Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เสี่ยงเกิดมะเร็ง ส่วนประกอบหมึกปากกาเมจิกที่ใช้เขียนถุงเมื่อซึมลงอาหาร

เสี่ยงเกิดมะเร็ง ส่วนประกอบหมึกปากกาเมจิกที่ใช้เขียนถุงเมื่อซึมลงอาหาร

23 เม.ย. 68
17:07 น.
แชร์

รู้ไว้จะได้ระวังตัวถูก ส่วนประกอบในหมึกของปากกาเมจิก/ปากกาเคมีที่ใช้เขียนถุงเมื่อซึมลงอาหาร อันตรายถึงขั้นเสี่ยงเกิดมะเร็งได้

ภาพหมึกปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร วนเวียนมาให้เจอทุกครั้งในโลกออนไลน์ แม้จะมีการพูดถึงผลกระทบบ่อยแค่ไหน แต่เราก็ยังได้เห็นภาพเหล่านี้วนกลับมาทุกครั้ง

ซึ่งหมึกจากปากกาเมจิกหรือปากกาเคมี ที่พ่อค้าแม่ขายบางคนใช้เขียนราคาอาหารหรือเลขออเดอร์ ล้วนก่อให้เกิดอันตรายหากมีการซึมลงสู่อาหาร เพราะตัวหมึกในปากกาเหล่านี้มักจะมีสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายแฝงอยู่ โดยส่วนมากหมึกของปากกาเคมีหรือปากกาเมจิกนั้น มีส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่

สี เป็นสารสีที่ใช้ผสมกับตัวทำละลาย

โพลิเมอร์ เป็นเคมีที่มีส่วนทำให้ปากกาไวท์บอร์ดนั้นสามารถลบออกได้

ตัวทำละลาย ที่เป็นอันตรายอย่างมากต่อร่างกายของมนุษย์

โดยตัวทำละลายที่อยู่ในสีของหมึกปากกา แบ่งสารเคมีได้เป็นอีก 2 ชนิดคือ ไซลีนและโทลูอีน

ไซลีน เป็นสารเคมีที่ส่งผลให้ปากกาเคมีที่เราใช้งานนั้นมีกลิ่นฉุน ซึ่งสารเคมีตัวนี้สามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านการสูดดมและทางผิวหนัง แต่ผิวหนังของเราอาจจะไม่มีอาการระคายเคืองจากการโดยสารเคมีชนิดนี้ผ่านตัวสีของหมึกปากกา นอกจากว่าเราจะสัมผัสกับไซลีนโดยตรงหรือปริมาณมาก ซึ่งผลข้างเคียงจากการรับสารเคมีชนิดนี้เข้าไปจะทำให้ร่างกายของเราเกิดอาการมึนงง ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ จาม น้ำมูกไหล เป็นต้น

ส่วน โทลูอีน เป็นสารระเหยชนิดหนึ่งที่มีคุณลักษณะคล้ายสารเสพติด หากสูดดมสารชนิดนี้เป็นประจำในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง อาจจะเกิดอาการเสพติดได้ สารเคมีตัวนี้มีฤทธิ์ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย คลื่นไส้ สับสน และเบื่ออาหาร หรืออาจจะส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดแดงเกิดความผิดปกติ และทำลายไขกระดูกของเราได้อีกด้วย

ประเด็นนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ก็ได้โพสต์ข้อความรีรันเตือนการใช้ปากกาเมจิกเขียนลงบนพลาสติกบรรจุอาหาร หลังจากเคยเตือนมาแล้วก่อนหน้านี้

ไม่ควรใช้ปากกาเมจิกเขียนบนพลาสติกบรรจุอาหารครับ .. เนื่องจากสีจากเมจิกอาจมีการซึมด้วยความร้อนและก่อให้เกิดมะเร็งได้

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เกิดจากพลาสติกเป็นวัสดุที่มีโมเลกุลของสารตั้งต้นมาจับตัวกันเป็นสายยาวและเป็นร่างแหของโพลิเมอร์ โดยที่ในตัวเนื้อพลาสติกนั้น ก็มีช่องว่างเล็กๆ เมื่อพลาสติกถูกความร้อนส่งผลให้เกิดการขยายตัวขึ้น ทำให้ช่องว่างเหล่ามีพื้นที่กว้างขึ้น ความชื้นหรืออากาศสามารถแทรกซึมผ่านได้

ขณะที่หมึกของปากกาเมจิกนั้น ก็เป็นสารเคมีที่มีสภาพเป็นสารมีขั้ว จึงอาจจะซึมผ่านเนื้อของพลาสติกบางชนิดได้ดี โดยเฉพาะกับพลาสติกกลุ่มที่มีเนื้อไม่แน่น และซึมผ่านไปยังเนื้อของอาหาร ที่มีสภาพเป็นสารมีขั้วเช่นกันได้ แถมยิ่งอาหารร้อนมาก ก็จะยิ่งเกิดการซึมผ่านเข้าไปได้ง่ายขึ้นด้วย

เนื้อสีของปากกาเมจิก มีสารเคมีที่เป็นตัวทำละลาย ซึ่งถ้าบริโภคเข้าไปก็อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย และอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ จึงไม่ควรเขียนถุงพลาสติกบรรจุอาหารด้วยปากกาเมจิกครับ เพราะถุงพลาสติกไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สำหรับการเขียนปากกาเมจิกลงไป แต่ควรหาวิธีอื่นๆ ที่จะสร้างสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายแทน

ด้านกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เคยเตือนภัยเรื่องเช่นเดียวกันถึงปากกาเมจิกซึมทะลุอาหาร โดยแนะนำว่า "เตือนภัยปากกาเมจิกซึมทะลุถุงอาหาร ควรเลือกใช้ถุงให้ถูกประเภท หรือ ถุงใส่อาหารที่ได้มาตรฐานสามารถทนความร้อนได้ 100-120 องศาเซลเซียส สีหมึกจะไม่ซึมผ่านเข้าไป และไม่ควรใช้ปากกาเคมีมาเขียนบนถุงพลาสติก ที่ใส่อาหารโดยตรง ให้ใช้วิธีแปะสติกเกอร์ เลี่ยงการทานอาหาร ที่มีการเขียนถุงด้วยปากกาเมจิก"

อันตรายจากการใช้งานปากกาเคมี , Jessada Denduangboripant

Advertisement

แชร์
เสี่ยงเกิดมะเร็ง ส่วนประกอบหมึกปากกาเมจิกที่ใช้เขียนถุงเมื่อซึมลงอาหาร