Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
ปก. ร่วม 3 เครือข่ายโทรศัพท์ ทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast

ปก. ร่วม 3 เครือข่ายโทรศัพท์ ทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast

7 พ.ค. 68
16:37 น.
แชร์

ปก. ร่วมกับ 3 เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast ระดับอำเภอ ย้ำประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยและสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชน

(7 พ.ค. 2568) เวลา 13.00 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นประธานการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) ระดับกลาง (อำเภอ) ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองฯ จ.ลำปาง อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ อ.เมืองฯ จ.สุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ 3 ค่าย ทั้งบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด รวมถึงนางสาวนิติยา พงษ์พาณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายชุมพิชญ์ เดชะรัฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหาร ปภ. หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่ ปภ. เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ปฏิบัติการสื่อใหม่ กรมประชาสัมพันธ์ และผ่านระบบประชุมทางไกล

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 ค่าย ได้แก่ AIS True และ NT กำหนดทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่าน สัญญาณโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) ใน 3 ระดับ (ระดับเล็ก ระดับกลาง และระดับใหญ่) ในวันที่ 2, 7 และ 13 พ.ค. 2568

ซึ่งจากการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยระดับเล็ก (ภายในอาคาร) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ศาลากลาง จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และอาคาร B พบว่าการทดสอบการแจ้งเตือนภัยเป็นไปด้วยดี ประชาชนในอาคารเป้าหมายได้รับเสียง สัญญาณและข้อความแจ้งเตือนภัยภายในเวลาอันรวดเร็วและทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ทดสอบ ถือได้ว่าการทดสอบระดับเล็กประสบผลสำเร็จ

"สำหรับการทดสอบการแจ้งเตือนภัยในวันนี้ (7 พ.ค. 68) เป็นการทดสอบการแจ้งเดือนภัยระดับกลาง (ระดับอำเภอ) ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ อ.เมืองฯ จ.ลำปาง อ.เมืองฯ จ.นครสวรรค์ อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา อ.เมืองฯ จ.สุราษฎร์ธานี และเขตดิบแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมถึงอาคารศูนย์ปฏิบัติการสื่อใหม่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ที่ใช้เป็นสถานที่จัดการทดสอบครั้งนี้ด้วย

จากการทดสอบการแจ้งเดือนภัยขนาดกลางในวันนี้พบว่าประชาชนได้รับการแจ้งเตือนในเวลาไม่ถึง 1 นาที หลังจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือกดส่งสัญญาณ และได้รับในเวลาที่ใส่เลี่ยกันทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้บริการเครือข่ายหรือระบบปฏิบัติการใดก็ตาม ซึ่งถือเป็นการยืนยันประสิทธิภาพของการใช้ระบบ Cell Broadcast ในการแจ้งเตือนภัยที่สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนจำนวนมากได้ในเวลาที่รวดเร็ว ทั้งนี้ อาจมีประชาชนนอกเขตพื้นที่เป้าหมายในรัศมี 1.5 กิโลเมตร ได้รับเสียงสัญญาณแจ้งเตือนภัย เนื่องจากรัศมีการส่งสัญญาณของเสาสัญญาณในพื้นที่ ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตกใจ" นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว

นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า "จากการทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast 2 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าประชาชนมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าและการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจระบบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast มากขึ้น และทราบถึงรายละเอียดของการทดสอบการแจ้งเตือนเป็นอย่างดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยต้องขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนที่ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งช่วยลดความตื่นตระหนกของประชาชนได้เป็นอย่างดี

สำหรับการทดสอบครั้งถัดไปในวันที่ 13 พ.ค. 68 เวลา 13.00 น. จะเป็นการทดสอบการแจ้งเตือนภัยในระดับใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัด ซึ่งได้กำหนดพื้นที่ทดสอบ จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร ซึ่งประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ 4G และ 5G ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชั่น 11 ขึ้นไป และระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชั้น 18 ขึ้นไป จะได้รับการแจ้งเตือนโดยอัตโนมัติ สำหรับประชาชนที่ใช้โทรศัพท์รุ่น 2G และ 3G ซึ่งไม่รองรับระบบการแจ้งเตือนด้วย Cell Broadcast จะไม่ได้รับการแจ้งเตือนในการทดสอบนี้

ทั้งนี้ ขอประชาชนอย่าได้กังวล เนื่องจากในกรณีที่เกิดสาธารณภัยขึ้นจริง ประชาชนกลุ่มผู้ใช้บริการ 2G และ 3G จะได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยแทน ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือได้มีการพัฒนาระบบและอุปกรณ์การทำงานเพื่อให้สามารถดำเนินการส่ง SMS ถึงประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้ในเวลา 10 นาที"

"ผลการทดสอบในวันนี้เป็นที่น่าพอใจ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่อยู่ในห้องประชุมได้รับการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีหลังจากกดส่งสัญญาณ ในส่วนของจังหวัดเองก็รายงานว่าประชาชนในพื้นที่ได้รับเสียงสัญญาณและข้อความแจ้งเตือนภัยอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ เพื่อ ประเมินประสิทธิภาพของการทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast

ขอฝากให้ประชาชนในพื้นที่ทดสอบทำแบบสอบถาม Google Form ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดทำขึ้น เพื่อที่ ปภ. จะได้รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะจากประชาชนเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast ให้มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

นอกจากนี้ ขอฝากให้ประชาชนติดตามการทดสอบในครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นเป็นการทดสอบระดับใหญ่ กินพื้นที่ทั้งจังหวัด โดยสามารถติดตามผลการทดสอบแจ้งเตือนภัยแบบ real time ไปพร้อมๆ กันได้ทาง facebook live ผ่านเพจกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย" นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าวสรุป

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะหน่วยงานกลางในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ จะร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยของประเทศให้ทันสมัย ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ประชาชนได้รับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าอย่างทั่วถึงและทันท่วงที

โดยประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณภัย ตลอดจนการรายงานการแจ้งเตือนสาธารณภัยประจำวันได้ทาง Facebook กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X @DDPMNews รวมถึงช่องทางอื่นๆ อาทิ TikTok @DDPM_1784 และ YouTube DDPMNews รู้ทันภัยกับ ปภ.

Advertisement

แชร์
ปก. ร่วม 3 เครือข่ายโทรศัพท์ ทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast