Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
พระโคกินอะไร 2568 ? เปิด 7 สายพันธุ์ข้าว ในพิธีแรกนาขวัญ วันพืชมงคล

พระโคกินอะไร 2568 ? เปิด 7 สายพันธุ์ข้าว ในพิธีแรกนาขวัญ วันพืชมงคล

9 พ.ค. 68
13:11 น.
แชร์

เปิด 7 สายพันธุ์ข้าว “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2568

พระโคกินอะไรในปี 2568

อาหารพระโค 7 สิ่ง ได้แก่ ข้าวเปลือก,ข้าวโพด,ถั่ว, งา, หญ้า,น้ำ และ เหล้า ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค พระโคกินน้ำ หญ้า และเหล้า

ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2568 พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

สำหรับ “พันธุ์ข้าว” ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี พ.ศ. 2568 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำ “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” ในแปลงนาทดลอง สวนจิตรลดา และแปลงนาขยายผลฤดูทำนาปี 2567 ซึ่งเป็นผลผลิตข้าวเปลือกจากข้าวนาสวนพันธุ์หลัก 7 พันธุ์ ได้แก่

1. พันธุ์ขาวดอกมะลิ105

ชื่อพันธุ์ ขาวดอกมะลิ105 ชนิด ข้าวเจ้าหอม

ได้มาโดยนายสุนทร สีหะเนิน เจ้าพนักงานข้าว รวบรวมจากอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อ พ.ศ.2493-2494 จำนวน 199 รวง แล้วนำไปคัดเลือกแบบคัดพันธุ์บริสุทธิ์ (Pure Line Selection) และปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรงแล้วปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ท้องถิ่นในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนได้สายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 4-2-105

ซึ่งเลข 4 หมายถึง สถานที่เก็บรวงข้าว คืออำเภอบางคล้า เลข 2หมายถึงพันธุ์ทดสอบที่ 2 คือ ขาวดอกมะลิ และเลข 105 หมายถึง แถว หรือ รวงที่ 105 จากจำนวน 199 รวง โดยคณะกรรมการการพิจารณาพันธุ์ ให้ใช้ขยายพันธุ์เป็นพันธุ์รับรอง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2502

ลักษณะเด่น : ทนแล้งได้ดีพอสมควร, เมล็ดข้าวสารใส แกร่ง คุณภาพการสีดี, คุณภาพการหุงต้มดี อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม, ทนต่อสภาพดินเปรี้ยว และดินเค็ม

2. พันธุ์ กข79

ชื่อพันธุ์ กข79 (RD79) หรือ ชัยนาท 62 (Chai Nat 62) ชนิด ข้าวเจ้า

ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง PSL00034-37-3-1-3 ต้านทานต่อโรคไหม้เป็นพันธุ์แม่ กับ PSBRc20 ต้านทานต่อโรคไหม้และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นพันธุ์พ่อในฤดูนาปรัง 2550 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาทปลูกคัดเลือกแบบสืบตระกูลชั่วที่ 2 ถึง 6 ทั้งฤดูนาปรัง และฤดูนาปี ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2551 ถึง ฤดูนาปรัง 2553 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท จนได้สายพันธุ์ CNT07018-26-1-1-1 และปลูกศึกษาพันธุ์ในฤดูนาปี 2553 ฤดูนาปรัง 2554 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ฤดูนาปรัง 2555 - ฤดูนาปี 2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าว พิษณุโลก ชัยนาท ลพบุรี แพร่ เชียงใหม่ และเชียงราย วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมี รวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ

ลักษณะเด่น : คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี เป็นข้าวเจ้า เมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้

3. พันธุ์ กข85

ชื่อพันธุ์ กข85 ชนิด ข้าวเจ้า

ได้จากการผสมพันธุ์3 ทางระหว่าง ลูกผสมชั่วที่ 1 ของ PSBRc10 กับ CNT96028-21-1-PSL-1-1 นำไปผสมกับ LPHR303-PSL-30-4-2 ในฤดูนาปรัง 2550 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกปลูกคัดเลือกแบบสืบประวัติชั่วที่ 2 ถึง 6 ทั้งฤดูนาปรัง และฤดูนาปี ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2551 ถึง ฤดูนาปี 2552 ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท จนได้สายพันธุ์ PSL07023-CNT-18-2-1-3 ในฤดูนาปรัง 2553 ปลูกศึกษาพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ฤดูนาปี 2553 –ฤดูนาปรัง 2555 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท ฤดูนาปรัง 2556 - ฤดูนาปี 2560

ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ชัยนาท และลพบุรี วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ และทางเคมี รวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ ฤดูนาปี 2557 -ฤดูนาปรัง 2561 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์พื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตรสุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท และสระบุรี ฤดูนาปี 2559 -ฤดูนาปรัง 2560 ปลูกทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ชัยนาท และลพบุรีฤดูนาปรัง 2560 ทดสอบเสถียรภาพการให้ผลผลิตในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ ชัยนาท และสระบุรี

ลักษณะเด่น : ให้ผลผลิตสูงถึง 1,173 กิโลกรัมต่อไร, ค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ดีกว่าพันธุ์พิษณุโลก 2 และ กข47, ทนทานต่อสภาพอากาศเย็น, คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดีเป็นข้าวเจ้าเมล็ดยาวเรียว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้

4. พันธุ์ กข99 (หอมคลองหลวง 72)

ชื่อพันธุ์ กข 99 (หอมคลองหลวง 72) ชนิด ข้าวเจ้าหอม

ข้าวสายพันธุ์ CCS12009-KLG-18-1-1-3-1 ข้าวหอม พื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ได้จากการผสมพันธุ์ ระหว่างพันธุ์ IRB41 (พันธุ์แม่) กับพันธุ์ชัยนาท 1 (พันธุ์พ่อ) ที่สถานีทดลองข้าวบางเขน (ย้ายไปศูนย์วิจัยข้าว ฉะเชิงเทราในปัจจุบัน) ในฤดูนาปรัง 2555 ต่อมาฤดูนาปี 2555 ศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวงทำการปลูกสายพันธุ์ ข้าวรุ่นที่ 1 และฤดูนาปรัง 2556 ปลูกสายพันธุ์ข้าวรุ่นที่ 2 เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีทรงต้นและ ลักษณะทางการเกษตรดี ฤดูนาปี 2556 ปลูกสายพันธุ์ข้าวรุ่นที่ 3 ฤดูนาปรัง 2557 ปลูกสายพันธุ์ข้าวรุ่นที่ 4 ฤดูนาปี 2557 ปลูกสายพันธุ์ข้าวรุ่นที่ 5 และฤดูนาปรัง 2558 ปลูกสายพันธุ์ข้าวรุ่นที่ 6 ทำการ คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวรุ่น ที่ 7 ชื่อสายพันธุ์ CCS12009-KLG-18-1-1-3-1 ที่ให้ผลผลิตสูง มีลักษณะทางการเกษตรดีและมีความคงตัวทางพันธุกรรม เพื่อนำไปปลูกศึกษาพันธุ์และเปรียบเทียบผลผลิต ปลูกศึกษาพันธุ์ ขั้นสูง (4-Rows Observation) ในฤดูนาปรัง 2561 และนาปี 2561 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวง

จากนั้นนำเข้าสู่การเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ในฤดูนาปี 2563 ถึง ฤดูนาปี 2565 ดำเนินการใน 6 สถานที่ ได้แก่ สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ศูนย์วิจัยข้าว ชัยนาท ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ศูนย์วิจัยข้าวคลองหลวงและศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และนำเข้าเปรียบเทียบ ผลผลิตในนาราษฎร์ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ พิจิตร สระบุรีและเชียงราย ตั้งแต่ฤดูนาปี 2564 ถึงฤดูนาปี 2565 อีกทั้งปลูกทดสอบการตอบสนองต่ออัตราปุ๋ยไนโตรเจนที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกและสถาบัน วิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ ในฤดูนาปี 2565

นอกจากนี้ยังได้ทำการทดสอบปฏิกิริยาของพันธุ์ข้าวต่อการ เข้าทำลายของโรคและแมลงที่สำคัญ วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ เคมี การหุงต้มรับประทานและคุณภาพการสี ควบคู่ไปด้วย

