“ชัชชาติ” ลั่น ไร้สาระ สยบข่าวสั่งเปลี่ยนวิธีก่อสร้างทางยกระดับ ก่อน สะพานถล่ม

11 ก.ค. 66

 

“ชัชชาติ” ลั่น ไร้สาระ สยบข่าวสั่งเปลี่ยนวิธีก่อสร้างทางยกระดับ ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ก่อน สะพานถล่ม ขีดเส้น 3 วัน เคลียร์พื้นที่จราจร 

เมื่อเวลา 11.20 น. วันที่ 11 ก.ค.66 ที่อาคารธานีนพรัตน์ นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงกรณีเหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ในพื้นที่เขตลาดกระบังถล่มเมื่อวานนี้ว่า ที่มีข่าวว่าทีมชัชชาติให้เปลี่ยนแบบอะไรนั้น ตนคิดว่าไม่มีประเด็น และเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะจริงๆ แล้วเป็นเรื่องกระบวนการก่อสร้างปกติที่ผู้รับเหมาดำเนินการก่อสร้างล่าช้า และก็ได้ขอเปลี่ยนวิธีก่อสร้างมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ไม่มีที่เราไปสั่งเปลี่ยนอะไร การสื่อสารอะไรก็ขอให้ดูเรื่องความถูกต้องด้วย เพราะถ้านำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จทางออนไลน์ก็มีความผิดทางกฎหมาย ดังนั้นอย่าไปสร้างความสับสนให้กับสังคม และขอให้เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ที่ออกมาพูด 

“ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นเรื่องขั้นตอนกระบวนการทางวิศวกรรม ไม่มีใครที่จะไปสั่งให้ทำเสี่ยง เป็นไปไม่ได้” นายชัชชาติ กล่าว 

นายชัชชาติ กล่าวว่า โครงการนี้มีการประมูลมาตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 64 วงเงินตามสัญญา 1,664.55 ล้านบาท ซึ่งเป็นการประมูลก่อนที่เราจะเข้ามาทำงาน ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องความล่าช้า และ ส.ก.ได้ตั้งกระทู้อยู่ในสภากทม. ซึ่งเราก็พยายามเร่งรัดการดำเนินการอยู่ ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 17.40 น. เมื่อวานนี้ บริเวณหน้าปั้มน้ำมัน โครงสร้างสะพานพังลงมามีความเสียหาย 1 ช่วงสะพาน และอีก 2 เซกชั่น มีเสาที่พัง 2 ต้น โดยชิ้นส่วนสะพานตกลงมาตรงกลาง และเอียงไปทางช่องซ้ายการจราจรหน้าปั้มน้ำมัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่เกิดเหตุ 1 คนเป็นวิศวกรที่ทำเรื่องดึงลวด และคนงานอีก 1 คนไปเสียชีวิตที่ รพ. ขณะที่บุคคลทั่วไปมีบาดเจ็บบ้าง ถือว่าโชคดีที่รถถูกทับ แต่คนขับเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีจึงวิ่งหนีออกมาได้พร้อมกับคนที่นั่งมาด้วย 

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สถานการณ์ขณะนี้ เมื่อคืนตนได้สั่งการให้เตรียมรื้อถอนโดยบริษัทผู้รับเหมา และช่วงเช้าที่ผ่านมามีการใช้เครนยกชิ้นส่วนบางชิ้นที่กีดขวางทางจราจรขึ้นไปบ้างแล้ว ตนให้เวลา 3 วันในการเคลียร์พื้นที่เปิดทางจราจร สาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นจากกระบวนการก่อสร้าง และคิดว่าการก่อสร้างเป็นไปตามช่วงเวลา การเร่งรัดสร้างคงไม่ใช่สาเหตุ แต่จากนี้ทุกโครงการจะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มข้น เพราะทุกโครงการมีความเสี่ยงทั้งหมด 

นายชัชชาติ กล่าวว่า ภายหลังเกิดเหตุวิศวกรของบริษัทก็ให้ความร่วมมือดี ช่วยดูอยู่ตลอด เพราะเขาต้องรับผิดชอบเรื่องการรื้อถอน เราเป็นเพียงแค่ผู้อำนวยการเหตุ โดยมีสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร กำกับดูแลผู้รับเหมาในการรื้อถอน ผอ.เขตดูแลเรื่องการจราจร และคนในพื้นที่ ส่วนระยะเวลาการรื้อถอนก็มีความเป็นห่วงอยู่ เพราะมีบางชิ้นส่วนกีดขวางทางจราจรก็พยายามเร่งให้เร็ว รวมถึงสำรวจความเสียหายการดำเนินการของโครงการต่อไปด้วย เรามีการแบ่งงานอย่างชัดเจนตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว ส่วนบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหายก็ต้องไปสำรวจเป็นลำดับขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป 

“เรื่องนี้ก็เป็นบทเรียนให้ทุกคนในแง่วิศวกรรม และเป็นบทเรียนในอนาคตด้วย ที่ผ่านมา กทม.มีความเสียหายเรื่องศูนย์กีฬาบึงหนองบอนที่ยังมีปัญหาและทำไม่สำเร็จ ก็เป็นบทเรียนที่ต้องดูแลให้เข้มข้นขึ้น กทม.ในฐานะเจ้าบ้านต้องไปดูคนอื่นที่มาก่อสร้างในบ้านเรา และดูทของเราเองให้ดีด้วย” นายชัชชาติ กล่าว 

เมื่อถามว่า จะขึ้นแบลคลิสต์บริษัทที่ดำเนินการดังกล่าวหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ไม่รู้ว่ากระบวนการทางกฎหมายเป็นอย่างไร ต้องไปสรุปหาสาเหตุให้ได้ก่อน แต่เราก็ยืนยันว่าอยากได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เพราะการก่อสร้างในพื้นที่สาธารณะมีความเสี่ยงกับประชาชน หากเป็นความบกพร่อง เลินเล่อของผู้รับเหมา และมีช่องทางทางกฎหมายไม่ให้เข้ามาประมูลได้ในครั้งต่อไป ก็ต้องหาทางดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้ทำผิดแล้ว คราวหน้ากลับมาทำใหม่ ทุกอย่างต้องทำตามกรอบกฎหมาย เราคงทำตามใจไม่ได้ อย่างไรก็ตามระหว่างการรื้อถอนนี้ก็ให้เก็บหลักฐานด้วย เราไม่ได้จับผิดใคร แต่อยากรู้สาเหตุเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต 

ขณะที่นาย วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทั้งนี้เราต้องระงับการก่อสร้างไปจนกว่าจะมีแผนที่รับได้ ขั้นตอนวันนี้คือการดำเนินการตามแผน เพื่อรื้อถอนชิ้นส่วนบางส่วน และวิเคราะห์สาเหตุการเกิดขึ้น ต้องใช้เวลานิดนึง ส่วนตัวคอนกรีตที่มีความหนักต้องใช้เวลาและต้องมีแผนการรื้อถอนที่ปลอดภัย เนื่องจากหน้างานมีพื้นที่จำกัด โดยผู้รับจ้างจะเสนอแผนขึ้นมา 

น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับผู้บาดเจ็บตอนนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย มีคนงานได้รับบาดเจ็บ 12 คน ทั้งนี้ยืนยันว่า กทม.จะดูแลเต็มที่ และ รพ.ได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณารับเป็นคนไข้ในพระบรมราชูปถัมป์ รวมถึงผู้ที่เสียชีวิตด้วย เราพร้อมเยียวยาทุกรูปแบบที่สามารถดำเนินการได้ 

ด้านนายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า สาเหตุการก่อสร้างล่าช้าหลังจากเซ็นสัญญาเมื่อปี 64 นั้น เนื่องจากมีการแพร่ระบาดโควิด-19 การนำคนงานเข้ามาก่อสร้างก็ถูกระงับทั้งหมด ทำให้งานก่อสร้างล่าช้าออกไป อีกทั้งในข้อสัญญาได้ระบุว่าห้ามรับเหมาช่วง จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทที่ทำสัญญา

 

advertisement

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส