‘ราคากลาง’ เป็นราคามาตรฐานที่ใช้เป็นฐานเปรียบเทียบกับราคาที่ผู้ยื่นเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ โดยจะพิจารณาประโยชน์สูงสุดของรัฐเสมอ แต่ราคากลางที่ควรจะสะท้อนราคาตลาดที่แท้จริง เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นธรรมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกลับกลายเป็น ‘เครื่องมือ’ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความร่วมมือ รายการ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 3 เปิดเบื้องหลังกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดเพี้ยน ซึ่งทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อของที่แพงเกินจริง
ข้อมูลจากสำนักงาน ป.ป.ช. พบว่าในปีงบประมาณ 2565 - 2567 ยังคงมีการกล่าวหาและร้องเรียนทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดย ‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ คือหน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 7,829 เรื่อง และหากนับเฉพาะปีงบประมาณ 2566 มีการร้องเรียนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,739 เรื่อง และในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่ง มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง
นายสุขสันต์ ประสาระเอ ผู้อำนวยการสำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่าการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างในประเด็นการกำหนดราคากลางสูงเกินจริงนั้น ทาง ป.ป.ช. มีการรับเรื่องร้องเรียนและชี้มูลความผิดได้แล้วเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างเกิดขึ้นในหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานส่วนกลาง กระทรวง และกรมต่าง ๆ
ทั้งนี้ การทุจริตจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างถนน งานขุดลอกคูคลอง ไปจนถึงงานพัสดุต่าง ๆ ซึ่งนายสุขสันต์อธิบายว่าการทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดขอบเขตงาน หรือ TOR กำหนดราคากลาง ไปจนถึงการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งมีรูปแบบกระทำเป็นขบวนการ ทั้งการเสนอให้และเรียกรับสินบน การฮั้วกันเสนอราคา การใช้นอมินี เป็นต้น
แม้ว่าจะมีการออกมาตรการหรือหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางมาบังคับใช้ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริต แต่การกำหนดราคากลางให้ ‘สูงเกินจริง’ ยังคงเป็นหนึ่งในรูปแบบของการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างงานพัสดุและครุภัณฑ์ที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากปัญหานี้เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ขายสินค้าและบริการ เช่น กระบวนการสืบราคา ไปจนถึงการจัดซื้อครุภัณฑ์หรือพัสดุประจำสำนักงานที่ร้านเดิม ๆ ซึ่งผู้ขายสินค้าและบริการจะมีการหัก % เอาไว้แล้วเรียบร้อย
นายณัฐภัทร เนียวกุล ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ให้ความเห็นว่าแม้จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงมีการปรับปรุงมาตรการรับมือการทุจริตอยู่เสมอ แต่คนที่จะกระทำการทุจริตก็ยังจะหา “ช่องว่าง” ของระบบในการทำทุจริตอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งหนึ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น นั่นก็คือการเคลื่อนไหวของสังคมในการตั้งคำถามต่อการใช้งบประมาณในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ผิดเพี้ยนจนทำให้ภาครัฐต้องซื้อของแพงเกินจริงนั้น นายณัฐภัทรระบุว่าการเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้าถึงข้อมูล รวมถึงการมีผู้สังเกตการณ์อิสระในโครงการที่เข้ากับเงื่อนไขข้อตกลงคุณธรรม เพื่อช่วยกันตรวจสอบและป้องกันการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน การกำหนดราคากลางควรตั้งเป็น “ตลาดกลางออนไลน์” เพื่อให้คู่ค้ามาจดทะเบียนสินค้า หรือสเปกสินค้าต่าง ๆ ให้เป็น “แคตาล็อก ออนไลน์” เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถเข้าไปดูคุณลักษณะสินค้าแต่ละประเภทและราคาตลาดได้โดยง่าย รวมถึงเป็นการเปิดกว้างให้หน่วยงานรัฐเห็นราคาสินค้าจากหลายแหล่ง เพื่อให้การเกิดการเปรียบเทียบ และคัดเลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดในการใช้งบประมาณ
แม้ว่าจะมีการออกมาตรการหรือหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางมาบังคับใช้ ไปจนถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเฝ้าระวังและป้องกันการทุจริต แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่สามารถทำให้การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหมดสิ้นลงได้ นั่นก็เพราะผู้กระทำความผิดมีการหลบเลี่ยงการตรวจสอบอยู่เสมอ ทุกภาคส่วนจึงควรเข้ามามีส่วนร่วม รู้เท่าทันขบวนการ และไม่อดทนต่อการทุจริตที่พบเห็น
Advertisement