หลังจากการเปิดตัวของ ‘วัน แบงค็อก’ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา กระแสของแลนด์มาร์คระดับโลกในกลางกรุงเทพฯ แห่งนี้ ยังถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่อง มีสำนักงานออฟฟิศยักษ์ใหญ่ และแบรนด์ชั้นนำระดับโลก ที่ทยอยเปิดตัวอย่างเป็นทางการในที่แห่งนี้
เปิดตัว Starbucks Reserve One Bangkok ร้านกาแฟสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดในไทย
หนึ่งในนั้น คือ ‘Starbucks ประเทศไทย’ ที่ได้เปิดตัว ‘Starbucks Reserve One Bangkok’ ในฐานะร้านกาแฟสีเขียว หรือ ‘Greener Store’ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยพื้นที่กว่า 860 ตารางเมตร รวมถึง เป็นร้านแฟลกชิพแห่งที่ 4 ของ Starbucks ประเทศไทย
หนึ่งในจุดเด่นของร้านกาแฟสีเขียวสาขานี้ คือ การให้บริการด้วยเครื่องชงกาแฟเอสเพรสโซ่สุดพิเศษ ‘Starbucks OVISO™’ ที่มีการออกแบบให้ตัวเครื่องซ่อนอยู่ด้านล่าง ทำให้ลูกค้าและคอฟฟี่มาสเตอร์ได้มีปฏิสัมพันธ์กันได้สะดวกในระหว่างการชงกาแฟ ตั้งแต่การเลือกเมล็ดกาแฟไปจนถึงการได้เห็นกระบวนการชงเครื่องดื่ม
Starbucks Reserve One Bangkok ได้รับการออกแบบในคอนเซปต์ ‘Third Place’ หรือบ้านหลังที่สามที่ต้อนรับผู้คนหลากหลายให้สามารถมาแลกเปลี่ยนเรื่องราว และผ่อนคลายผ่านแก้วกาแฟอันน่าประทับใจ ด้วยดีไซน์ภายในร้าน ที่แสดงถึงวัฒนธรรมไทย ท่ามกลางฉากหลังที่มีชีวิตชีวาของกรุงเทพฯ รวมถึงแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Starbucks กับชุมชนท้องถิ่น และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
เนตรนภา ศรีสมัย กรรมการผู้จัดการ Starbucks ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่ใน Starbucks Reserve One Bangkok เป็นมากกว่า ‘ร้านกาแฟ’ ด้วยการนำค่านิยมของแบรนด์ มาร่วมกับศิลปะท้องถิ่น ร้านกาแฟสีเขียวแห่งนี้ คือ ส่วนหนึ่งของคำมั่นสัญญาในการเสิร์ฟกาแฟคุณภาพเยี่ยม และยังสร้างประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมด้วย
โดย Greener Store แห่งนี้ เป็นร้านกาแฟสีเขียวที่ได้รับการออกแบบตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ในการอนุรักษ์น้ำ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดขยะ และการใช้วัสดุอย่างรับผิดชอบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้น้ำ และขยะฝังกลบลง 50% ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ภายในสาขายังมีจุดรีไซเคิลขยะครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ระบบการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโครงการ วัน แบงค็อกในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
จุฑาทิพย์ เก่งมานะ ผู้จัดการด้านผลกระทบทางสังคมและความยั่งยืน Starbucks ประเทศไทย กล่าวว่า ร้านนี้เป็นสาขาแรกที่มี ‘Condiment Bar’ เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าล้างแก้ว และเทเครื่องดื่มที่เหลือทิ้ง พร้อมทิ้งขยะในที่ที่เหมาะสม ตอกย้ำถึงแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเป็นแรงขับเคลื่อนความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่สำคัญของร้าน Starbucks ทั่วทั้งประเทศไทย
พื้นที่แสดงวัฒนธรรมกาแฟจากภาคเหนือของไทยและศิลปะท้องถิ่น
การออกแบบภายใน Starbucks Reserve One Bangkok ทั้งสองชั้น ได้รับแรงบันดาลใจจากทิวเขาที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกกาแฟในภาคเหนือของไทย ที่อยู่ของชุมชนชาวเขาที่มีชีวิตชีวา จนกลายเป็นแนวคิดการออกแบบ เรือนยอดไม้ใหญ่ หรือ ‘Tree Top Canopy’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ใช้ในการเพาะปลูกกาแฟ
โดยชั้นแรกของร้าน เป็นตัวแทนของต้นกาแฟ ซึ่งอุทิศให้กับการชงและเสิร์ฟกาแฟ ส่วนชั้นบนสะท้อนถึงเรือนยอดไม้ มีพื้นที่นั่งเล่นในบรรยากาศผ่อนคลายให้กับลูกค้าเพื่อพูดคุยกันและพักผ่อน ในขณะที่ภายในร้าน ตกแต่งด้วยงานศิลปะจากศิลปินชาวไทย เพื่อเฉลิมฉลองวัฒนธรรมกาแฟของไทย
ผลงานที่โดดเด่น คือ สิ่งทอบนเพดานร้าน โดย Ease Studio และ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในห้องประชุมที่ถ่ายทอดถึงความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคสำคัญที่ปลูกกาแฟ ทั้งละตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชียแปซิฟิก ได้รับการรังสรรค์โดยภาวิษา มีศรีนนท์ หรือ PABAJA
เสริมความสวยงามด้วยผนังอิฐอันเป็นเอกลักษณ์ ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจากภูมิทัศน์ที่ปลูกกาแฟของภาคเหนือในประเทศไทย และสถาปัตยกรรมอิฐอันโดดเด่น ผนังมีลัษณะเป็นขั้นบันไดที่โดดเด่นด้วยลวดลายของอิฐที่ถูกจัดวางอย่างพิถีพิถัน ทำให้เกิดการมองเห็นหลากหลายมิติ เปลี่ยนแปลงไปตามมุมมองของผู้ชม
ส่วนผนังอิฐบริเวณชั้นล่าง สะท้อนภาพนาขั้นบันไดอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ เมื่อลูกค้าเดินขึ้นไปชั้นบนจะรู้สึกเสมือนเดินขึ้นไปบนนาขั้นได เมื่อขึ้นไปถึงชั้นบนลูกค้าจะพบกับงานก่ออิฐซึ่งแสดงให้เห็นทิวทัศน์อันงดงามของดอยอินทนนท์ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย
ธนาศักดิ์ กุลรัตนรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Starbucls ประเทศไทย เผยว่า เบื้องหลังการออกแบบของ Starbucks Reserve One Bangkok ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมกาแฟอันหลากหลายของภาคเหนือของไทย และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของทำเลใจกลางเมืองนี้ ซึ่งสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของ Starbucks ในการเชื่อมต่อผู้คน ผ่านกาแฟที่มีคุณภาพท่ามกลางพื้นที่ที่มีความสวยงาม
อนาคตของ Starbucks ประเทศไทย
สำหรับ Starbucks ประเทศไทย ปี 2567 ตั้งเป้าไวที่ 522 สาขา โดยเฉลี่ยเปิดสาขาเพิ่มที่ปีละ 30 สาขา เนื่องจากประเทศไทยมีตลาดกาแฟที่คึกคัก และมีศักยภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน ทำให้สามารถขยายได้อีกจำนวนมาก สะท้อนจากการเปิดตัวร้าน Starbucks 3 สาขา ภายใน วัน แบงค็อก
ส่วนการเลือกเปิดสาขาในพื้นที่ต่างๆ ‘เนตรนภา’ และ ‘ธนาศักดิ์’ เผยว่า ทางแบรนด์ไม่ได้มีสูตรตายตัว มีการเลือกพื้่นที่ ที่หลากหลาย โดยจะเน้นไปที่ความต้องการ และการตอบสนองกับสินค้าของคนภายในชุมชนหรือพื้นที่นั้นๆ
นอกจากนี้ ยังได้นำข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ เพื่อสำรวจว่า คนตรงนั้นต้องการอะไร สิ่งอำนวยความสะดวกแบบไหน? ต้องการห้องประชุมหรือไม่? โต๊ะที่มีความสูงจะจำเป็นหรือเปล่า? รวมไปถึงการดีไซน์ให้แต่ละสาขามีความแตกต่างกัน ให้เข้ากับภาพลักษณ์ของโครงการในพื้นที่นั้นๆ และวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย
ส่วนหลังจากที่ ‘ไบรอัน นิคโคล’ (Brian Niccol) เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ Starbucks คนล่าสุด ในเบื้องต้นยังไม่มีผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีเพียงการเน้นย้ำให้สร้างประสบการณ์ และการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า รวมถึงเน้นย้ำประเด็นของความยั่งยืน ซี่งทั้งหมดนี้ Starbucks ประเทศไทยก็ทำมานานแล้ว