ธุรกิจการตลาด

ทำไม'อีแจยง'ถึงขึ้นเป็น CEO ของ Samsung ได้ทั้งที่ติดคุกมาแล้ว 2 ครั้ง

29 ต.ค. 65
ทำไม'อีแจยง'ถึงขึ้นเป็น CEO ของ Samsung ได้ทั้งที่ติดคุกมาแล้ว 2 ครั้ง

หลังจากปล่อยตำแหน่งว่างมา 2 ปี ในที่สุด Samsung บริษัทผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ ก็ได้ประธานกรรมการบริหารคนใหม่อย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมาแล้ว

โดยมี ‘อีแจยง’ (Lee Jae-yong) ทายาทรุ่นที่ 3 ขึ้นมากุมบังเหียนแทน 'อีคุนฮี' (Lee Kun-hee) ผู้เป็นบิดาที่เสียชีวิตไปในปี 2020 แต่ประวัติของเขาคนนี้ไม่ธรรมดา เพราะเขาถูกตัดสิน ‘จำคุกมาแล้ว 2 ครั้ง’ ก่อนขึ้นรับตำแหน่ง

ก่อนหน้านี้ ชื่อ ‘อีแจยง’ หรือที่เป็นที่รู้จักในสื่อฝั่งตะวันตกว่า ‘Jay Y. Lee’ เคยขึ้นพาดหัวข่าวทั่วโลกมาแล้วในปี 2017 หลังจากที่เขามีข่าวเข้าไปพัวพันกับอดีตประธานาธิบดี ‘พักกึนฮเย’ เพราะได้จ่ายสินบนให้กับประธาน สำนักงานบำนาญแห่งชาติเกาหลี (National Pension Service: NPS) ให้ช่วยหนุนการควบรวมบริษัทลูกของ Samsung ที่จะช่วยในการขึ้นรับตำแหน่งของเขา รวมไปถึงให้เงินแก่องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของคนสนิทพักกึนฮเยเพื่อแลกกับแรงสนับสนุนทางการเมือง

000_rt6r3

จากคดีอื้อฉาวเหล่านี้ เขาก็ถูกดำเนินคดีในข้อหาติดสินบน ยักยอกทรัพย์ ปกปิดบัญชีทรัพย์สิน และ การให้พยานเป็นเท็จ ซึ่งสุดท้ายก็มาจบที่เขาถูกตัดสินจำคุก 1 ปี 

แต่หลังจากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 เขาก็ถูกปล่อยตัว หลังจากที่ถูกลดโทษลงกึ่งหนึ่งและระงับโทษในที่สุด ก่อนจะถูกตัดสินจำคุกอีกครั้งในปี 2021 หลังศาลฎีกาตัดสินใจคว่ำคำตัดสินดังกล่าวแล้วพิจารณาตัดสินคดีใหม่ จนทำให้เขาถูกตัดสินสินจำคุกเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือนในปี 2021

ซึ่งนี่ก็เท่ากับว่าภายในเวลาไม่กี่ปี เข้าถูกตัดสินจำคุกไปแล้วถึง 2 ครั้งด้วยคดีเดียวกัน แต่นี่ก็ไม่ใช่จุดจบของการเข้าๆ ออกๆ คุกของเขา

เพราะจำคุกรอบที่สองไปได้ไม่กี่เดือน รัฐบาลของ ‘มุนแจอิน’ ก็อนุญาตปล่อยตัวเขาออกมาภายใต้เงื่อนไขทัณฑ์บน จนล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2022 ที่ผ่านมาก็ได้รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลของ ‘ยุนซอกยอล’ จนกลายเป็นผู้ปราศจากมลทินมัวหมองด้วยประการทั้งปวง

เรียกได้ว่าถึงแม้จะมีคดีติดตัวมากมายเป็นห่างว่าว เขาคนนี้ก็ยังแคล้วคลาดปลอดภัยจนขึ้นมาได้ดิบได้ดี ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ Samsung ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้จนได้ ทำให้เกิดคำถามสำคัญก็คือ ทำไมคนๆ นี้ถึงได้อภิสิทธิ์เหนือกฎหมายมากมายขนาดนี้ในเกาหลีใต้? และทำไม Samsung ถึงยังปล่อยให้คนมีคดีแบบนี้ขึ้นมาบริหารบริษัทอีก?

