Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
โรควุ้นตาเสื่อม เห็นจุดดำลอยวูบวาบ อย่านิ่งนอนใจ

โรควุ้นตาเสื่อม เห็นจุดดำลอยวูบวาบ อย่านิ่งนอนใจ

9 พ.ค. 68
17:31 น.
แชร์

เห็นจุดดำลอยวูบวาบ อย่านิ่งนอนใจ อาจไม่ใช่แค่สายตาพร่ามัว แพทย์เตือนระวัง "โรควุ้นตาเสื่อม" ภัยเงียบของคนวัย 50+ เสี่ยงจอตาฉีกขาดหลุดลอก

เมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายตามวัย หลายคนอาจนึกถึงอาการปวดเมื่อย หรือโรคประจำตัวต่าง ๆ แต่อีกหนึ่งภาวะที่มักเกิดขึ้นเงียบๆ โดยที่เราอาจไม่ทันสังเกต ก็คือ “โรควุ้นตาเสื่อม” ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมากถึง 2 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปต้องเผชิญกับภาวะนี้ โดยเฉพาะหากละเลยไม่ดูแล อาจนำไปสู่ปัญหาทางตาที่รุนแรงอย่าง “จอตาฉีกขาด” ซึ่งอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

โรควุ้นตาเสื่อม คืออะไร

พญ.รุ่งรวี สัจจานุกูล จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการผ่าตัดแก้ไขสายตา โรงพยาบาลพระรามเก้า อธิบายว่า วุ้นตาเป็นสารลักษณะคล้ายเยลลี่อยู่ในลูกตาส่วนหลัง ทำหน้าที่ช่วยรักษารูปร่างลูกตา เป็นทางผ่านของแสงและเป็นแหล่งอาหารของตา แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น วุ้นตาจะค่อย ๆ เสื่อมสภาพ ละลายเป็นน้ำและหดตัว ทำให้เกิดการดึงรั้งจอตา คล้ายกับการลอกสติ๊กเกอร์ออกจากกระดาษ ที่บางครั้งอาจมีเนื้อกระดาษติดออกมาด้วย ซึ่งหากแรงดึงนั้นมากเกินไป ก็อาจทำให้จอตาฉีกขาดได้

แม้ว่าโรคนี้จะเกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่จากงานวิจัยพบว่าในกลุ่มผู้ที่มีอาการวุ้นตาเสื่อม มีเพียง 6-14.5% เท่านั้นที่พัฒนาไปถึงขั้นจอตาถูกดึงจนเกิดรอยฉีก ภาวะวุ้นตาเสื่อมจะพบมากขึ้นในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น สายตาสั้นมากกว่า -6 ไดออปเตอร์ เคยผ่าตัดจอตาหรือต้อกระจก เคยได้รับอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือผู้ที่มีโรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี

โรควุ้นตาเสื่อม อาการ

สำหรับอาการของวุ้นตาเสื่อมที่พบบ่อย ได้แก่ การเห็นจุดดำลอยไปมา หรือเห็นแสงวาบคล้ายฟ้าแลบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นชั่วขณะ แต่ถ้าเกิดขึ้นบ่อยขึ้นหรือมีจำนวนมากขึ้น จนรบกวนการมองเห็นในชีวิตประจำวัน ควรเข้ารับการตรวจอย่างละเอียด บางรายอาจสังเกตอาการได้ชัดเจนเมื่อต้องมองพื้นเรียบ เช่น ผนังหรือท้องฟ้า โดยเฉลี่ยแล้วอาการเหล่านี้อาจคงอยู่นานราว 3 เดือน บางคนอาจค่อย ๆ ปรับตัวจนชินกับจุดดำที่ลอยไปมาได้โดยไม่จำเป็นต้องรักษาใดๆ

แต่หากมีอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เห็นเงาดำคล้ายม่านน้ำบัง มองเห็นเงาดำครึ้มในมุมสายตา หรือภาพพร่ามัวในบริเวณใดบริเวณหนึ่งของสายตา อาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังเกิดจอตาฉีกขาดหรือหลุดลอก ซึ่งต้องรีบพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อทำการตรวจขยายม่านตา หากตรวจพบรอยรั่วเล็กๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ยังสามารถรักษาได้ด้วยเลเซอร์ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ และไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน

