Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดความหมาย เครื่องหมายตัว T บนเหล็กข้ออ้อยในงานอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

เปิดความหมาย เครื่องหมายตัว T บนเหล็กข้ออ้อยในงานอุตสาหกรรมการก่อสร้าง

23 เม.ย. 68
16:48 น.
แชร์

วสท. ยัน เครื่องหมายตัว T บนเหล็กข้ออ้อยในงานอุตสาหกรรมการก่อสร้างสามารถใช้งานกับอาคารสูงได้ปกติ ไม่มีผลต่อโครงสร้าง และใช้ในวงการมานานกว่า 20 ปีแล้ว

(23 เม.ย. 2568) ที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) รศ.ดร.สมิตร ส่งพิริยะกิจ ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, นายกฤษฎา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ นายนพดล ใจซื่อ อุปนายกวิชาการสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ได้ร่วมแถลงเกี่ยวกับเรื่องเหล็กเส้นที่ใช้สร้างตึก สตง. หลังเกิดเหตุถล่ม โดย รศ.ดร.สมิตร ระบุว่า ชั้นคุณภาพของเหล็กข้ออ้อยตาม มอก.24-2559 มี 3 ชั้นคุณภาพ คือ SD30, SD40 และ SD50 ส่วนเครื่องหมาย T เป็นการบอกวิธีการผลิตเท่านั้น

อธิบายตามหลักการคือ เหล็กที่มีเครื่องหมาย T เวลาเอาออกจากเตา ขึ้นรูปแล้ว ก็จะเอาละอองน้ำไปพ่นใส่ ทำให้เย็นอย่างเร็ว และนำไปอบอีกที ทำให้ผิวด้านนอกแข็งมากกว่าข้างใน แต่เหล็กที่ไม่มีตัว T พอเอาออกจากเตาไม่ได้มีการทำให้เย็น เป็นการปล่อยวางไว้ให้เย็นตัวเอง จากนั้นมีการเพิ่มสารเคมีบางตัวเพื่อเสริมความแข็งแรง ทำให้เหล็กตัว T มีราคาถูกกว่าเพราะไม่มีการเพิ่มสารเคมี ซึ่งทุกคนที่ทำงานด้านวิศวกรรับรู้มากว่า 20 ปี และในการประมูลงาน จะต้องมีการสอบถามผู้ว่าจ้างก่อนว่ายินดีให้ใช้เหล็ก T ไหม ส่วนมากจะยินยอม เพราะเป็นการลดค่าใช้จ่ายของเจ้าของงาน

เหล็กที่ส่งมาจากโรงงาน เมื่อมาถึงหน้างานแล้วจะมีการทดสอบมาตรฐานก่อนใช้งาน โดยถ้าส่งเหล็กมา 300 เส้นจะมีการสุ่มทดสอบ 3 เส้น 400 เส้นสุ่ม 4 เส้น ในการทดสอบจะมี 3 อย่าง คือทดสอบแรงเค้น สูงสุดแค่ไหน ทดสอบความยืด และ ทดสอบดัดโค้ง ว่าจะเกิดการแตกหรือไม่ ส่งไปตรวจสอบที่สถาบันเหล็ก, มหาวิทยาลัยที่มีการสอนโยธา, แขวงทางหลวง หรือกรมโยธาธิการที่มีเครื่องทดสอบ ใช้เวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์จะทราบผล ถ้าไม่ผ่านมาตราฐาน เหล็กทั้งกองจะไม่สามารถใช้ได้ แต่ที่ผ่านมาจากการตรวจสอบไม่พบเหล็กไม่ผ่านมาตราฐาน แต่เจอเหล็กน้ำหนักเบาปริมาณเยอะขึ้น ซึ่งก็ถือว่าไม่ผ่านมาตราฐานอยู่ดี

เหล็กที่กำลังสูงจะมีความแข็งมากและจะมีแรงจัดโค้งได้น้อย อย่างเหล็ก SD50 และ SD50T ถ้าต้องมีการดัดโครงเหล็กวิศวกรจะทราบดีว่าควรใช้เหล็ก SD40 หรือ SD40T มากกว่า ในการทำเหล็กปลอก

เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเหล็ก T หรือ Non T สามารถใช้งานได้เท่ากัน สามารถใช้ก่อสร้างอาคารสูงได้ และใช้ได้ทุกงานคอนกรีตเสริมเหล็กทุกประเภท

นอกจากนี้ รศ.ดร.สมิตร ยังให้ความเห็นส่วนตัวเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ตึก สตง.แห่งใหม่ถล่มนั้น เชื่อว่าเหล็กไม่ใช่สาเหตุหลัก แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นปัจจัยด้านไหน

ด้านนายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงผลกระทบต่องานก่อสร้างหลังมีความสับสนเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เหล็กตัว T สามารถใช้ในการก่อสร้างได้หรือไม่ว่า เนื่องจากปัจจุบันมีบางส่วนราชการมีหนังสือเวียนภายในแนะนำไม่ควรให้ใช้เหล็กที่มีตัว T ในการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการก่อสร้างได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการสต๊อกวัสดุไว้แล้ว เพราะจากการที่มีเหล็กในสต๊อกก็ไม่รู้ว่าจะนำไปขายให้กับใคร เกิดปัญหาสินค้าค้างสต๊อก อีกทั้งหากมีการแนะนำไม่ให้ใช้เหล็กข้ออ้อยตัวT ก็จะทำให้ราคาของเหล็ก Non T ก็จะพุ่งสูงขึ้นจะทำให้เหล็กไม่เพียงพอ และขาดตลาด รวมทั้งการทำงานก็จะช้าลงเพราะไม่มีของในสต๊อก

นายกฤษดา ระบุเพิ่มเติมว่า ส่วนเหล็กจากอาคาร สตง.ถล่มที่นำมาตรวจสอบ ยอมรับว่าไม่ผ่านมาตรฐาน แต่ทั่วไปร้อยละ 90 ได้มาตรฐาน

Advertisement

แชร์
เปิดความหมาย เครื่องหมายตัว T บนเหล็กข้ออ้อยในงานอุตสาหกรรมการก่อสร้าง