Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
สืบพยาน 6 ปาก รพ.ตำรวจ "หมอรักษาทักษิณ" ปาดน้ำตากลางศาล

สืบพยาน 6 ปาก รพ.ตำรวจ "หมอรักษาทักษิณ" ปาดน้ำตากลางศาล

18 ก.ค. 68
17:59 น.
แชร์

สืบพยาน 6 ปาก ประเด็นรับเข้ารักษาชั้น 14 รพ.ตำรวจ เปิดข้อมูลละเอียดยิบ ขณะที่ "หมอรักษาทักษิณ" ปาดน้ำตา ให้การละเอียด ไม่คิดว่าจะต้องมาขึ้นศาล 

วันที่ 18 ก.ค. 68 ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนคดีหมายเลขดำที่ บค.1/2568 กรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงการบังคับโทษคดีถึงที่สุด นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  

โดยในวันนี้เป็นการไต่สวนพยาน 6 ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารโรงพยาบาลตำรวจ และแพทย์ผู้ทำการรักษาทักษิณ ก่อนได้รับการพักโทษ 

พยานรายที่ 1 พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ อดีตนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ใช้เวลาเบิกความ 1 ชั่วโมง โดยศาลได้มีการสอบถามถึงรายละเอียด การเข้ารักษาตัวตั้งแต่วันแรกของจำเลย และที่มา เหตุผลของการเลือกใช้ห้องพักชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจระหว่างการพักรักษาตัว 

นอกจากนี้ ศาลได้มีการสอบถามถึงรายละเอียดใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล ค่ายา ค่าห้องพักของจำเลยทั้งหมด 27 ฉบับ ในส่วนนี้ศาลสอบถามไปถึงการใช้ยานอกบัญชีโรงพยาบาลของจำเลยเพื่อใช้รักษาอาการป่วย 

โดยพยานรายที่ 1 สามารถให้ข้อมูลต่อศาลได้บางส่วน เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาตัวของจำเลย แต่ไม่ได้อยู่ในช่วงท้ายจนถึงการพักโทษของจำเลย ทั้งนี้ ศาลได้แจ้งให้พยานรายที่ 1 ส่งเอกสารเพิ่มเติมต่อศาลได้แก่ ข้อมูลของผู้ป่วยที่เคยพักรักษาที่ห้องพักชั้น 14 ก่อนหน้าที่จำเลยจะเข้าพักห้องดังกล่าว และรายชื่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่เคยเข้าพักชั้น 14 หลังจากที่จำเลยออกจากโรงพยาบาล 

นอกจากนี้ ให้แผนกรับส่งตัวผู้ป่วยของโรงพยาบาลส่งเอกสารชี้แจงถึงการเลือกห้องพักชั้น 14 ให้จำเลยเข้าพักรักษาตัวในวันที่ 22 ส.ค. 66 ด้วย อย่างไรก็ตาม พยานรายที่ 1 ได้ให้การยืนยันต่อศาลว่าห้องพักที่จำเลยอาศัยตลอดระยะเวลาการรักษาตัวเรียกว่า ห้องแยกขนาดปกติ ไม่ใช่ห้องพิเศษ 

พยานรายที่ 2 พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ คนปัจจุบัน เข้ามาดำรงตำแหน่งนายแพทย์ใหญ่ต่อจากพยานรายที่ 1 ใช้เวลาเบิกความประมาณ 40 นาที ศาลยังคงสอบถามถึงเหตุผลในการเลือกใช้ห้องพักชั้น 14 ของจำเลย 

สำหรับพยานรายนี้มีความสัมพันธ์ในส่วนของการเป็นผู้เขียนใบให้ความเห็นแพทย์กรณีการรักษาตัวเกินกว่าระยะเวลา 30 วัน และเป็นผู้ให้ความเห็นในการผ่าตัดรักษาโรคของจำเลย ซึ่งต่อมาจำเลยปฏิเสธการผ่าตัดตามความเห็นที่โรงพยาบาลตำรวจ 

ทั้งนี้ศาลได้ถามถึงการใช้ยานอกโรงพยาบาลของจำเลย ซึ่งพยานรายดังกล่าวสามารถให้ข้อมูลได้ว่า จำเลยมีการใช้ยานอกโรงพยาบาล สอดคล้องกับบิลค่ารักษาพยาบาลที่ไม่ปรากฏรายชื่อยาที่จำเลยมีการใช้ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 

สำหรับเหตุผลในการเลือกห้องพักชั้น 14 ของจำเลยที่พยานรายที่ 2 มีการเบิกความต่อศาลได้ให้เหตุผลหลักใน 2 ข้อ คือ เพื่อการแยกตัวจำเลยออกมากักโรคในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากจำเลยเพิ่งกลับมาจากต่างประเทศ และอีกเหตุผลเพื่อควบคุมความปลอดภัยในฐานะผู้ต้องขังของเรือนจำ 