 

‘ธุรกิจแชโบล’ ยักษ์ที่ใหญ่เกินกว่ารัฐบาลจะปล่อยให้ล้ม

สำหรับคำถามดังกล่าว คำตอบเดียวเลยก็คือ เพราะเขาเป็นทายาทของธุรกิจในกลุ่ม ‘แชโบล’ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนใหญ่ของเกาหลีใต้ในหลายอุตสาหกรรมที่เคยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟู้ประเทศหลังจบสงครามเกาหลี จนเติบใหญ่มาเป็นผู้ผลิต GDP รวมกันถึง 80% ของประเทศในแต่ละปี 

และในกลุ่มบริษัทใหญ่เหล่านี้ Samsung เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุด มีอิทธิพลที่สุด และเป็นผู้ผลิต GDP เกือบ 20% ของประเทศเกาหลี นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหลากหลายนอกจากการผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม บริษัทประกันภัย จนเรียกได้ว่า Samsung เป็นบริษัทที่โครงข่ายใหญ่จนสามารถแทรกซึมเข้าไปในวิถีชีวิตของคนเกาหลีทั่วไปราวกับมีมือ ‘ปลาหมึก’ ที่ชอนไชไปทั่ว

000_32kw2yb

ดังนั้นในสายตาของรัฐบาล ผู้บริหารใหญ่ของบริษัทกลุ่มแชโบลเหล่านี้จึงราวกับเป็นผู้ค้ำชูระบบเศรษฐกิจของทั้งประเทศไว้ ดังนั้นเมื่อกระทำความผิดก็มักได้รับการลดหย่อนโทษ หรือนิรโทษกรรมจากรัฐบาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือกรณีของ ‘อีคุนฮี’ พ่อของเขาที่ก็เคยถูกดำเนินคดีเรื่องการฉ้อโกงกับติดสินบนเช่นกันในช่วงปี 1990s แต่ก็ได้รับการเว้นโทษไม่ต้องติดคุกเลยซักวัน

เพราะฉะนั้น การที่รัฐบาลนิรโทษกรรม แล้วปล่อยให้อีแจยงเข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการบริหารในครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เพราะมันเป็นไปเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจเกาหลีที่ในขณะนี้กำลังย่ำแย่หนักจากทั้งสภาพเศรษฐกิจโลกที่กำลังย่ำแย่ และภาวะเงินเฟ้อ ที่หนักถึงขนาด Samsung เองก็ยังพบว่ากำไรในไตรมาสที่ 3 ของตนลดไปถึง 31%

และที่สำคัญคือนอกจากการสนับสนุนจากทางรัฐบาลแล้ว จากผลการสำรวจระดับชาติ ยังพบว่ามีประชาชนถึง 70% ให้การสนับสนุนการนิรโทษกรรมในเดือนสิงหาคม ซึ่งบ่งบอกได้ดีถึงทัศนคติของคนส่วนมากที่ยังมองว่า Samsung มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และคิดว่าถ้าหาก Samsung ล้ม เกาหลีใต้ก็จะล้มด้วย ถึงแม้นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวบางส่วนจะได้ออกมาต่อต้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศให้พึ่งพากลุ่มทุนใหญ่เหล่านี้น้อยลง

ซึ่งคนในสังคมเกาหลีใต้ก็เหมือนจะได้รับบทเรียนมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อคราวที่เกิดไฟไหม้ที่ศูนย์ข้อมูลของ Kakao Corporation ที่ทำระบบและบริการของ Kakao ล่มไปสิบชั่วโมงเต็ม จนเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง และทำให้คนตั้งคำถามถึงอิทธิพลที่เกินควรของกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศเช่นเดียวกัน

แต่ถึงแม้จะมีคนออกมาต่อต้านและเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลง นักวิชาการบางส่วนก็มองว่าการปรับเปลี่ยนก็น่าจะเป็นเรื่องยากเสียแล้ว เพราะธุรกิจของกลุ่มแชโบลเรียกได้ว่าชอนไชไปทุกแง่มุมชีวิตของคนเกาหลีใต้ จนถ้ารีบถอนออกมาโดยไม่ระวัง โครงสร้างบางอย่างก็อาจล้มไปจริงๆ


ที่มา: BBC, BBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT