัสดุมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยปี 2565-2567 เติบโตเฉลี่ยราว 11% ต่อปี

 

จำนวนธุรกิจรายใหม่ 'โลจิสติกส์' พุ่ง-ต่างชาติแห่ลงทุนเพิ่ม

780692

 

ด้านสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงาน ข้อมูลว่า ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 36,733 ราย โดยเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดกิจการใหม่จำนวน 4,411 ราย เพิ่มขึ้น 34.1 เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจโลจิสติกส์ 48,743.73 ล้านบาท หรือสัดส่วน 10.2% ของการลงทุน โดยในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด

โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก ของจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดใหม่ทั้งหมด

  1. การอำนวย ความสะดวกของท่าเรือ มีสัดส่วน 14.2%
  2. การขนส่งทางระบบท่อลำเลียง มีสัดส่วน 11.7%
  3. ตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร มีสัดส่วน 11.4%

ด้านธุรกิจการขนส่งทางบกและธุรกิจรับส่งพัสดุ มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีจำนวนธุรกิจเปิดใหม่ รวม 3,666 ราย เติบโต 34.68% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาดว่ามีปัจจัยจากพฤติกรรมการรักษาระยะห่างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดการเคลื่อนที่ของบุคคล และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ของสินค้าทั้งห่วงโซ่เพิ่มขึ้น

สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจในหมวดการขนส่งทางบก ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) และธุรกิจประเภทไปรษณีย์และการรับส่งพัสดุภัณฑ์ ที่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภค (Business-to-Customer: B2C) รวมถึงธุรกิจขนส่งสินค้าขั้นสุดท้าย (Last-Mile Delivery) ที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2564 มีมูลค่า 17.09 ล้านล้านบาท ไทยพึ่งพาการขนส่งทางเรือเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 67.2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย เติบโต 28.8% มีสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และชิ้นส่วนรถยนต์ รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ คิดเป็นสัดส่วน 21.7% เติบโต 13.3% มีสินค้าสำคัญ

ได้แก่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งทางถนน คิดเป็นสัดส่วน 10.9% เติบโต 32.7% มีสินค้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์บันทึกเทป และยางธรรมชาติ และการขนส่งทางราง คิดเป็นสัดส่วน 0.1% เติบโต 34.8% สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และแผ่นไม้อัด โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ จีน เป็นอันดับหนึ่งในทุกรูปแบบการขนส่ง

ปัจจุบัน ภาคโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้น และยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน จำพวกทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งเป็นโอกาสของการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ด้วย สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการส่งออกของไทย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT