Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เมื่อ "กล้วย" ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ภาวะโลกรวนทำกล้วยอยู่ลำบาก

เมื่อ "กล้วย" ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ภาวะโลกรวนทำกล้วยอยู่ลำบาก

14 พ.ค. 68
11:43 น.
แชร์

เมื่อ "กล้วย" ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ภาวะโลกรวนทำกล้วยอยู่ลำบาก งานวิจัยเตือนพื้นที่เพาะปลูกกล้วยแหล่งใหญ่อาจสูญหายไปเกินครึ่งภายในปี 2080

กล้วยเป็นพืชอาหารที่สำคัญเป็นอันดับสี่ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าว และข้าวโพด ผู้คนกว่า 400 ล้านคนพึ่งพากล้วยเพื่อบริโภค แหล่งเพาะปลูกกล้วยแหล่งใหญ่ของโลกอยู่ในภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียน เนื่องจากแถบนี้มีสภาพอากาศแบบเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนที่มีอุณหภูมิสูง ปริมาณน้ำฝนเพียงพอ และความชื้นสูง ประกอบกับภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบต่ำและหุบเขาที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้ผลผลิตดี มีคุณภาพ สามารถส่งออกกล้วยไปสู่มือผู้คนทั่วโลกได้ถึงร้อยละ 80

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยล่าสุดที่เตือนว่า กล้วยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามของวิกฤตสภาพอากาศ พื้นที่ปลูกกล้วยที่เหมาะสมที่สุดในภูมิภาคร้อยละ 60 อาจสูญหายไปภายในปี 2080 เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่เลวร้าย ภัยแล้ง น้ำท่วม และโรคเชื้อรา ตามการวิจัยของ Christian Aid ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยทั่วโลก ซึ่งต้องต่อสู้กับรูปแบบสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ แสงแดดที่แผดเผา น้ำท่วม พายุเฮอริเคน และแมลงและโรคที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน" แอนนา เพียไรเดส ผู้จัดการอาวุโสด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนสำหรับกล้วยของมูลนิธิการค้าที่เป็นธรรมกล่าว

เกษตรกรในประเทศผู้เพาะปลูกกล้วยรายใหญ่ เช่น กัวเตมาลา และคอสตาริกา พบว่าผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด และมีความกดดันทางสังคมและเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น เกษตรกรไม่เพียงแต่ประสบปัญหาการเก็บเกี่ยวที่ล้มเหลวเท่านั้น แต่ยังต้องเผชิญกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เป็นอันตราย ซึ่งมักใช้ในการปกป้องไร่นาเชิงเดี่ยวจากศัตรูพืชและโรคพืชอีกด้วย

"การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังทำลายพืชผลของเรา สวนกล้วยของฉันกำลังตาย เมื่อไม่มีอะไรจะขาย รายได้ก็ขาดตามไปด้วย เราเตรียมใจมาตลอดว่าจะเกิดเรื่องแบบนี้ แต่มันกลับเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คิด" ออเรเลีย ป็อปโซ เกษตรกรชาวสวนกล้วยในกัวเตมาลา กล่าวกับองค์กรการกุศลแห่งนี้

วิกฤตสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสวนกล้วยในหลายด้าน กล้วยต้องการอุณหภูมิระหว่าง 15-35 องศาเซลเซียส เพื่อเจริญเติบโต แต่ก็ไวต่อภาวะขาดแคลนน้ำมากเช่นกัน นอกจากนี้ พายุยังเป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากพายุจะทำลายใบ ทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้ยากขึ้น นอกจากนี้ การติดเชื้อรายังเป็นภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น โดยโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดการสูญเสียสวนกล้วยทั้งหมดคือ เชื้อราฟูซาเรียมทรอปิคัลเรซ 4 ซึ่งทำลายสวนกล้วยในเอเชียและละตินอเมริกาไปแล้ว และยังแพร่ระบาดเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและน้ำท่วมที่เพิ่มขึ้น เท่านั้นยังไม่พอยังมีโรคอีกชนิดหนึ่งคือ Black Leaf Streak หรือ โรคใบดำ ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตกล้วยลดลงได้ถึงร้อยละ 80 เลยทีเดียว

องค์กร Christian Aid จึงเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและจัดหาเงินทุนด้านสภาพอากาศเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในประเทศที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังแนะนำให้เปลี่ยนมาปลูกกล้วยที่มีความยืดหยุ่นและยั่งยืน รวมถึงการลงทุนในพันธุ์กล้วยที่ทนแล้ง การปรับปรุงระบบชลประทาน และแนวทางการค้าที่เป็นธรรม

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ใช้แผนสภาพภูมิอากาศแห่งชาติที่ปรับปรุงใหม่ภายใต้ข้อตกลงปารีส ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปกป้องไม่ให้พื้นที่เพาะปลูกกล้วยต้องถูกลบหายไปจากแผนที่โลก ให้กล้วยได้เป็นแหล่งอาหารสำคัญของมวลมนุษยชาติต่อไป

Advertisement

แชร์
เมื่อ "กล้วย" ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ ภาวะโลกรวนทำกล้วยอยู่ลำบาก