ข้อควรระวัง การดื่มน้ำในวันที่อากาศร้อนจัด ดื่มน้ำอย่างไรถูกวิธี ปลอดภัย ช่วยดับกระหาย และไม่เกิดภาวะขาดน้ำ หรือดื่มมากไปจนเกิด ภาวะน้ำเป็นพิษ
ในวันที่อากาศร้อนจัด ร่างกายต้องการน้ำมากกว่าปกติเพื่อรักษาสมดุลอุณหภูมิและป้องกันภาวะขาดน้ำ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายด้าน ดังนั้น การดื่มน้ำอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
การดื่มน้ำปริมาณมากภายในเวลาสั้นๆ อาจทำให้เกิดภาวะ โซเดียมในเลือดต่ำ หรือที่เรียกว่า Hyponatremia โดยเฉพาะในผู้ที่เสียเหงื่อมาก เช่น นักกีฬา หรือผู้ที่ทำงานกลางแดด
อาการ : เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ มือเท้าบวม และในกรณีรุนแรงอาจชักหรือหมดสติได้
ความรู้สึกกระหายคือสัญญาณว่า ร่างกายเริ่มขาดน้ำแล้ว ควรดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดวัน เด็กและผู้สูงอายุมักจะรู้สึกกระหายน้ำช้ากว่าคนทั่วไป จึงเสี่ยงต่อการขาดน้ำได้ง่ายขึ้น
มีข้อเท็จจริงหลายมุมเกี่ยวกับเรื่องการดื่มน้ำเย็นหลังเพิ่งตากแดดจัดๆ มา ข้อกังวลที่ว่า จะเป็นอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ ? หมอโอ๊ต พงศกร เผยในรายการ "อาการน่าเป็นห่วง" ว่า
"ถามว่าอันตรายไหม มันเป็นความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่ ช่องว่าง ช่องห่างระหว่างกันมันค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น ร้อนจัดๆ แล้วมากินน้ำแข็งเย็นจัดๆ หมอคิดว่ามันเป็นการกระโดดห่างกันของอุณหภูมิมากไปหน่อย ถ้าให้แนะนำคือ จิบน้อยๆ อย่ากินแบบอั้กๆ มันอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายมันเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ตรงนี้อาจส่งผลได้เหมือนกัน ดีที่สุดคือ ดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง แต่ถ้าชอบดื่มน้ำเย็นจริงๆ ก็แนะนำว่าค่อยๆ จิบ
1. ดื่มน้ำเป็นระยะตลอดวัน
ไม่ควรดื่มทีละมากๆ แต่ให้แบ่งดื่ม ทุก 1–2 ชั่วโมง ประมาณ 150–250 มิลลิลิตร ต่อครั้ง
2. ปริมาณน้ำที่ควรได้รับต่อวัน
โดยเฉลี่ย 30–40 มิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เช่น ถ้าน้ำหนัก 60 กก. ควรดื่มประมาณ 1.8–2.4 ลิตรต่อวัน หากออกกำลังกายหรืออยู่กลางแดด ควรเพิ่มอีก 500–1,000 มิลลิลิตร
3. เสริมด้วยน้ำแร่หรือน้ำเกลือแร่เมื่อเสียเหงื่อมาก
ช่วยทดแทน แร่ธาตุที่สูญเสียไปกับเหงื่อ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ เหมาะสำหรับผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง วิ่ง หรือทำกิจกรรมกลางแดดนานๆ
4. สังเกตสีปัสสาวะเป็นตัวช่วย
สีปัสสาวะควรเป็นสีเหลืองอ่อนใส ถ้าเข้มมากแปลว่าอาจขาดน้ำ
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือกาแฟในปริมาณมาก : มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเสียของเหลวมากขึ้น
น้ำหวานหรือน้ำอัดลม : น้ำตาลสูง อาจทำให้ร่างกายกระหายน้ำมากกว่าเดิม และเพิ่มภาระต่อไต
• พกขวดน้ำติดตัวไว้เสมอ โดยเฉพาะเวลาออกนอกบ้าน
• ดื่มน้ำก่อนออกจากบ้าน และเมื่อกลับถึงบ้านทันที
• ผสมมะนาวฝานหรือใบสะระแหน่ลงไปในน้ำดื่มช่วยเพิ่มความสดชื่นโดยไม่พึ่งน้ำหวาน
• หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ไต หรือความดันโลหิตสูง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนปรับปริมาณน้ำดื่มเพราะบางคนอาจต้องควบคุมปริมาณน้ำอย่างเฉพาะเจาะจง
Advertisement