ปัจจุบัน การเข้ามาสวมสิทธิ์ในที่ดิน ส.ป.ก. มีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือเจ้าหน้าที่รัฐสมคบคิดเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุน ทำให้ที่ดิน ส.ป.ก. ส่วนหนึ่งตกไปอยู่ในมือของผู้ที่ไม่ใช่เกษตรกร รายการ SPOTLIGHT Anti Corruption Season 3 พาไปดูขบวนการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดิน ส.ป.ก. โดยมิชอบ ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนรู้เห็นในการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนและนอมินี รวมถึงค้นหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
จากกรณีอดีตเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมา ออกเอกสารสิทธิ์ให้ 13 นอมินี ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 600 ไร่ เพื่อรองรับน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันกลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังบุกจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 4 ราย ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจโดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยร่วมกันออกเอกสารสิทธิให้กับนอมินีที่เป็นชาวบ้าน 13 ราย เพื่อปกปิดความผิดของบริษัทที่ปล่อยน้ำเสียลงที่ดินของ ส.ป.ก. จนเป็นเหตุที่ทำให้ที่ดินของรัฐได้รับความเสียหาย ให้กลายเป็นความผิดในการปล่อยน้ำเสียลงพื้นที่ของชาวบ้านแทน
จุดเริ่มต้นของคดีนี้เกิดขึ้นจากชาวบ้านในพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำเสียได้รวมตัวกันร้องเรียนมายัง นายกฤษฎา อินทามระ ผู้ที่ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนว่าเป็น “ทนายปราบโกง” ให้เข้ามาตรวจสอบการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันลงที่ดินดังกล่าว
นายกฤษฎาให้สัมภาษณ์กับทีมงาน SPOTLIGHT ว่าตนได้ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพบว่ามีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำเสียจริง สะท้อนจากการปิดประกาศขายบ้านจำนวนหลายหลังของชาวบ้านที่ไม่อาจอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกต่อไป
โดยเมื่อเดินสำรวจบริเวณหลังโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันพบว่ามีการเจาะท่อใต้ดินเพื่อปล่อยน้ำเสียทอดยาวหลายกิโลเมตร โดยมีลักษณะการขุดบ่อย่อย ๆ จำนวนมากในที่ดินหลายร้อยไร่ เพื่อเป็นจุดปล่อยน้ำเสียและพักตะกอน ทำให้เป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันจึงไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียตามกฎหมายที่กำหนด และเป็นที่สงสัยว่าอาจมีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมาด้วยหรือไม่ เนื่องจากคาดว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวอาจเป็นที่ดินของ ส.ป.ก.
จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินของ ส.ป.ก. จริง โดยคิดเป็นเนื้อที่ราว 600 ไร่ ทั้งนี้ นายกฤษฎากล่าวว่ามีความพยายามของเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก. จังหวัดนครราชสีมา ในการร่วมมือกับบริษัทโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันในการปกปิดความผิดจากการปล่อยน้ำเสียลงที่ดินของ ส.ป.ก. ให้กลายเป็นความผิดในการปล่อยน้ำเสียลงพื้นที่ของชาวบ้าน ด้วยการจัดหานอมินี 13 ราย มาสวมรอยเป็นชาวบ้านเพื่อรับมอบที่ดิน ส.ป.ก. รายละ 50 ไร่ ด้วยการแอบอ้างเป็นเกษตรผู้เลี้ยงปลา แต่การสืบสวนสอบสวนทำให้ค้นพบว่าชาวบ้านทั้ง 13 ราย เป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันดังกล่าว
นอกจากพฤติกรรมการทุจริตที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่ในการหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องแล้ว การบุกรุกและใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ยังมีปมปัญหาพื้นที่ทับซ้อนของหลายหน่วยงานที่เสี่ยงทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้อีกด้วย
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ป่าสงวนถูกบุกรุกอย่างหนัก ซึ่งภาครัฐก็มีความพยายามในการผ่อนปรนมาโดยตลอด จนกระทั่งมีพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ออกมา และได้มีการยกที่ดินป่าสงวนให้กับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งช่วงเวลานั้นมีประมาณ 30 - 40 ล้านไร่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการยกที่ดินดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ไปจัดสรรที่ดินทำกินแก่ประชาชน แต่ที่ดินเหล่านั้นก็ยังมีสถานะเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งหมายความว่าไม่อาจนำไปซื้อขายเปลี่ยนมือ หรือดำเนินการใด ๆ ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐกำหนด ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าที่ดินของรัฐมีการทับซ้อนกันเองด้วย จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ หรือ One Map ทำหน้าที่พิจารณาและตัดสินว่าพื้นที่ที่มีการทับซ้อนกัน ควรเป็นพื้นที่ของใคร ฉะนั้นต้องมีการตรวจสอบให้รอบคอบ ก่อนที่จะมีการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. หรือการออกหนังสือรับรองให้สำหรับผู้ที่ร้องขอ
นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์กับทีมงาน SPOTLIGHT ว่าที่ดิน ส.ป.ก. ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ หากมีการซื้อขายที่ดินดังกล่าว การซื้อขายย่อมตกเป็นโมฆะ ขณะที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ระบุชัดว่าไม่ต้องการให้กรรมสิทธิ์แก่ผู้ถือครอง เพื่อป้องกันปัญหาที่ดินหลุดมือไปสู่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และเพื่อเป็นการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการขาดที่ดินทำกินของเกษตรกร
ปัจจุบัน การดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรก็ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้ ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากการดำเนินงานที่บุคลากรมีค่อนข้างน้อย การขาดบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เช่น ช่างรังวัด งบประมาณที่ไม่เพียงพอในการตรวจสอบ รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการตรวจสอบสิทธิเกษตรกร และระบบการจัดที่ดินของ ส.ป.ก. ที่ยังไม่ทันสมัย
ดังนั้นการตรวจสอบจึงมุ่งไปที่จังหวัดนครราชสีมาก่อน เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีที่ดิน ส.ป.ก. มากที่สุด โดยมีเนื้อที่ประมาณ 4 ล้านไร่ ซึ่งชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเริ่มต้นกันมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2530 ทำให้ยากแก่การตรวจสอบ โดยผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ปัจจุบัน ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าทำประโยชน์เชิงเกษตรในที่ดินแล้ว แต่ได้นำที่ดินไปขายต่อและถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งผิดวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินของรัฐอย่างชัดเจน
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่จะลงตรวจสอบพื้นที่ตามวิธีปฏิบัติทางปกครอง ทั้งนี้ หากพบว่ามีการใช้ที่ดินของรัฐผิดวัตถุประสงค์ จะมีการส่งหนังสือเชิญให้ผู้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเข้ามาชี้แจงภายใน 30 วัน หากเป็นเหตุผลที่สามารถรับฟังได้ก็จะไม่มีปัญหา ขณะเดียวกันหากเป็นเหตุผลที่ไม่สามารถรับฟังได้ รัฐจะมีการดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์ และต้องมีการปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่เดิมภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้มีการผ่อนปรนด้วยการจัดทำระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2566
ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ได้จัดให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนดก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ให้มาดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินกับ ส.ป.ก. จังหวัด ภายใน 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ เพื่อรับสิทธิโดยการเช่าที่ดินตามที่กำหนด
ความเสียหายจากปัญหาทุจริตที่ดิน ส.ป.ก. ไม่ใช่แค่การสูญเสียผืนดินและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีค่าเท่านั้น แต่ยังเป็นการตัดโอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกินของเกษตรกร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความยากจนให้หมดไปจากประเทศไทย ดังนั้นปัญหาทุจริตที่ดิน ส.ป.ก. จึงต้องแก้ไขทั้งระบบ รวมถึงการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เกษตรกรอีกด้วย
Advertisement