ในส่วนรายละเอียดห้องพักรักษาตัวของจำเลยตลอดระยะเวลาการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ พยานรายที่ 2 เบิกความต่อศาลว่า จำเลยอยู่ในห้องพักพิเศษ ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่จำเลยจะต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง 

ในช่วงบ่าย ศาลเริ่มเบิกความพยานรายที่ 4 คือ พล.ต.ต.นพ.สามารถ ม่วงศิริ รองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นแพทย์ผู้ช่วยการผ่าตัดอาการบาดเจ็บที่ไหล่ขวาของจำเลย และควบคุมดูแลการพักรักษาหลังการผ่าตัด สาเหตุของการบาดเจ็บครั้งนี้เกิดระหว่างพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 

ศาลได้ซักถามพยานรายที่ 4 มุ่งไปที่ใบรับรองของแพทย์ เนื่องจากพยานเป็นผู้ลงชื่อกำกับใบรับรองแพทย์ของจำเลย ซึ่งพยานให้การต่อศาลยืนยันใน 2 ส่วนคือ ใบรับรองแพทย์เป็นการใส่รายละเอียดการป่วยโดยทั่วไปของจำเลยตามจริงเท่านั้น อีกทั้งตนเองไม่ทราบว่าจุดประสงค์ที่พยาบาลให้รับรองใบรับรองแพทย์เพื่ออะไร รวมทั้งไม่ทราบว่าต่อมาใบรับรองที่มีลายเซ็นตนเอง ถูกนำไปใช้เพื่อขยายระยะเวลาการรักษาตัวของจำเลย 120 วัน ทั้งนี้ศาลใช้เวลาเบิกความพยานรายที่ 4 เป็นเวลา 45 นาที 

พยานรายที่ 5 พล.ต.ต.นพ.ศุภฤกษ์ พัฒนปรีชากุล นายแพทย์อายุรกรรมโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวของจำเลย ได้ทำการเบิกความต่อศาลว่าทำการดูแล และให้คำปรึกษาจำเลยที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวเดิมที่มีประวัติการรักษาจากต่างประเทศ และดูแลอาการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุของการส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ และยังได้ให้คำปรึกษาถึงความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อโรคประจำตัว ในช่วงที่จำเลยต้องเข้ารับการผ่าตัดอาการบาดเจ็บ 

พยานรายนี้ได้ให้ความเห็นต่อศาลถึงความจำเป็นในการพักรักษาตัว หรือไม่พักรักษาตัวต่อของจำเลยที่โรงพยาบาลตำรวจ และให้ข้อสังเกตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคประจำตัวของจำเลยต่อศาล ศาลใช้เวลาเบิกความพยานรายที่ 5 เป็นเวลา 20 นาที 

พยานรายที่ 6 คือ พล.ต.ท.นพ.สุรพล เกษประยูร ที่ปรึกษาโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดส่องกล้อง และได้รับการประสานให้มาดูอาการบาดเจ็บที่นิ้วและหัวไหล่ขวาของจำเลยระหว่างพักรักษาตัว โดยได้ทำการผ่าตัด รวม 2 ครั้ง ซึ่งศาลได้สอบถามถึงขั้นตอนในการรักษา และวางแผนผ่าตัด จนถึงการดูแลรักษาต่อเนื่องหลังการผ่าตัด โดยถามย้ำว่า หากเป็นผู้ป่วยทั่วไป การผ่าตัดลักษณะเดียวกันนี้จะต้องใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเท่าไหร่ และจะสามารถให้กลับบ้านได้หรือไม่ ซึ่งพยานตอบคำถามมั่นใจ ชัดเจน ศาลใช้เวลาสอบถามประมาณ 20 นาที และพยานได้ขอส่งเอกสารสรุปการผ่าตัดให้ศาลเพิ่มเติม 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พยานรายนี้จะเบิกความ ได้แถลงต่อศาลว่าไม่สบายใจ เนื่องจากวันนี้มีแพทย์ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับแพทยสภา มาร่วมฟังการไต่สวนด้วย จึงกลัวจะกระทบกับการไต่สวนในนัดต่อไปที่เรียกพยานที่เป็นแพทยสภามาไต่สวน ศาลจึงสอบถามแพทย์คนดังกล่าว ยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแพทยสภาและไม่ได้เป็นผู้ที่จะเบิกความในนัดหน้า พยานจึงไม่ติดใจและให้ฟังการไต่สวนได้

Advertisement

แชร์
สืบพยาน 6 ปาก รพ.ตำรวจ "หมอรักษาทักษิณ" ปาดน้ำตากลางศาล