ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Landmines : APL) คืออาวุธที่แม้สงครามจะสิ้นสุดลง แต่ยังคงสร้างความเสียหายต่อชีวิตอย่างรุนแรง อานุภาพของมันไม่ได้จำกัดแค่ช่วงเวลาของการสู้รบ แต่ยังทิ้งผลกระทบไว้ระยะยาว
เพื่อยุติภัยคุกคามนี้ประชาคมโลกจึงร่วมมือกันจัดทำ “อนุสัญญาออตตาวา” หรือ “สนธิสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความพยายามระดับนานาชาติที่จริงจังและเป็นรูปธรรมมากที่สุดในการยุติการใช้อาวุธที่ไร้มนุษยธรรมชนิดนี้
จุดเริ่มต้นของอนุสัญญา
“อนุสัญญาออตตาวา” เปิดให้ลงนามครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 1997 ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 1999 โดยมีเป้าหมายหลักของสนธิสัญญานี้คือการยุติการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลทั่วโลก ทั้งการผลิต สะสม และการถ่ายโอน เพื่อปกป้องพลเรือนจากอันตรายที่ยังคงคุกคามแม้สงครามจะสิ้นสุดแล้ว
การตอบรับจากนานาชาติ
ในเดือนพฤศจิกายน 2024 มีประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญานี้แล้ว 164 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของประเทศทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก อย่างไรก็ตามยังมีประเทศอีก 34 ประเทศที่ยังไม่เข้าร่วม รวมถึงประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน โดยบางประเทศเลือกที่จะปฏิบัติตามแนวทางของอนุสัญญา เช่น ไม่ผลิตหรือใช้ APL แม้จะยังไม่ได้ลงนามอย่างเป็นทางการ
ทำไมต้องเลิกใช้กับระเบิด
ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมีความน่ากลัวกว่าที่คิดเพราะถึงแม้สงครามจะจบลงแล้ว แต่กับระเบิดยังคงฝังอยู่ใต้ดิน และพร้อมจะคร่าชีวิตหรือทำให้คนพิการในทันทีหากเหยียบลงไป ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากกับระเบิดในอดีต เช่น อัฟกานิสถาน กัมพูชา แองโกลา ชาด อิรัก และยูเครน ยังคงมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากกับระเบิดทุกปี แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วก็ตาม
ประเทศภาคีต้องทำอะไรบ้าง
ภายใต้อนุสัญญานี้ ประเทศที่เข้าร่วมมีข้อผูกพันสำคัญหลายประการ ได้แก่
• ห้ามใช้ พัฒนา ผลิต จัดหา สะสม หรือโอน APL
• ต้องทำลายทุ่นระเบิดในคลังทั้งหมดภายใน 4 ปี
• ต้องกวาดล้างพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดทั้งหมดภายใน 10 ปี
• ให้ความร่วมมือกับประเทศอื่น เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การให้ข้อมูล และเทคโนโลยีในการเก็บกู้
ถ้าไม่ทำตามมีบทลงโทษหรือไม่
แม้ว่าอนุสัญญานี้จะไม่มีหน่วยงานตรวจสอบหรือบทลงโทษโดยตรงสำหรับการไม่ปฏิบัติตาม แต่กลไกสำคัญในการผลักดันให้ประเทศต่างๆ ปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมนี้คือความร่วมมือของประชาคมโลก การรายงานความโปร่งใส และแรงกดดันจากสังคมระหว่างประเทศ รัฐภาคีสามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตามของรัฐภาคีอื่น และสามารถเรียกประชุมพิเศษเพื่อพิจารณาข้อกล่าวหานั้นได้
อย่างไรก็ตามอนุสัญญาออตตาวามีบทบาทสำคัญในการลดจำนวนการใช้ทุ่นระเบิดลงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐภาคีได้ร่วมมือกันทำลายทุ่นระเบิดไปแล้วกว่า 50 ล้านลูก และหลายประเทศได้กวาดล้างพื้นที่ทุ่นระเบิดได้สำเร็จ
ที่มา : Arms Control Association (The Ottawa Convention : Signatories and States-Parties)
Advertisement