ลักษณะเด่น : เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ศักยภาพการให้ผลผลิต 957 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยให้ ผลผลิตเฉลี่ย 780 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1 คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปลูกในสภาพแปลง เกษตรกร, ข้าวสุกมีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสค่อนข้างเหนียวและนุ่ม, อายุเก็บเกี่ยวสั้นกว่าพันธุ์ปทุมธานี 1, คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 1 ได้

5. พันธุ์ กขจ1 (วังทอง 72)

ชื่อพันธุ์ กขจ1 (วังทอง 72) ชนิด ข้าวเจ้าจาปอนิกา

CRI12026-6-9-PSL-4-1-1-1 ได้จากการผสมเดี่ยว ระหว่างสายพันธุ์ข้าว PSL95037-25-1-2-PAN-1 กับพันธุ์ Shubu ฤดูนาปี 2555 ที่ศูนย์วิจัยเชียงราย ฤดูนาปี 2556-ฤดูนาปี 2557 ปลูกคัดลือกชั่วที่ 2 ถึง 4 ที่ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ฤดูนาปรัง 2558-ฤดูนาปี 2559 ปลูกคัดเลือกชั่วที่ 5-8 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ฤดูนาปรัง 2560 ปลูกศึกษาพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ฤดูนาปี2560 - ฤดูนาปรัง 2561 ปลูกเปรียบเทียบ ผลผลิตภายในสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ฤดูนาปี 2561-ฤดูนาปรัง 2563 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิต ระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าว พิษณุโลก ชัยนาท ลพบุรี เชียงราย แพร่เชียงใหม่

และสถานีทดลองดงหลักหมื่น ฤดูนาปี 2562-ฤดูนาปรัง 2563 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและตอนบน ในจังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ เชียงราย เชียงใหม่และแพร่ ฤดูนาปรัง 2563 ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนที่ศูนย์วิจัยข้าว พิษณุโลก และเชียงราย

ลักษณะเด่น : มีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงถึง 953 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 755 กิโลกรัมต่อไร่, ต้านทานต่อโรคไหม้ได้ดีกว่าพันธุ์ พันธุ์ ก.วก.1 และ ก.วก.2, เป็นข้าวเจ้าจาปอนิกาที่มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่น้อยกว่าพันธุ์ ก.วก. 1 และ ก.วก.2 คุณภาพการสีดีมาก, คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี เนื้อสัมผัสข้าวสุกนุ่มกว่าพันธุ์ ก.วก.1 และ ก.วก.2

6. พันธุ์ กข6

ชื่อพันธุ์ กข 6 (RD 6) ชนิด ข้าวเหนียว

ได้จากการปรับปรุงพันธุ์ โดยการใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์ โดยใช้รังสีแกมมาปริมาณ 20 กิโลแรด (Rad) อาบเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 แล้วนำมาปลูกคัดเลือกที่สถานีทดลองข้าวบางเขนและสถานีทดลองข้าวพิมาย

จากการคัดเลือกได้ข้าวเหนียวหลายสายพันธุ์ในข้าวชั่วที่ 2 นำไปปลูกคัดเลือก จนอยู่ตัวได้สายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ สายพันธุ์ KDML105´65-G2U-68-254 นับว่าเป็นข้าวพันธุ์ดีพันธุ์แรกของประเทศไทย ที่ค้นคว้าได้โดยใช้วิธีชักนำพันธุ์พืชให้เปลี่ยนกรรมพันธุ์โดยใช้รังสี

ลักษณะเด่น : ให้ผลผลิตสูงและทนแล้งดีกว่าพันธุ์เหนียวสันป่าตอง, คุณภาพการหุงต้มดี มีกลิ่นหอม, ลำต้นแข็งปานกลาง, ต้านทานโรคใบจุดสีน้ำตาล, คุณภาพการสีดี

7. พันธุ์ กข24 (สกลนคร 72)

ชื่อพันธุ์ กข 24 (สกลนคร 72) ชนิด ข้าวเหนียว

ข้าวเหนียวสายพันธุ์ RGDU10017-1-MAS-49-4-1-NKI-1-3-1-2 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างข้าวเหนียว สายพันธุ์ RGDU07585-7-MAS35-4 ซึ่งลำต้นเตี้ย เป็นพันธุ์แม่ กับข้าวเหนียวสายพันธุ์ RGDU07123-12-22-5 ซึ่งลำต้นสูง

คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี มีความต้านทานต่อโรคไหม้เป็นพันธุ์พ่อ โดยผสมพันธุ์แบบ ผสมเดี่ยวใน พ.ศ. 2553 ที่หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยืนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและ เทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำลักษณะลำต้นเตี้ยจากสายพันธุ์ RGDU07585-7-MAS35-4 และความต้านทานต่อโรคไหม้จากสายพันธุ์ RGDU07123-12-22-5 มารวมไว้ในข้าวสายพันธุ์ใหม่ พ.ศ. 2554-2555 ปลูกคัดเลือกข้าวสายพันธุ์ผสมชั่วที่ 3 ถึง 6 แบบสืบตระกูลที่หน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยื่นข้าว โดยปลูกคัดเลือกทั้งฤดูนาปรังและฤดูนาปี

จากนั้น พ.ศ. 2556-2558 ปลูกคัดเลือกข้าวสายพันธุ์ผสมชั่วที่ 7 ถึง 10 แบบสืบตระกูลที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย จนได้สายพันธุ์ RGDU10017-1-MAS-49-4-1-NKI-1-3-1-2 พ.ศ. 2559 ปลูกศึกษาพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย พ.ศ. 2560 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคาย พ.ศ. 2561-2564 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีในศูนย์วิจัยข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือวิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมี

รวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญ พ.ศ. 2562-2565 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเมินการยอมรับของ เกษตรกรต่อลักษณะทางการเกษตรที่จังหวัดหนองคายและสกลนคร พ.ศ. 2564-2565 ปลูกทดสอบ การ ตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนที่ศูนย์วิจัยข้าวหนองคายและสกลนคร พ.ศ. 2565 ประเมินการยอมรับของเกษตรกรต่อคุณภาพเมล็ดทางกายภาพ คุณภาพการหุงต้มและรับประทานที่จังหวัดสกลนครและอุบลราชธานี

ลักษณะเด่น : เป็นข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสงที่มีลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้มดีกว่าพันธุ์ กข6 และ กข18, ต้านทานต่อโรคไหม้ในระยะกล้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สำหรับข้าวนาสวนพันธุ์หลัก 7 พันธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 4,880 กิโลกรัม ไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 และบรรจุซองแจกจ่ายให้แก่พสกนิกรผู้สนใจและชาวนาทั่วประเทศรับไปเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรของตนตามประเพณีนิยม เพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์สืบไป

ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่เหลือ กรมการข้าวขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำไปเก็บไว้ทำพันธุ์ในฤดูกาล ปี 2568 เพื่อเป็นต้นตระกูลของพืชพันธุ์ดีเผยแพร่สู่เกษตรกรต่อไป

รายละเอียดพันธุ์ข้าวที่นำเข้าในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี 2568 และบรรจุซองแจกจ่ายประชาชน ดังนี้

1. พันธุ์ข้าว ขาวดอกมะลิ 105 จำนวนบรรจุซองแจกจ่าย 1,030 กิโลกรัม

2. พันธุ์ข้าว กข79 จำนวนบรรจุซองแจกจ่าย 420 กิโลกรัม

3. พันธุ์ข้าว กข85 จำนวนบรรจุซองแจกจ่าย 200 กิโลกรัม

4. พันธุ์ข้าว กข99 (หอมคลองหลวง 72) จำนวนบรรจุซองแจกจ่าย 300 กิโลกรัม

5. พันธุ์ข้าว กข6 จำนวนบรรจุซองแจกจ่าย 440 กิโลกรัม

6. พันธุ์ข้าว กข24 (สกลนคร 72) จำนวนบรรจุซองแจกจ่าย 200 กิโลกรัม

ภาพ : istock, เพจ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

Advertisement

แชร์
พระโคกินอะไร 2568 ? เปิด 7 สายพันธุ์ข้าว ในพิธีแรกนาขวัญ วันพืชมงคล