หากกระดูกของเราหักร่างกายยังคงมีความสามารถพิเศษในการซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาใช้งานได้ แต่สำหรับฟันแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้ใครหลายคนต้องเผชิญกับ "ฟันหลอ" ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการเคี้ยวอาหาร การพูด รวมไปถึงความมั่นใจในตนเอง
แต่ฟันที่หลุดไปอาจไม่ใช่เรื่องถาวรอีกต่อไป เมื่อทีมนักวิจัยจากญี่ปุ่นกำลังพัฒนา “ยาปลูกฟัน” ที่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนโฉมวงการทันตกรรมไปตลอดกาล และหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน ยานี้อาจวางจำหน่ายได้ภายในปี 2030
ฟันไม่ใช่กระดูก แต่จะงอกได้เหมือนกระดูก?
แม้ฟันจะประกอบด้วยแคลเซียมคล้ายกับกระดูก แต่ฟันกลับไม่มีความสามารถในการรักษาหรือฟื้นฟูตัวเองได้ เหมือนกระดูกเมื่อเกิดความเสียหาย
โดย ดร. คัตสึ ทาคาฮาชิ (Katsu Takahashi) หัวหน้าแผนกทันตกรรมของสถาบันวิจัยทางการแพทย์ โรงพยาบาลคิตาโนะในโอซากะ กล่าวว่า "เราต้องการทำบางสิ่ง เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องทนทุกข์จากการสูญเสียฟัน ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีวิธีรักษาที่ถาวร แต่เรารู้ว่าผู้คนมีความคาดหวังสูงกับการงอกใหม่ของฟัน”
การพัฒนานี้มีที่มาจากการค้นคว้าอย่างยาวนานเกี่ยวกับแอนติบอดีชนิดหนึ่งชื่อว่า USAG-1 (Uterine sensitization–associated gene-1) และพบว่ามีบทบาทสำคัญในการยับยั้งการงอกของฟันในสัตว์ทดลองอย่างเฟอร์เรตและหนูได้
เมื่อปี 2021 ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งจะมีส่วนร่วมในการทดลองกับมนุษย์ ได้ค้นพบว่า "โมโนโคลนอลแอนติบอดี" (เทคนิคที่ใช้ในการรักษามะเร็ง) สามารถยับยั้งการทำงานร่วมกันของ USAG-1 กับโมเลกุลที่ชื่อว่า BMP (Bone Morphogenetic Protein)
ขั้นตอนการทดลองในมนุษย์
ดร. ทาคาฮาชิ อธิบายด้วยว่า "เรารู้ว่าการยับยั้ง USAG-1 เป็นผลดีต่อการเติบโตของฟัน แต่เรายังไม่แน่ใจว่ามันจะเพียงพอหรือไม่ โดยเฟอเร็ตเป็นสัตว์ที่มีรูปแบบการงอกฟันคล้ายมนุษย์ มันจึงเหมาะกับการทดลองนี้"
เนื่องจากมนุษย์นั้นกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลอง โดยการศึกษานี้ใช้เวลา 11 เดือน มีผู้เข้าร่วมทดลอง 30 คน (เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 30 ถึง 64 ปี) ซึ่งแต่ละคนสูญเสียฟันอย่างน้อย 1 ซี่ และยาจะถูกฉีดเข้าทางเส้นเลือดเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย อย่างไรก็ตามในการทดลองกับสัตว์ก่อนหน้านี้ไม่พบผลข้างเคียงใดๆ
อนาคตของ “ยาปลูกฟัน”
หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โรงพยาบาลคิตาโนะจะเริ่มรักษาในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 2-7 ปี ที่มีปัญหาสูญเสียฟันตั้งแต่กำเนิดอย่างน้อย 4 ซี่ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการทำให้การผลิตยาปลูกฟันนี้ พร้อมใช้งานภายในปี 2030
ถึงแม้ว่าในระยะแรกยาจะเน้นรักษาผู้ที่มีปัญหาฟันตั้งแต่กำเนิด แต่ ดร.ทาคาฮาชิก็หวังว่ายานี้จะสามารถใช้กับผู้ที่สูญเสียฟันจากสาเหตุอื่นๆ ได้ในอนาคตเช่นกัน
นับเป็นความหวังใหม่สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญกับปัญหา “ฟันหลอ” ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ถ้าทำได้จริงยานี้จะไม่เพียงช่วยฟื้นฟูสุขภาพในช่องปากเท่านั้น แต่ยังช่วยฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและความมั่นใจของผู้คนทั่วโลก
ที่มา : https://www.popularmechanics.com
Advertisement