เปิดข้อมูล กรมควบคุมโรค และ หมอยง ภู่วรวรรณ ไขคำตอบ โควิดกำลังระบาด จริงหรือไม่ ?
จากกรณีที่ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanart เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2568 โดยระบุว่า
"27 เมษายน-3 พฤษภาคม 2568 ตัวเลขในระบบโควิด-19 รายงานไว้ 8,446 ราย ที่ป่วยไปรพ. ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ไม่รวมคนที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้ไปรักษาที่รพ.
จะเห็นว่าป่วยกันทุกช่วงอายุ ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กเล็ก 0-4 ปีก็ป่วยกันเยอะทีเดียว ไม่ใช่แค่วัยทำงานและวัยสูงอายุ
กทม. เคสเยอะสุด เดี๋ยวเปิดเทอม ผู้ปกครองและคุณครูคงต้องช่วยกันดูแลเด็ก ๆ ให้ดี"
ต่อมา วันที่ 7 พ.ค. 2568 โพสต์ว่า "ลองดูสถานการณ์ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา ข้อมูลสัปดาห์ที่ 19 ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.2568 จนถึงปัจจุบัน คนป่วยจากโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่ถึง 2 เท่า เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
หากใครมีอาการป่วยตอนนี้ แต้มต่อในการเป็นโควิด-19:ไข้หวัดใหญ่ = 2:1 หรือแทงว่าน่าจะมีโอกาสเป็นโควิด-19 ราว 67%
ในขณะที่หากย้อนดู 2 สัปดาห์ จะพบว่าโควิด-19 เสียชีวิตไป 2 ราย ไข้หวัดใหญ่ไม่มีเสียชีวิต และหากย้อนดู 4 สัปดาห์ โควิด-19 เสียชีวิตไป 5 ราย ไข้หวัดใหญ่ 2 ราย
ปล.ตัวเลขป่วยในระบบข้างต้นไม่นับคนที่ไม่ได้มารับการรักษาที่รพ."
และล่าสุด 8 พ.ค. 2568 โพสต์ว่า "โควิด-19 vs ไข้หวัดใหญ่ ในกรุงเทพมหานคร ดูข้อมูลจากระบบรายงานเช้านี้ ในช่วง 4 วันที่ผ่านมา สัปดาห์ที่ 19 ปี 2568
น่าสนใจว่ามีเคสที่ป่วยมารับการรักษาที่รพ. (ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก) โดยเป็นโรคโควิด-19 มากกว่าไข้หวัดใหญ่ 6.7 เท่า โควิด-19 นั้น เพศหญิงเยอะกว่าชายราว 2 เท่า
ส่วนไข้หวัดใหญ่ หญิงชายพอ ๆ กัน
ในกลุ่มที่เป็นโควิด-19 มีเด็กเล็ก 0-4 ปีในสัดส่วนราว 5% ของจำนวนเคสที่รายงานทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มที่เป็นไข้หวัดใหญ่นั้น เด็กเล็ก 0-4 ปี มีราว 13%
ทั้งนี้ กลุ่มวัยทำงานถือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มากที่สุดในทั้งสองโรคด้วยทิศทางนี้ พอประเมินกันได้เองว่า หากป่วยตอนนี้มีโอกาสเป็นโควิด-19 สูงกว่าไข้หวัดใหญ่พอสมควร"
สถานการณ์ โรคโควิด-19 กลับมาเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้ง ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า โควิดกลับมาระบาด ? โควิดกำลังระบาดเงียบๆ จริงหรือไม่? ซึ่ง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ออกมาเปิดข้อมูล สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย
นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทยในรอบสัปดาห์นี้ ตั้งแต่วันที่ 4 - 8 พฤษภาคม 2568 กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วย 7,013 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี รองลงมากลุ่มอายุ 30 - 39 ปี และกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี ตามลำดับ ส่วนผู้เสียชีวิตมีอายุ 60 ปีขึ้นไป
สำหรับสถานการณ์โควิด 19 ของประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 พฤษภาคม 2568 พบผู้ป่วยสะสม 41,197 ราย เสียชีวิตสะสม 15 ราย ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา ประเทศไทยสามารถพบผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคมีความสัมพันธ์กับกิจกรรม หรือการรวมกลุ่มของคนเป็นจำนวนมาก รวมถึงปัจจัยด้านฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงฤดูฝนจะมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยรายสัปดาห์เริ่มมีแนวโน้มลดลง
ส่วนสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 8 พฤษภาคม 2568 ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสม 322,991 ราย อัตราป่วย 497.58 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 43 ราย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 13 - 26 เมษายน 2568) ปัจจุบันผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง อัตราป่วยสูงสุดพบในกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี และอายุ 10 - 14 ปี
เห็นได้ว่าผู้ป่วยโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ เนื่องจากโรคโควิด 19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยคาดว่าจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ต่อเนื่องจนถึงฤดูฝนนี้
อีกทั้งกำลังจะเข้าสู่ช่วงเปิดเทอมด้วย โอกาสที่จะพบการระบาดมากขึ้นจึงเป็นไปได้ ดังนั้น ขอเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่อย่างเคร่งครัดเมื่อเข้าไปในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก และเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วยในระบบทางเดินหายใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งหากป่วยอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ และหากมีอาการสงสัยป่วยควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK เพื่อไม่เป็นการนำเชื้อกลับไปติดกลุ่มเสี่ยง
“สิ่งสำคัญคือผู้ที่ออกนอกบ้านมีความเสี่ยงนำโรค ต้องป้องกันตนเองและระมัดระวังไม่นำเชื้อไปสู่กลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนมีความตระหนักแต่ไม่ตระหนก
โดยประชาชนทั่วไปควรเน้นรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล หากมีอาการไข้ ไอ ให้สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หรือที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ หากสงสัยป่วยควรตรวจด้วย ATK หากผลเป็นบวกให้รีบไปพบแพทย์ และที่สำคัญหากพบว่ามีความเสี่ยงหรือมีอาการป่วยควรเลี่ยงการอยู่ใกล้กลุ่มเสี่ยง 608"
"โควิด 19 กำลังระบาดอย่างมากในประเทศไทย
ยง ภู่วรวรรณ
ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์
9 พฤษภาคม 2568
ฤดูกาลของโควิด 19 ได้เริ่มต้นตั้งแต่สงกรานต์เป็นต้นมา และจะระบาดมากขึ้นอีกเมื่อนักเรียนเปิดเทอม ในปีนี้ เนื่องจากฝนมาเร็ว การระบาดในช่วงนี้ จึงมีผู้ป่วยจำนวนมากกว่าปีที่แล้ว จำนวนยอดผู้ป่วยที่แท้จริง มิอาจจะทราบได้ แต่ยอดจำนวนผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาล แต่เห็นได้ชัดเจนจากรูปที่ให้ดู ในปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว สีเข้มชัดเจน สัปดาห์ละ มากกว่า 5,000 คน สีที่เห็นจากรูปจึงเป็นสีเข้มแดง
เชื้อโควิด 19 ที่พบในขณะนี้เป็นสายพันธุ์ XEC เป็นส่วนใหญ่ เป็นสายพันธุ์ หลานเหลนของโอมิครอน และลดความรุนแรงของโรค มาโดยตลอด ผู้ที่เคยเป็นมาแล้ว เป็นซ้ำได้อีก และส่วนใหญ่ จำนวนมากไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ คือมีอาการน้อย แต่แพร่กระจายได้ จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
อัตราการเสียชีวิตของโรคนี้ในปัจจุบัน ลดลงอย่างมาก น่าจะอยู่ในระดับของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งปีนี้ทั้งปีคาดว่าจะมีการเสียชีวิตไม่เกิน 100 คน ดังแสดงในรูปเปรียบเทียบในแต่ละปี ในปีนี้ถึงแม้จะมีการระบาดและมีจำนวนคนนอนโรงพยาบาลมากกว่าปีที่แล้ว แต่อัตราการเสียชีวิตในช่วงเวลาเดียวกันก็น้อยกว่าปีที่แล้ว ดังแสดงในรูป
ฤดูการระบาดจะไปถึงเดือนกรกฎาคม สิงหาคม จึงจะเริ่มลดลง เช่นปีที่แล้ว ในรูป ที่เป็นสีแดง
ผู้ป่วยที่มีร่างกายแข็งแรงดี การรักษาตามอาการ เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ยกเว้นในผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอมากๆ เช่นผู้สูงอายุ ที่เกิน 70 ปีขึ้นไป หรือมีโรคประจำตัว ที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง ควรจะพบแพทย์ เพื่อดูแลการรักษาที่เหมาะสม
ปัจจุบันถึงจะมีวัคซีน แต่สายพันธุ์ที่มีอยู่ขณะนี้อยู่ห่างไกลกับสายพันธุ์ที่ระบาด และการที่เรามีภูมิต้านทานแล้ว ไม่ว่าจะจากการติดเชื้อ และหรือฉีดวัคซีนในอดีต จึงมีภูมิต้านทาน ส่วนหนึ่งที่ทำให้โรคลดความรุนแรงลง จึงไม่ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีน และไม่ได้อยู่ในโครงการที่จะให้วัคซีนฟรี
การรักษา เป็นการรักษาตามอาการเหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป ในผู้ที่สูงอายุ หรือมีร่างกายอ่อนแอมากๆที่จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง การให้ยาต้านไวรัส อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ โดยขณะนี้ยาที่ใช้ได้ผลดีที่สุดคือ Remdesivir
สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้คือการป้องกันการระบาดโดยเฉพาะในโรงเรียน โรงงาน หรือที่มีคนหมู่มาก ด้วยการล้างมือ อยู่เป็นนิจ ใช้แอลกอฮอล์ และถ้าป่วย ควรหยุดเรียน หน้ากากอนามัยแนะนำให้ ผู้ป่วยทุกคนจะต้องใส่ เพื่อป้องกันการกระจายและระบาดของโรค"
Advertisement