Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
“สึกพระ” ไม่ได้มีแค่ “ปาราชิก” พระผิดวินัยอื่นก็อาจพ้นสมณเพศได้

“สึกพระ” ไม่ได้มีแค่ “ปาราชิก” พระผิดวินัยอื่นก็อาจพ้นสมณเพศได้

16 ก.ค. 68
11:00 น.
แชร์

เมื่อพูดถึงการ “สึกพระ” หรือการให้พระภิกษุลาสิกขาบท หลายคนอาจนึกถึงเฉพาะกรณี “อาบัติปาราชิก” ซึ่งเป็นอาบัติร้ายแรงที่ทำให้พระพ้นจากสมณเพศโดยอัตโนมัติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสึกพระไม่ได้จำกัดอยู่แค่ปาราชิกเท่านั้น

 

ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2561) ได้ระบุเงื่อนไขอื่นๆ ไว้อย่างชัดเจนว่า พระภิกษุสามารถถูกสั่งให้ลาสิกขาบทได้ในหลายกรณี

 

มาตรา 26 : คำวินิจฉัยให้สึก

 

พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2561 กำหนดไว้ในมาตรา 26 ว่า “พระภิกษุรูปใดล่วงละเมิดพระธรรมวินัย และได้มีคำวินิจฉัยถึงที่สุด ให้ได้รับนิคหกรรม (การลงโทษผู้กระทำผิดพระวินัย) ให้สึก ต้องสึกภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้ทราบคำวินิจฉัยนั้น”

 

คำว่า “นิคหกรรม” ในที่นี้หมายถึง มาตรการทางวินัยที่คณะสงฆ์ใช้อำนาจในการลงโทษ โดยขั้นสูงสุดคือ “ให้ออกจากความเป็นภิกษุ” ซึ่งเมื่อถึงขั้นนั้นต้องสึกภายใน 24 ชั่วโมงหลังรับทราบคำตัดสิน ไม่สามารถปฏิเสธหรือเลื่อนเวลาได้

 

มาตรา 27 : กรณีผิดวินัยอื่นๆ

 

            มาตรา 27 เมื่อพระภิกษุรูปใดต้องด้วยกรณีข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

 

1.ต้องคำวินิจฉัยตามมาตรา 25 ให้รับนิคหกรรมไม่ถึงให้สึก แต่ไม่ยอมรับนิคหกรรมนั้น

2.ประพฤติล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิณ

3.ไม่สังกัดอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง

4.ไม่มีวัดเป็นที่อยู่เป็นหลักแหล่ง

 

ให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎมหาเถรสมาคม พระภิกษุผู้ต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณเพศตามวรรคสอง ต้องสึกภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำวินิจฉัยนั้น

 

มาตรา 28 : เป็นบุคคลล้มละลาย

 

            มาตรา 28 ระบุว่า “พระภิกษุรูปใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องสึกภายในสามวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด”

 

            หากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้พระภิกษุรูปใดเป็นบุคคลล้มละลาย พระภิกษุรูปนั้นจะต้องลาสิกขาบทภายใน 3 วัน หลังจากที่คดีสิ้นสุด

 

มาตรา 29 : ถูกจับในคดีอาญา

 

“พระภิกษุรูปใดถูกจับโดยต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการไม่เห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว และเจ้าอาวาสแห่งวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัดไม่รับมอบตัวไว้ควบคุม หรือพนักงานสอบสวนไม่เห็นสมควรให้เจ้าอาวาสรับตัวไปควบคุมหรือพระภิกษุรูปนั้นมิได้สังกัดในวัดใดวัดหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจัดดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้”

 

มาตรา 29 ในกรณีที่พระภิกษุถูกจับกุมในคดีอาญา หากไม่ได้รับการประกันตัว และเจ้าอาวาสไม่รับตัวไปควบคุม หรือไม่มีวัดสังกัด พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นลาสิกขาบทได้ทันที

 

มาตรา 30 : เมื่อศาลสั่งจำคุก

 

“เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำพิพากษา หรือคำสั่งของศาล มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศเสียได้ และให้รายงานให้ศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น”

 

มาตรา 30 เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยในทางปฏิบัติ หากพระภิกษุต้องโทษตามกฎหมายอาญา การอยู่ในสมณเพศจะขัดต่อระบบควบคุมของเรือนจำ จึงต้องสึกก่อนรับโทษเสมอ

 

แม้คำว่า “ปาราชิก” จะเป็นที่รู้จักมากที่สุดเมื่อพูดถึงการ “สึกพระ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว พระภิกษุสามารถถูกสึกได้ด้วยเหตุผลอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ทั้งในด้านพระธรรมวินัยและสถานะทางกฎหมาย

 

ที่มา : สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม (พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)

Advertisement

แชร์
“สึกพระ” ไม่ได้มีแค่ “ปาราชิก” พระผิดวินัยอื่นก็อาจพ้นสมณเพศได้