ธุรกิจการตลาด

ดิสนีย์ เตรียมยกเครื่อง "สวนสนุก Metaverse" ปั้น โฮโลแกรม ไม่ง้อแว่น

10 ม.ค. 65
ดิสนีย์ เตรียมยกเครื่อง "สวนสนุก Metaverse" ปั้น โฮโลแกรม ไม่ง้อแว่น

ดิสนีย์ เตรียมขนเมตาเวิร์ส มาไว้ในสวนสนุก “ดิสนีย์แลนด์” ประกาศจดสิทธิบัตร “เทคโนโลยีโฮโลแกรมแบบไร้แว่นตา” อัพเกรดสวนสนุก ให้กลายเป็นดินแดนเมตาเวิร์ส

หลังจาก “Meta” (ชื่อเดิมคือ Facebook) ออกมาประกาศว่าจะปรับโฉมองค์กรและผลิตภัณฑ์ เพื่อมุ่งหน้าสู่ “เมตาเวิร์ส” เต็มตัว กระแสเรื่อง “โลกเสมือน” ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในทุกหย่อมหญ้า แบรนด์ในหลากหลายวงการก็ยกขบวนสรรหาสารพัดวิธีที่จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนบ้าง ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่วงการบันเทิงทุกในหลากหลายรูปแบบ ที่กำลังจะมีอายุครบ 100 ปีถ้วนในปี 2023 นี้อย่าง “ดิสนีย์” เจ้าของสื่อยักษ์ใหญ่ ค่ายหนัง ลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูน รวมไปถึงสวนสนุกระดับตำนานอย่าง “ดิสนีย์แลนด์” ซึ่งตั้งอยู่ในหลากหลายทวีปทั่วโลก


 pexels-magda-ehlers-771502

เมื่อดิสนีย์กระโดดเข้ามาร่วมวง “จักรวาลนฤมิต” ทั้งที ก็ย่อมไม่มีคำว่าธรรมดา เมื่อเดือนช่วงปลายธันวาคมที่ผ่านมา สำนักสิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าสหรัฐอเมริกา ประกาศรับรอง “อุปกรณ์จำลองโลกเสมือน” ซึ่งเป็น อุปกรณ์ที่จะฉายภาพ และเอฟเฟกต์สามมิติ ลงบนพื้นที่ของโลกจริง พร้อมเทคโนโลยีตรวจจับบุคคล และ แสดงผลในรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคลนั้น เช่น ครอบครัวที่มาเยี่ยมชมสวนสนุก อาจจะโบกมือทักทาย “มิกกี้เมาส์โฮโลแกรม” ที่ร้านขายฮอทดอก ในขณะที่อีกครอบครัวกำลังเล่นกับ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” ตอนที่กำลังเอร็ดอร่อยกับบัตเตอร์เบียร์
 

บ๊อบ ชาเปก ซีอีโอของวอลท์ ดิสนีย์ คอมพานี ประกาศในการประชุมรายงานผลประกอบการของไตรมาสที่ 4 ที่ผ่านมา ว่า เทคโนโลยีนี้สอดคล้องกับความตั้งใจของดิสนีย์ ที่จะเล่าเรื่องบน “ผืนผ้าใบสามมิติ” (หรือก็คือพื้นจริงๆ รอบตัวเรา ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าแผ่นบนกระดาษ หรือบนจอภาพยนตร์) นี่เป็นเพียงก้าวแรกๆ ของการเชื่อมต่อโลกความจริงกับโลกดิจิทัลเข้าไว้ด้วยกัน ก่อให้เกิดการถ่ายทอดเรื่องราวแบบไร้รอยต่อ บนเมตาเวิร์สของดิสนีย์เอง
 

disneyland3


ปัจจุบัน ดิสนีย์ ยังไม่มีแผนจะนำอุปกรณ์สุดล้ำดังกล่าวมาใช้งานจริง และสิทธิบัตรนี้นับเป็นหนึ่งในสิทธิบัตรของไอเดีย หรือสิ่งประดิษฐ์นับร้อยชิ้นที่ดิสนีย์สร้างขึ้นในแต่ละปี เพื่อศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก
 

ก่อนหน้านี้ มีความพยายามที่จะ “โลกจริง และ โลกเสมือน” เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับผู้ที่มาใช้บริการเครื่องเล่นของสวนสนุกต่างๆ เช่น เครื่องเล่น Final Fantasy XR ที่ Universal Studio Japan รถไฟเหาะที่จะพาผู้เล่นเข้าไปผจญภัยในโลกของเกม Final Fantasy เกม RPG ระดับตำนานจากญี่ปุ่น โดยการใส่แว่น VR ระหว่างที่นั่งบนรถไฟเหาะ

 


 

หรือเครื่องเล่น Star Wars: Secrets of the Empire ของดิสนีย์เอง ที่ยกระดับเลเซอร์เกม (เกมที่ผู้เล่นแบ่งเป็นสองฝ่าย แล้วยิงเลเซอร์ใส่กันเพื่อกำจัดทีมฝ่ายตรงข้าม) ด้วยอุปกรณ์ VR ที่จะพาผู้เล่นสวมบทตัวละครจากเรื่อง Starwars ทำภารกิจลับเพื่อเจาะฐานทัพของศัตรู ร่วมกันกับสมาชิกภายในทีม
 



แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะได้รับเสียงตอบในทางที่ดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องเทคโนโลยีที่ต้องพัฒนาต่อ และในสถานการณ์โควิดแบบนี้ การใช้อุปกรณ์อย่างแว่น VR ร่วมกันอาจมีค่าใช้จ่ายสูงในเรื่องการดูแลรักษาความสะอาด เทคโนโลยีของดิสนีย์ที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยตัดปัญหาการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
 



นอกเหนือจากนั้น ในขณะที่เทคโนโลยีของหลายแบรนด์ พยายามให้ผู้ใช้งานอยู่ที่บ้าน แล้วใช้อุปกรณ์พาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกเมตาเวิร์ส การที่ดิสนีย์นำเทคโนโลยีโฮโลแกรมแบบไม่ใช้แว่นตานี้มาใช้กับสวนสนุกตัวเอง ยังถือเป็นการเพิ่มจุดเด่นให้กับสถานที่ท่องเที่ยวของตัวเอง ดึงดูดให้ผู้คนออกจากบ้านมาใช้บริการ และถือเป็นอีกขั้นของการเติมสีสันใหม่ๆ ให้กับสวนสนุกขวัญใจคนทั่วโลก ที่อยู่มอบความสุขให้กับแฟนๆ มาแล้วกว่า 60 ปี (ดิสนีย์แลนด์ เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 17 กรกฎาคม ปี 1955)

 

pexels-zichuan-han-3428289

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT