ความรุนแรงในโรงพยาบาลต่อบุคลากรทางการแพทย์เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงและเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลทั่วโลก รวมถึงไปถึงในประเทศไทย การที่บุคลากรทางการแพทย์ตกเป็นเหยื่อของการถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจนั้น ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อตัวบุคลากรเอง รวมไปถึงส่งผลไปยังการให้บริการผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้น กลายเป็นเรื่องที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความรุนแรงในโรงพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น ความเครียดจากสถานการณ์ฉุกเฉินในการทำงาน ความไม่พอใจของผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย รวมไปถึงภาวะความเครียดส่วนตัวที่เกิดจากสถานการณ์ในปัจจุบัน
การใช้ความรุนแรงไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วยและสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงพยาบาลด้วย ดังนั้นการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
สถิติที่น่ากังวล เมื่อความรุนแรงในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า 8 - 38% ของบุคลากรสาธารณสุขเคยเผชิญกับการถูกทำร้ายร่างกาย และหลายคนเคยถูกข่มขู่ และถูกใช้ถ้อยคำที่รุนแรงจากผู้ป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงยังเกิดเหตุการณ์ทำลายทรัพย์สินในโรงพยาบาลขึ้นอีกด้วย
โดยมีสถิติจากต่างประเทศที่พบว่า พยาบาลที่ต้องทำงานในห้องฉุกเฉินกว่า 70% ถูกทำร้ายทั้งด้วยคำพูด และใช้ความรุนแรงในขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกทำร้ายมากที่สุดคือ ผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งต้องรับหน้า และช่วยเหลือพยาบาล ขณะที่ตัวแพทย์เองก็ต้องเจอกับความรุนแรงแบบนี้ไม่ต่างกัน
จากการเก็บสถิติช่วง ปี พ.ศ. 2555 – 2563 เฉพาะในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข พบเหตุรุนแรงกว่า 66 ครั้ง ซึ่งเป็นการทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ 22 ครั้ง หรือ 1 ใน 3 ซึ่งทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลนั้นได้มีการดำเนินคดีโดยไม่มีการรอลงอาญา
สาเหตุความรุนแรงในโรงพยาบาล
ความเครียดและกดดัน - บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เครียด โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวกับชีวิตและความตาย ความเครียดที่สะสมอาจส่งผลให้เกิดความกดดัน
ความไม่พอใจของผู้ป่วย/ญาติ - การรักษาอาจไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ผู้ป่วยอาจไม่พอใจในบริการหรือผลการรักษา และทำให้เกิดความโกรธหรือความเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่การก่อเหตุใช้ความรุนแรง
การสื่อสารที่ผิดพลาด - ขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างบุคลากรและผู้ป่วย ความเข้าใจผิดในการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน อาจทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย/ญาติ
การรอคอย - ผู้ป่วยที่ต้องรอคอยเป็นเวลานานในการรับการรักษาอาจเกิดความหงุดหงิดและโกรธเคือง ส่งผลให้เกิดการทะเลาะหรือก่อเหตุความรุนแรง
ปัญหาทางจิตใจของผู้ป่วย - ผู้ป่วยบางรายอาจมีปัญหาทางจิตใจหรืออารมณ์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ในบางรายอาจมีปัญหาทางจิตเวชที่ทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ยาก
การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาลต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยแต่ละฝ่ายต่างก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีหลายปัจจัยทั้งจากตัวผู้ป่วย ญาติ บุคลากรทางการแพทย์ สภาพแวดล้อม และระบบการทำงาน
หยุดความรุนแรงในโรงพยาบาล
สร้างความตระหนัก – ให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาลแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ปรับปรุงระบบความปลอดภัย - จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่าย
ฝึกอบรมบุคลากร - อบรมทักษะการสื่อสาร การจัดการความขัดแย้ง และการรับมือกับสถานการณ์รุนแรง
บังคับใช้กฎหมาย – การดำเนินคดีกับผู้กระทำความรุนแรงอย่างจริงจัง เพื่อให้มีการป้องกันและลงโทษผู้ที่ก่อเหตุเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดปัญหานี้ได้
ความรุนแรงในโรงพยาบาลเป็นปัญหาที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารโรงพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และประชาชน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้นด้วย หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาลก็จะลดลง และโรงพยาบาลจะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
Advertisement