ธุรกิจการตลาด

Zara ออกแพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือ 2 เริ่มจากอังกฤษ สลัดภาพฟาสต์แฟชั่น

22 ต.ค. 65
Zara ออกแพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือ 2 เริ่มจากอังกฤษ สลัดภาพฟาสต์แฟชั่น

หลังจากถูกแปะป้ายว่าเป็นแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นมานาน Zara เตรียมเปลี่ยนภาพลักษณ์มาเป็นแบรนด์รักโลกแล้วเมื่อทางแบรนด์ออกมาบอกว่ากำลังจะออกโครงการ “Pre-Owned” และแพลตฟอร์มซื้อขายเสื้อผ้ามือสองของ Zaraในอังกฤษวันที่ 3 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยจะเริ่มที่ประเทศอังกฤษก่อนเป็นที่แรกก่อนขยายไปตลาดอื่น

istock-1385392472

ในโครงการนี้ ลูกค้าของ Zara จะสามารถนำเสื้อผ้าที่อาจจะซิปเสีย กระดุมหลุด หรืออื่นๆ ไปซ่อมที่ร้านได้โดยมีค่าใช้จ่ายตามสมควร นำเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการแล้วไปบริจาคที่เคาน์เตอร์ หรือถ้าอยากขายส่งต่อให้คนอื่น ก็สามารถทำได้เช่นกันด้วยการลงประกาศขายในแอพพลิเคชั่นที่ Zara จะปล่อยออกมาพร้อมกัน

โดยแอพพลิเคชั่นนี้มีลูกเล่นสำคัญคือมีการเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสินค้าของทาง Zara ทำให้ผู้ที่ต้องการส่งต่อเสื้อผ้าสามารถสแกนแฮชแท็กหรือบาร์โค้ดบนเสื้อผ้าเพื่อดึงรูปโปรโมทหรือข้อมูลสินค้าที่ Zara มีออกมาใช้ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาหาข้อมูลหรือพิมพ์เอง 

Paula Ampuero หัวหน้างานด้านความยั่งยืนของ Zara กล่าวว่าโครงการนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อผลักดันให้ธุรกิจของ Zara เขาสู่ Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนที่มุ่งนำวัสดุเดิมกลับมาใช้ และลดการใช้ทรัพยากรใหม่จากธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ Zara สนับสนุนการซ่อมเสื้อผ้าที่เสีย การส่งต่อเสื้อผ้าให้ผู้ด้อยโอกาส และการขายต่อเสื้อผ้าหมุนเวียนใช้กันแทนการซื้อใหม่

โดย Paula กล่าวว่าถึงแม้วิธีนี้จะไม่ได้ช่วยลดพฤติกรรมบริโภคเกินควรได้ แต่เธอก็หวังว่าสิ่งเล็กๆ แบบนี้จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของลูกค้าให้เห็นว่าการซ่อม บริจาค หรือซื้อขายเสื้อผ้ามือสองเป็นสิ่งที่ทำได้สะดวก และทำได้จริงในชีวิตประจำวัน และป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าที่อาจจะยังใช้ได้อยู่ไปจบที่บ่อฝังกลบ และกลายเป็นขยะและสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

แต่ Zara ก็ไม่ได้เป็นแบรนด์เดียวที่ออกมาเคลื่อนไหว ออกแพลตฟอร์มให้ลูกค้าซื้อขายสินค้ามือสองกัน เพราะก่อนหน้านี้ แบรนด์ดังอย่าง กุชชี่ (Gucci) และเบอร์เบอรี่ (Burberry) ไนกี้ (Nike) หรือแบรนด์คู่แข่งอย่าง H&M ก็ได้ทยอยออกแพลตฟอร์มแบบนี้ออกมาบริการลูกค้ากันบ้างแล้ว

การตั้งหน่วยงานด้านความยั่งยืนและออกโครงการเพื่อสนับสนุนการใช้วัสดุและทรัพยากรแบบหมุนเวียนแบบนี้เป็นหนึ่งในความพยายามของวงการแฟชั่นในการลบภาพเสียในฐานะอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรและปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าชั้นบรรยากาศสูงมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งของโลก เพราะเห็นแล้วว่าในสมัยนี้ผู้บริโภคบางส่วนมีความตระหนักในเรื่องผลกระทบของการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และเรื่องความยั่งยืนเป็นเทรนด์ใหญ่ที่กำลังมา ทำให้หากธุรกิจยังนิ่งเฉยไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจและผลิตสินค้าของตนให้มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นก็อาจจะอยู่ไม่รอดในระยะยาว

โดยเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา ชื่อแบรนด์ Zara พร้อมผองเพื่อนเช่น Gap Nike Adidas และ H&M ก็เคยอยู่ในประเด็นสังคมมาแล้วเมื่อทุกแบรนด์ถูกกล่าวหาว่าใช้ฝ้ายจากมณฑลซินเจียง และมีส่วนในการบังคับใช้แรงงานชาติพันธุ์อุยกูร์ในการผลิตสิ่งทอ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์เสียหาย จนทำให้แต่ละแบรนด์ต้องรีบออกมาปฏิเสธ และปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าของตนให้มีความโปร่งใส ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และออกมาสนับสนุนให้เกิดการ repair reuse และ resell เสื้อผ้ากันมากขึ้นดังกล่าว

 

ที่มา: The Guardian, Yahoo



advertisement

SPOTLIGHT