ธุรกิจการตลาด

รำลึก ‘เหตุวินาศกรรม 9/11’ เหตุการณ์ที่พลิกโฉมกฎการบินให้คนทั้งโลก

11 ก.ย. 65
รำลึก ‘เหตุวินาศกรรม 9/11’ เหตุการณ์ที่พลิกโฉมกฎการบินให้คนทั้งโลก

สำหรับใครที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินบ่อยๆ การเดินทางไปให้ถึงสนามบินประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนขึ้นเครื่องจริงอาจกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว เพราะหลายๆ คนต้องเผื่อเวลาต่อแถวเช็กอิน และตรวจร่างกายก่อนเข้าเกทที่มีกฏมากมายจนอาจตกเครื่องได้ถ้ามีผู้โดยสารเยอะในวันนั้น

แต่รู้หรือไม่ว่า เมื่อก่อนผู้โดยสารเครื่องบินโดยเฉพาะเที่ยวบินในประเทศไม่ต้องเผื่อเวลาเยอะขนาดนี้ และสามารถไปถึงสนามบินประมาณครึ่งชั่วโมงก่อนบินได้เลย 

เพราะนอกจากจะไม่ต้องต่อแถวเอาสัมภาระวางใส่ถาด ทิ้งของเหลวเกิน 100 มิลลิลิตรลงถังขยะ ถอดเสื้อคลุม เข็มขัด และรองเท้า แล้วเข้าไปยืนยกแขนให้เครื่องหมุนตรวจจับวัตถุอันตรายในร่างกายแล้ว ผู้โดยสารยังสามารถวิ่งไปถึงเกทได้โดยไม่ต้องโชว์บอร์ดดิ้งพาส (boarding pass) จนญาติๆ ก็ไปส่งถึงหน้าเกทจนขึ้นเครื่องได้ถ้าต้องการ

แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปในเช้าวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 เมื่อผู้ก่อการร้าย 19 คนใน 3 สนามบิน เดินผ่านแท่งตรวจจับโลหะมาได้ง่ายๆ พร้อมมีดกับคัตเตอร์ในกระเป๋า ก่อนจะใช้ของมีคมนั้นจี้เครื่องบินทั้งหมด 4 ลำให้พุ่งชนสถานที่สำคัญต่างๆ ในอเมริกา โดยมี 2 ลำมุ่งหน้าไปที่ตึกแฝดเวิร์ลเทรดในกรุงนิวยอร์ก 1 ลำไปตึกเพนตากอน (Pentagon) และอีก 1 ลำไปทำเนียบขาว ( White House) จนทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปเกือบ 3,000 คนในวันนั้น

000_was2003090411294

นับได้ว่าเป็นเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งเพราะกฎความปลอดภัยที่หละหลวมในสนามบินและเครื่องบิน จนทำให้ผู้ก่อการร้ายถืออาวุธมีคมขึ้นเครื่อง แถมยังบุกเข้าไปจี้นักบินถึงห้องเครื่องได้ง่ายๆ และชี้ให้เห็น 'ช่องโหว่' ด้านความปลอดภัยมากมายที่ทำให้การบินกลายเป็นเรื่องยุ่งยากที่ต้องการการรักษาความปลอดภัยรัดกุมแบบในทุกวันนี้

ในโอกาสครบรอบ 21 ปี ของเหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าเหตุการณ์ 9/11 ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานของเจ้าหน้าที่สนามบินและสายการบินทั่วโลก และเป็นต้นกำเนิดกฎรักษาความปลอดภัยอะไรที่เราใช้กันมาจนทุกวันนี้บ้าง

 

  • ยกระดับการตรวจยืนยันตัวตนผู้โดยสาร และเช็คบอร์ดดิ้งพาสก่อนเข้าเกทistock-1333575477

ในปัจจุบัน ญาติๆ หรือคนสนิทที่ไปส่งผู้โดยสารขึ้นเครื่องจะรู้กันดีว่าสามารถไปส่งผู้โดยสารได้ไกลที่สุดที่หน้าประตูก่อนเข้าไปตรวจหนังสือเดินทางเท่านั้น จนภาพผู้โดยสารกอดกับพ่อแม่หรือคนรักก่อนเข้าประตูกลายเป็นภาพชินตาของทุกคนไป

แต่ก็อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรก กฎนี้ไม่ได้เป็นกฎมาตรฐานที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไปก่อนเหตุการณ์ 9/11 เพราะก่อนหน้านั้นใครๆ ก็เข้าเกทไปได้โดยไม่ต้องมีบอร์ดดิ้งพาส จนสามารถเข้าไปส่งผู้โดยสารจนเข้าเดินงวงช้างขึ้นเครื่องไปได้ อีกทั้งยังไม่มีระบบยืนยันตัวตนผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง ทำให้ผู้ก่อการร้ายหลายๆ คนในตอนนั้นขึ้นเครื่องไปได้โดยไม่ต้องโชว์บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทางก่อนผ่านแอร์โฮสเตสเพื่อขึ้นเครื่องแบบในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นหลังจากเหตุการณ์นั้น การตรวจยืนยันตัวผู้โดยสารตอนเช็กอินกระเป๋า ตรวจหนังสือเดินทาง ตรวจร่างกายและสัมภาระ และก่อนขึ้นเครื่องจึงกลายเป็นมาตรการบังคับไปเพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งเทคโนโลยีตรวจสอบตัวตนก็ถูกพัฒนาให้มีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่สแกนนิ้วมือ จนมาถึงสแกนหน้า และรูม่านตา

นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลของผู้โดยสารอย่างเป็นระบบระเบียบแบบนี้ยังทำให้เกิดการจัด No Fly List ขึ้นครั้งแรกในหลายๆ ประเทศ เพื่อคัดกรองเฝ้าระวังผู้เดินทางจากพื้นที่ที่ประเทศนั้นๆ คิดว่าสุ่มเสี่ยง เช่นประเทศตะวันออกกลาง และป้องกันการเกิดเหตุก่อการร้ายได้ดียิ่งขึ้น

 

  • ห้ามผู้โดยสารนำของมีคมขึ้นเครื่อง และเริ่มตรวจกระเป๋าทุกชิ้นด้วยเครื่อง X-Ray istock-693576018

ในยุคที่การไม่เอาของมีคมใส่ในกระเป๋าและส่งกระเป๋าผ่านเครื่องสแกนในสนามบินกลายเป็นคอมมอนเซนส์ไปแล้ว อาจจะไม่น่าเชื่อว่าก่อนเกิดเหตุการณ์ 9/11 ผู้โดยสารส่วนมากสามารถถือกระเป๋าขึ้นเครื่องได้เลยโดยไม่ต้องสแกน และเคยได้รับอนุญาตให้พกของมีคมเช่นมีดและคัตเตอร์ขึ้นเครื่องได้มาก่อน ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า ไม่เคยมีใครคิดมาก่อนว่าจะมีคนกล้าจี้เครื่องบินมาก่อเหตุก่อการร้าย

แต่กฎนั้นก็เปลี่ยนไปทันทีหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น 9/11 เพราะหลังจากสืบจากกล้องวงจรปิดจนรู้ว่าผู้ก่อการร้ายทั้งหมดนั้นถืออาวุธขึ้นเครื่องได้สบายๆ โดยไม่มีใครห้ามแล้ว สหรัฐก็ออกกฎให้เจ้าหน้าที่สแกนตรวจกระเป๋าทุกชิ้นด้วยเครื่อง X-Ray ตบลูบตามตัวผู้โดยสารเพื่อหาอาวุธ และห้ามผู้โดยสารนำของมีคมทุกชนิด แม้แต่เข็มถักนิตติ้งขึ้นเครื่องนับแต่นั้น 

ถึงกฎนี้จะเป็นกฎที่ทุกสนามบินใช้อย่างเคร่งครัดไปแล้ว การเพิ่มกฎนี้ถือว่าเป็นการเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยครั้งใหญ่ในขณะนั้น เพราะก่อนหน้านั้นสนามบินในอเมริกาตรวจกระเป๋าผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่องเพียง 5% เท่านั้น การตรวจร่างกายจะใช้เพียงเครื่องตรวจจับโลหะ เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่แตะเนื้อต้องตัวผู้โดยสารเด็ดขาด

อีกอย่างนอกจากการตรวจสอบทางฝั่งผู้โดยสารแล้ว ทางสายการบินเองก็มาย้อนดูอุปกรณ์ในเครื่องบินตัวเอง และเอาอะไรที่ผู้โดยสารน่าจะใช้เป็นอาวุธได้ออกทั้งหมด รวมไปถึงเปลี่ยนช้อนส้อมโลหะเป็นพลาสติก

ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้น ลิสต์ของที่เจ้าหน้าสนามบินต้องตรวจเข้มก็ยาวขึ้นอีก เพราะมีผู้ก่อการร้ายอีกหลายคนอยากเลียนแบบ และพยายามก่อเหตุการณ์ไม่สงบบนเครื่องบินอีกด้วยอุปกรณ์หรือวัตถุต่างๆ กัน จนทำให้สายการบินต้องเพิ่มระดับการตรวจตราวัตถุเหล่านั้นให้รัดกุมมากขึ้นด้วย

และสิ่งแรกที่ถูกตรวจเข้มขึ้นหลังกระเป๋าก็คือ ‘รองเท้า’ เพราะในเดือนธันวาคมปีเดียวกันก็มีผู้ก่อการร้ายอีกคนซ่อนวัตถุระเบิดไว้ในรองเท้า จนทำให้ผู้โดยสารทุกคนต้องถอดรองเท้าใส่ถาดส่งเข้าเครื่องสแกนนับจากนั้น

ต่อจากนั้นในปี 2006 ‘ของเหลว เจล สเปรย์’ ก็กลายเป็นสิ่งต่อมาที่ถูกควบคุม เพราะเจ้าหน้าที่สนามบินพบว่ามีผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งพยายามแอบนำระเบิดของเหลวขึ้นเครื่องโดยใส่ไว้ในขวดน้ำอัดลมขนาด 500 มิลลิลิตร ทำให้สนามบินทั่วโลกออกกฎจำกัดปริมาณของเหลวที่ถือขึ้นเครื่องให้ไม่เกิน 100 มิลลิลิตรต่อชิ้น และรวมกันหลายชิ้นไม่ถึง 1,000 มิลลิลิตร

และล่าสุดตั้งแต่ปี 2017 ผู้โดยสารก็ต้องแยก ‘อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์’ เช่น แล็ปท็อป และโทรศัพท์ ออกมาจากกระเป๋าใส่ถาดผ่านเครื่องสแกนเช่นกันเพราะหน่วยข่าวกรองสหรัฐแจ้งว่าตอนนี้ผู้ก่อการร้ายอาจแฝงระเบิดมาในอุปกรณ์เหล่านี้ได้แล้ว

 

  • ติดตั้งประตูกันกระสุนให้ห้องนักบิน ติดกล้องวงจรปิดข้างหน้า และงดให้ผู้โดยสารเข้าห้องนักบินเด็ดขาดistock-1186537242

นอกจากในห้องผู้โดยสาร อีกสถานที่ที่หลายๆ สายการบินยกระดับความปลอดภัยให้แน่นหนาขึ้นอย่างมากหลังเหตุการณ์ 9/11 ก็คือห้องคนขับเครื่องบิน (cockpit) เพราะหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ก่อการร้ายใน 9/11 ทำภารกิจสำเร็จก็เพราะเข้าถึงตัวนักบิน และบังคับให้เครื่องบินเข้าชนอาคารที่ต้องการได้

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก หลายสายการบินได้ติดตั้งประตูกันกระสุนและแรงระเบิดให้นักบิน ให้ลูกเครื่องใส่รหัสหรือสแกนนิ้วมือก่อนเข้า อีกทั้งยังติดกล้องวงจรปิดหน้าห้องให้นักบินเห็นล่วงหน้าได้ว่าใครกำลังจะเข้าไปในห้อง

นอกจากนี้ที่สหรัฐยังให้นักบินทุกคนเข้าฝึกการใช้อาวุธ และได้รับอนุญาตให้พกปืนป้องกันตัวได้ทั้งที่เมื่อก่อนเปิดให้ผู้โดยสารขอเข้าไปเยี่ยมชมบรรยากาศในห้องได้อย่างอิสระ

 

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่า นอกจากจะทำให้หลายๆ ประเทศหันมามองการก่อการร้ายเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างจริงจังแล้ว เหตุการณ์ 9/11 ยังทำให้การนั่งเครื่องบินที่เคยเป็นเรื่องสนุกและสะดวกสบาย กลายเป็นเรื่องยุ่งยากเต็มไปด้วยขั้นตอนที่ทำให้ผู้โดยสารต้องเตรียมตัวเป็นวันๆ แถมยังทำให้การบินกลายเป็นเรื่องน่ากลัวไปสำหรับหลายๆ คน

จึงนับได้ว่าหากการก่อการร้าย (terrorize) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างและปลูกฝังความหวาดกลัว (terror) ให้กับทุกคนแล้ว ผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากทีเดียวในการนี้ เพราะมันทำให้ธุรกิจการบินปรับตัว เปลี่ยนแปลง และตั้งกฏต่างๆ ที่อาจจะคงอยู่ตลอดไปหลังเหตุการณ์ 9/11 

 

 

ที่มา: CNN, NPR, CNBC, IndianExpress



advertisement

SPOTLIGHT