โรควุ้นตาเสื่อม วิธีรักษา

พญ.รุ่งรวี ให้ข้อมูลต่อว่า การรักษาวุ้นตาเสื่อมนั้น ปัจจุบันมีทั้งวิธีเลเซอร์ เพื่อลดขนาดของตะกอนที่ลอยอยู่ในวุ้นตาให้รบกวนน้อยลง และการผ่าตัดเอาวุ้นตาออก ซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีทั้งข้อดีและความเสี่ยงร่วมกัน โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้

ผู้ป่วยลองปรับตัวและใช้ชีวิตร่วมกับอาการก่อน หากยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยเฉพาะในกรณีที่ตะกอนมีขนาดเล็กมาก แพทย์ส่วนใหญ่ก็จะไม่แนะนำให้รักษาด้วยวิธีเลเซอร์และการผ่าตัด เพราะทุกการรักษาย่อมมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นเมื่อตรวจวินิจฉัยแล้ว คนไข้ไม่ได้มีอาการที่รุนแรงที่มีความเสี่ยง หรือส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้คนไข้ปรับตัวและมองข้ามจุดเล็ก ๆ เหล่านั้นไป

นอกจาก “โรควุ้นตาเสื่อม” แล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่พบได้บ่อยในยุคดิจิทัลคือ “โรคตาแห้ง” โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องใช้สายตาจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือมือถือเป็นเวลานาน อยู่ในห้องปรับอากาศเป็นประจำ เผชิญกับมลภาวะ ฝุ่น ควัน หรือใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งหากปล่อยไว้อาจทำให้ต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาฝ่ออย่างถาวร ส่งผลให้ไม่สามารถสร้างน้ำมันเพื่อเคลือบดวงตาได้อีก ทำให้ตาแห้งเรื้อรัง มีอาการระคายเคือง พร่ามัว แพ้แสง และในบางรายอาจส่งผลให้เกิดความเครียดจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า

การดูแลสุขภาพดวงตา

การดูแลสุขภาพตาให้แข็งแรงนั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้กฎ 20-20-20 คือ ทุก 20 นาที ให้พักสายตา 20 วินาที ด้วยการมองไกลออกไปประมาณ 20 ฟุต หรือหลับตาชั่วครู่ รวมถึงการประคบอุ่นดวงตาเช้า-เย็น เพื่อช่วยให้ต่อมไขมันทำงานได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงแสงยูวีโดยสวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกแดด และหลีกเลี่ยงการขยี้ตาแรง ๆ หากรู้สึกแห้งหรือระคายเคืองควรใช้น้ำตาเทียมแทน

สำหรับการตรวจสุขภาพตานั้น ควรเริ่มตั้งแต่อายุน้อย โดยผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ควรตรวจตาอย่างน้อยทุก 5 ปี สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40-64 ปี ควรตรวจตาทุก ๆ 1-3 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติโรคตาในครอบครัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงสูง ควรตรวจปีละครั้ง และหากพบว่ามีภาวะเสื่อม หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจถี่ขึ้น เช่น ทุก 3-6 เดือน

โรงพยาบาลพระรามเก้า ตระหนักถึงความสำคัญของ “โรควุ้นตาเสื่อม” จึงผนึกกำลังกับ Plan B Media เปิดตัวบิลบอร์ดกลางเมืองให้เป็น “สัญญาณเตือนภัย” ที่ไม่เพียงแค่โฆษณา แต่ออกแบบมาให้คุณสามารถตรวจเช็กตัวเองง่าย ๆ ว่าคุณมีภาวะเสี่ยงวุ้นตาเสื่อมหรือไม่ ด้วย 3 เวอร์ชันที่จำลองอาการจริงของผู้ป่วย ทั้งการเห็นหยากไย่ จุดดำ และวุ้นน้ำขุ่นในสายตา เพื่อให้ทุกคนได้สำรวจตัวเองเบื้องต้นว่ามีอาการคล้ายเป็น “โรควุ้นตาเสื่อม” หรือไม่

อย่ารอให้สายตาเป็นเพียงความทรงจำ สำหรับผู้ที่สนใจปรึกษาเรื่องภาวะวุ้นในตาเสื่อม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 1270 หรือ Website: www.praram9.com / Line: lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital และ Facebook: Praram9 Hospital โรงพยาบาลพระรามเก้า HEALTHCARE YOU CAN TRUST เรื่องสุขภาพ…ไว้ใจเรา #Praram9Hospital อย่าลืมชวนคนที่คุณรัก มาร่วม “โอบกอดสุขภาพดีไปด้วยกัน” เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นในทุก ๆ วัน

Advertisement

แชร์
โรควุ้นตาเสื่อม เห็นจุดดำลอยวูบวาบ อย่านิ่งนอนใจ