ธุรกิจการตลาด

ปี 66 ประกันสุขภาพคุ้มครองโรคร้ายสุดฮิต ปีนี้เล็งนำ AI มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์

21 ก.พ. 67
ปี 66 ประกันสุขภาพคุ้มครองโรคร้ายสุดฮิต ปีนี้เล็งนำ AI มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์

ปี 2566 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันชีวิตไทยสามารถเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจ โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมแตะ 633,445 ล้านบาท เติบโต 3.61% สาเหตุหลักมาจากอะไรเราไปหาคำตอบกัน

ปี 66 ประกันสุขภาพคุ้มครองโรคร้ายสุดฮิต ปีนี้เล็งนำ AI มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ปี 67 เบี้ยประกันชีวิตมีแนวโน้มเติบโต 2-4%

ภาพรวมปี 2566 สมาคมประกันชีวิตไทยเปิดเผยว่า เบี้ยประกันภัยรับรวมแตะ 633,445 ล้านบาท เติบโต 3.61% โดย ประกันสุขภาพและคุ้มครองโรคร้ายแรง กลายเป็นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและเติบโตสูงสุดในปี 2566 โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 109,786 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 5.93% คิดเป็นสัดส่วน 17.33% ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งหมด

ปัจจัยหลัก ที่ขับเคลื่อนการเติบโตนี้ มาจาก ความใส่ใจสุขภาพ ของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น และการตระหนักถึงความสำคัญของประกันสุขภาพ เพื่อบริหารความเสี่ยงและรับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมากเช่นกัน สาเหตุหลักๆ มาจาก ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย อย่างเต็มตัว รวมทั้งประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณ มากขึ้ และ ประกันชีวิตแบบบำนาญ นอกจากจะเป็นรูปแบบการออมประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำแล้ว ยังมีข้อดีอื่นๆ เช่น สิทธิความคุ้มครองชีวิต และสิทธิการลดหย่อนภาษี ที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุน 

ทำให้ในปี 66 ที่ผ่านมาเบี้ยประกันภัยรับรวมของประกันชีวิตแบบบำนาญอยู่ที่ 17,986 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14.26% คิดเป็นสัดส่วน 2.84% ของเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งหมด

ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตปี 66

เบี้ยประกันภัยรับรวมแตะ 633,445 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 178,470 ล้านบาท เติบโต 5.06% และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 454,975 ล้านบาท เติบโต 3.06% สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วย

เบี้ยประกันภัยรับปีแรก 112,377 ล้านบาท เติบโต 6.83% ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงิน

เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว 66,093 ล้านบาท เติบโต 2.18% เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความคุ้มครองสูงในระยะเวลาสั้นๆ และ เมื่อพิจารณาตามช่องทางการจำหน่าย พบว่า

  • ตัวแทนประกันชีวิต ยังคงเป็นช่องทางหลักที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 338,920 ล้านบาท เติบโต 4.21% คิดเป็น 53.50% ของเบี้ยประกันภัยรับรวม
  • ธนาคาร 239,112 ล้านบาท เติบโต 1.41% คิดเป็น 37.75%
  • นายหน้าประกันชีวิต 30,808 ล้านบาท เติบโต 16.19% คิดเป็น 4.86%
  • ด้านดิจิทัล 1,930 ล้านบาท เติบโต 11.07% คิดเป็น 0.30% ช่องทางนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล
  • ช่องทางอื่น 22,676 ล้านบาท เติบโต 2.58% คิดเป็น 3.58%

ปี 67 เบี้ยประกันชีวิตมีแนวโน้มเติบโต 2-4%

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2567 อยู่ที่ 2.0 - 4.0% สอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) คาดการณ์ไว้ที่ 2.2 - 3.2% หนุนโดยเทรนด์รักสุขภาพ ประชาชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของ

  • ประกันสุขภาพ ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลที่สูงขึ้น จากการตระหนักถึงผลกระทบของโรคอุบัติใหม่ เช่น โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ มลภาวะฝุ่น PM 2.5 และค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพและทำประกันสุขภาพมากขึ้น
  • ประกันชีวิตควบคู่การลงทุน ที่ช่วยสร้างผลตอบแทนระยะยาว เนื่องจาก ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
  • ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่ช่วยออมเงินและสร้างความมั่นคงทางการเงิน

เทคโนโลยี จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันชีวิตในปี 2567

จาก นโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี ของภาคธุรกิจ เช่น AI และ Data Analytics เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และสนับสนุนทุกกระบวนการในธุรกิจประกันชีวิต ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ การเสนอขาย การพิจารณารับประกันภัย การพิจารณาสินไหม ไปจนถึงการส่งมอบบริการและธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัย

โดย AI จะถูกนำมาใช้เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า ด้าน Data Analytics จะช่วยให้บริษัทประกันภัยเข้าใจความเสี่ยงได้ดีขึ้น กำหนดราคาเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม และบริหารจัดการกรมธรรม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาคมประกันชีวิตไทย มุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคและสนับสนุนนโยบายภาครัฐ

ธุรกิจประกันชีวิตไทยมีแนวโน้มเติบโตในปี 2567 ขับเคลื่อนโดยเทรนด์รักสุขภาพ สังคมสูงวัย และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT