27 ม.ค.65 โนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด แถลงข่าวว่า บริษัทฯดำเนินนโยบายตาม โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ซึ่ง อากิโอะ โตโยดะ ได้ประกาศทิศทางไว้ว่า โตโยต้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบ 30 รุ่นภายในปี 2573 โดยโตโยต้าจะใช้เงินลงทุนรวมเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่มากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการพัฒนาแบตเตอรี่ไฟฟ้าจะใช้เงินมากถึง 6 แสนล้านบาท เพื่อบรรลุเป้าหมายอดขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจำนวน 3.5 ล้านคันภายในปี 2573
“สำหรับประเทศไทย โตโยต้ามีแผนแนะนำ bZ4X รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ ออกสู่ตลาดภายในปีนี้ โดยเราจะพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต” ยามาชิตะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายว่า ในช่วงแรกของการเปิดตัวทำตลาด bZ4X จะเป็นการนำเข้าสำเร็จรูปก่อนที่จะมีการขึ้นไลน์ประกอบในประเทศ ภายใต้เงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โตโยต้า bZ4X พัฒนาขึ้นบนแพลตฟอร์ e-TNGA สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ มีให้เลือกทั้งรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 150 kW และรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ มอเตอร์ไฟฟ้า 2 ตัว(ตัวละ 80kW หน้าหลัง) กำลังสูงสุดรวม 160 kW แบตเตอรี่ เป็นแบบลิเธียมไอออนขนาด 71.4 kWh ระยะทางวิ่งไกลสุดเคลมไว้ที่ 500 กม. ในรุ่นขับเคลื่อน2 ล้อ และ 460 กม.สำหรับรุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ bZ4X เป็นรถแบบอเนกประสงค์ 5 ที่นั่ง มิติตัวถัง ยาว 4,690 มม. กว้าง 1,860 มม. สูง 1,650 มม. ระยะฐานล้อ 2,850 มม. น้ำหนัก 2,195-2,275 กิโลกรัม ส่วนระบบเสริมความปลอดภัยจัดเต็มชุดใหญ่ด้วย Toyota Safety Sense ขณะที่ระบบล้ำสมัยอื่นๆ มีให้อย่างครบถ้วนทั้งการอัพเดตซอฟแวร์ผ่านอากาศ OTA ระบบกุญแจดิจิทัล ใช้แอพลิเคชันในการควบคุมสั่งการ กำหนดเปิดตัว โตโยต้า bZ4X ของภูมิภาคเอเชีย ตามนโยบายของ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประกาศไว้ว่าจะมีขึ้นราวกลางปี 2565 นี้ ราคาจำหน่ายมีการประกาศรุ่นพวงมาลัยขวาที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษอยู่ที่ราว 1,850,000-2,090,000 บาท
นายโนริอากิ คาดว่า ยอดขายตลาดรถยนต์รวมภายในประเทศไทยปี 65 จะอยู่ที่ 860,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 13.3% จากปี 64 อยู่ที่ราว 759,119 คัน หากแบ่งเป็นประเภทรถยนต์ คาดว่าตลาดรถยนต์นั่งจะอยู่ที่ 292,500 คัน เพิ่มขึ้น 16.2% และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 567,500 คันเพิ่มขึ้น 11.9%
สำหรับในปี 64 เป็นปีที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเกิดปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต เช่น ปัญหาชิปขาดตลาด ด้วยเหตุนี้ ยอดขายรวมภายในประเทศจึงอยู่ที่ราว 759,119 คัน หรือลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับปี 63
"ปีนี้เป็นไปได้ว่าโควิด-19 จะยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย อย่างไรก็ดี เราคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด นอกจากนี้ ประชาชนเองก็เรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ให้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ส่วนปัญหาชิ้นส่วนการผลิตขาดตลาดก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับคืนสู่สภาวะปกติ"
สำหรับยอดขายของโตโยต้า ตั้งเป้ายอดขายปี 65 อยู่ที่ 284,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 18.5% โดยครองส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 33% จากปี 64 ที่มียอดขาย 239,723 คัน หรือลดลง 1.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 31.6% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ถือว่าต่ำกว่าที่เราคาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ยอดขายของปีที่แล้วจะเห็นได้ว่าสถานการณ์ของโตโยต้าเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นมา สืบเนื่องมาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบใหม่ เช่น การขายผ่านช่องทางออนไลน์ หากดูยอดขายของโตโยต้าในระหว่างช่วงไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 จะเห็นได้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 32.5% ซึ่งเป็นระดับที่ไกล้เคียงกับในปี 62 หรือช่วงก่อนโควิด-19 โดยในส่วนของยอดขายของไฮลักซ์ รีโว่ นั้น มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 39.1% ซึ่งสูงกว่าของปี 62 ในขณะที่ เอทีฟ และ ยาริส นั้น ก็สามารถครองอันดับ 1 ในตลาดรถ อีโคคาร์