การจัดการดินอย่างมีประสิทธิภาพคือรากฐานสำคัญของการเกษตรยั่งยืน พื้นที่ตำบลหัวโพ อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ได้กลายเป็นต้นแบบของความสำเร็จและการขยายผลองค์ความรู้ ผ่านบทบาทของ ศูนย์ฝึกปฏิบัติการพัฒนาที่ดิน ที่ได้รับการยกระดับจากศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีเดิม ซึ่งมีหมอดินอาสาเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนองค์ความรู้สู่ชุมชน
นายสะอาด บุตรเล็ก ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินราชบุรี สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 กล่าวถึงความเป็นมาของศูนย์ฝึกปฏิบัติการแห่งนี้ว่ามีจุดเริ่มต้นจากนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน เมื่อปี พ.ศ. 2538 ที่ได้จัดตั้งหมอดินอาสา เพื่อเป็นผู้ประสานงานและส่งต่อองค์ความรู้ในการพัฒนาที่ดินสู่เกษตรกร ต่อมาในปี 2560 สถานีพัฒนาที่ดินราชบุรีได้คัดเลือกพื้นที่ของ นายศักดิ์สิทธิ์ แก่นศักดิ์ หมอดินอาสาในอำเภอบางแพ ให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน และในปี 2566 ก็ได้ยกระดับขึ้นเป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติการพัฒนาที่ดินอย่างเต็มรูปแบบภารกิจหลักของศูนย์ฯ แห่งนี้ คือการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติจริงในด้านการจัดการดิน การผลิตวัสดุปรับปรุงดิน เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และการทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งเกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ตรงกับบริบทของพื้นที่ตนเองทันที
นายศักดิ์สิทธิ์ แก่นศักดิ์ หมอดินอาสาผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันศูนย์แห่งนี้ เผยว่า ตนเองเริ่มต้นจากการศึกษาดูงานในหลายพื้นที่ แล้วนำความรู้กลับมาปรับใช้ในแปลงเกษตรของตนเอง รวมถึงจัดตั้งกลุ่มในชุมชนบ้านแหลมทอง ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่ทำเกษตรกรรม จากความตั้งใจและการลงมือทำจริง ทำให้ศูนย์ฝึกปฏิบัติฯ ได้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีทั้งเกษตรกรในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียงเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง โดยหมอดินอาสาเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ตรงในภาคสนาม สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือเกษตรกรที่เข้ามาเรียนรู้ ต่างสามารถนำแนวทางที่ได้รับไปใช้จริงได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการบ่มดิน การทำปุ๋ยหมัก การปลูกพืชผสมผสาน หรือการฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมโทรม ส่งผลโดยตรงทั้งในด้านรายได้ สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรกร
ศูนย์ฝึกปฏิบัติการพัฒนาที่ดินแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่ 146 ม.3 ต.หัวโพ อ.บางแพ จ.ราชบุรี ซึ่งความสำเร็จของศูนย์ฝึกปฏิบัติการฯนี้ เป็นข้อพิสูจน์ว่า การจัดการดินที่ดี คือจุดเริ่มต้นของเกษตรที่มั่นคง และเมื่อมี "หมอดิน" ที่พร้อมทำงานร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง ก็สามารถพลิกฟื้นพื้นที่เกษตรและสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกได้อย่างยั่งยืน
Advertisement