ธุรกิจการตลาด

เปิด 4 เคสตัวอย่าง 'Horizontal Merger' กลยุทธ์จับมือคู่แข่งเพื่อผลประโยชน์

25 ก.ค. 66
เปิด 4 เคสตัวอย่าง 'Horizontal Merger' กลยุทธ์จับมือคู่แข่งเพื่อผลประโยชน์

หากมองอย่างผิวเผิน การร่วมมือกับคู่แข่ง หรือคนที่เรามีความเห็นแตกต่าง อาจจะเป็นเรื่องที่ขัดกับสามัญสำนึก เพราะคงไม่มีใครอยากจับมือกับศัตรูที่เคยแข่งกันมาก่อน แต่แท้จริงแล้วในโลกธุรกิจ หรือการตกลงในเรื่องใดก็ตามที่มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง การร่วมมือกับคู่แข่ง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเกิดขึ้นบ่อยแทบจะพอๆ กับการห้ำหั่นสู้กันเพื่อแย่งผลประโยชน์ แย่งชิงก้อนเค้ก โดยเฉพาะการร่วมมือในระดับองค์กร หรือบริษัท ในระดับเดียวกัน

อย่างในตอนนี้เอง ในโลกการเมืองก็เหมือนจะมีการจับมือของขั้วตรงข้าม เพื่อผลประโยชน์บางอย่างเหมือนกัน เมื่อ ‘พรรคเพื่อไทย’ เข้าไปพูดคุยหารือกับพรรค อันดับ 3 และพรรคฝั่งตรงข้ามอย่าง ‘พรรคภูมิใจไทย’ เพื่อหาเสียงตั้งรัฐบาล หลังพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 อย่าง ‘พรรคก้าวไกล’ ยังไม่สามารถรวบรวมเสียงโหวตสนับสนุนให้เกินกึ่งหนึ่งของสภาได้ 

นี่เอง ทำให้มีคนตั้งข้อสังเกตว่า งานนี้ฝั่งประชาธิปไตยอาจจะต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง และยอมจับมือกับฝั่งตรงข้าม เพื่อให้ประเทศข้ามผ่าน gridlock ทางการเมืองนี้ไปได้ เพราะถ้าหากไม่ยอมก็คงต้องยักแย่ยักยันกันแบบนี้ไม่ได้ไปไหน เพราะแม้อีกฝั่งจะแพ้การเลือกตั้ง ก็ยังมีอำนาจในสังคม และมีเสียงในสภาไว้คานอีกฝั่งพอสมควร

เช่นเดียวกับการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ในโลกการเมือง ในโลกธุรกิจก็มีการร่วมมือกันของบริษัทคู่แข่งในรูปแบบเดียวกัน โดยมีชื่อ เรียกว่า ‘การรวมกิจการในแนวราบ’ หรือ ‘Horizontal Merger’ หรือก็คือการรวมกิจการที่ทำธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน และในรูปแบบเดียวกัน เช่น การรวมกิจการของทรูและดีแทคในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย หรือการรวมกันของธนาคารทหารไทยและธนชาตจนเกิดมาเป็น ttb ในอุตสาหกรรมการเงินของไทย ซึ่งเป็นการรวมกันของบริษัทที่ทำธุรกิจแบบเดียวกันทั้งสิ้น

690556

ทำไมบริษัทใหญ่จึงอยากรวมกิจการกัน?

ตามหลักการ การรวมกิจการในลักษณะเดียวกันสามารถสร้างประโยชน์ ข้อได้เปรียบทางธุรกิจ และเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทร่วมดีลในหลายๆ ทางด้วยกัน อาทิ

  1. ช่วยขยายส่วนแบ่งตลาด และลดการแข่งขันในอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทมีอำนาจในการต่อรอง และมีอำนาจเหนือลูกค้ามากขึ้นในการกำหนดราคา
  2. ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพราะการควบรวมอนุญาตให้ทั้งสองบริษัทนำทรัพยากรทั้งเงินทุน ทั้งบุคลากร และอุปกรณ์ รวมถึง นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีมารวมกันเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ และทำให้มี economy of scale ที่ทำให้บริษัทร่วมกันผลิตสินค้าได้ในปริมาณมากขึ้น ช่วยต้นทุน และมีความได้เปรียบด้านราคา และการทำกำไร
  3. สร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ ทำให้บริษัทเจาะกลุ่มลูกค้าได้กว้างยิ่งขึ้น และยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่อาจทำให้บริษัทเสียความสามารถในการสร้างรายได้ หรือกำไรในบางภาคส่วน

ด้วยข้อดีที่จะได้จากการรวมกิจการเหล่านี้ บางบริษัท โดยเฉพาะบริษัทเบอร์สองและเบอร์สามในอุตสาหกรรมที่ถ้าหากอยู่เดี่ยวๆ อาจจะไม่มีศักยภาพในการสู้กับบริษัทเบอร์หนึ่งที่ครองตลาดได้ จึงต้องมองหาโอกาส หาลู่ทางในการขยายธุรกิจอยู่เสมอ ด้วยการหาพันธมิตรเข้ามาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจผ่านรวมกิจการกับบริษัทเบอร์รองๆ ด้วยกัน

โดยเคสตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในกรณีนี้ น่าจะเป็นการควบรวมของทรูและดีแทค ที่ทำให้บริษัทที่เกิดจากรวมกันของ ทั้งคู่มี ทั้งส่วนแบ่งตลาดของบริการโทรศัพท์ และบริการอินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์ มากกว่าอดีตผู้ครองตลาดอันดับ 1 อย่าง AIS ทันที โดยไม่ต้องเสียเวลาค่อยๆ ขยายธุรกิจ และสรรหาวิธีมาดึงลูกค้าจากคู่แข่งเหมือนที่เคยทำมา

 

ปัญหาและข้อเสียของการรวมกิจการ

แม้การรวมกิจการจะเป็นวิธีที่ธุรกิจใช้เพิ่มอำนาจในตลาดได้ดี แต่การรวมกิจการในรูปแบบนี้ ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดี เพราะมันอาจสร้างปัญหาให้ได้ ทั้งตัวบริษัทที่พยายามควบรวมเอง และตัวผู้บริโภค

ในส่วนของปัญหาที่ ‘บริษัท’ อาจจะได้เจอในระหว่างการควบรวมกิจการ คือ วัฒนธรรมการทำงาน หรือวิธีการทำงานของทั้ง 2 บริษัทที่อาจจะเข้ากันไม่ได้ จนต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้ทั้งฝ่าย

นอกจากนี้ เนื่องจากเป็นการรวมของบริษัทที่ทำธุรกิจเหมือนกัน อาจทำให้บริษัทต้องตัดบริการหรือพนักงานที่ทำงานซ้ำซ้อนออก อย่างในเคสการรวมธุรกิจธนาคารทหารไทยและธนชาตเอง ก็ต้องมีการเลย์ออฟพนักงาน และปิดจุดให้บริการบางสาขาออก เพราะเป็นจุดที่ซ้ำซ้อน ทำให้เบ็ดเสร็จแล้ว ttb มีพนักงานทั้งหมดเหลือเพียง 15,000 คน จากทั้งหมด 19,000 คนและเหลือสาขาทั่วประเทศ 682 แห่ง จาก 834 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ธุรกิจต้องเจอคงไม่เท่ากับ ‘ผู้บริโภค’ ที่ต้องเสียผลประโยชน์และอำนาจในการต่อรองอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมีการควบรวมของบริษัทใหญ่ เพราะในระบบทุนนิยม สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถได้รับบริการที่ดีที่สุดในราคาที่เหมาะสมที่สุดได้ ก็คือ ‘ระดับการแข่งขันที่เหมาะสม’ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากการมีจำนวนผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างเหมาะสม ทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องพยายามแข่งกันทั้งด้านคุณภาพและราคาเพื่อดึงใจลูกค้า

ดังนั้น ถ้าหากผู้เล่นในตลาดลดลง ลูกค้าที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการหรือสินค้าเหล่านั้นก็จะเสียเปรียบ เพราะยังไงก็ต้องยอมควักเงินซื้อสินค้าหรือบริการเหล่านั้นถึงแม้บริษัทจะตั้งราคาไว้สูงเกินความเป็นจริงเพื่อเอากำไร 

และในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันแบบนี้เอง จึงน่ากลับมาย้อนมองสถานการณ์ทางการเมืองและตั้งคำถามว่า การต่อรองทางการเมืองเพื่อดึงอำนาจกันอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้นั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดกันแน่

เพราะในขณะที่พรรคการเมืองกำลังทะเลาะกันเพื่อแย่งอำนาจ ประชาชนในประเทศก็กำลังเสียโอกาสในการพัฒนาไปเรื่อยๆ เพราะทั้งนักลงทุนและธุรกิจต่างๆ ต่างก็จับตามองอยู่ว่าประเทศไทยจะมีเสถียรภาพทางการเมืองเมื่อไหร่

นี่ทำให้ปัญหาใหญ่ของเราในขณะนี้อาจจะมาจากการที่นักการเมืองมองสนามการเมืองเป็นสนามธุรกิจ ที่เมื่อตัวเองลงทุนหาเสียงไปตั้งมากมายแล้วต้องได้คืนผ่านการนั่งเก้าอี้สำคัญต่างๆ ในรัฐบาลผ่านการต่อรองหรือจับมือกับคู่แข่ง โดยไม่คิดคำนึงว่าแท้จริงแล้ว หน้าที่หลักของพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่ว่าจะอยู่ขั้วการเมืองไหน คือ การรักษาผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ของตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจะทำตัวเหมือนธุรกิจหรือบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่สามารถตักตวงผลประโยชน์ให้ตัวเองได้อย่างเต็มที่ไม่ได้

ดังนั้น การที่นักการเมืองมองการเมืองเป็นธุรกิจเพื่อแสวงหาประโยชน์ ย่อมส่งผลเสียต่อประชาชนมากกว่าผลดี เพราะถ้าหากพวกเขามองประชาชนเป็นลูกค้าในสมการนี้ ผู้ที่ได้ประโยชน์ที่สุดย่อมไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นตัวพรรคการเมือง ซึ่งก็เปรียบได้กับบริษัทที่พยายามอ้างเสมอว่าทำเพื่อประโยชน์ของลูกค้า แต่แท้จริงแล้วเป้าหมายสูงสุดในทุกกรณี คือ “ทำเพื่อตัวเอง”




advertisement

SPOTLIGHT