มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดขึ้นยังไง อาการแบบไหน รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง

6 ก.พ. 67

รู้จัก มะเร็งต่อมลูกหมาก เกิดขึ้นยังไง มีอาการแบบไหน รักษาด้วยวิธีใดได้บ้าง

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อภายในต่อมลูกหมากที่ไม่สามารถควบคุมได้ ถูกจัดให้เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับต้นๆ ในผู้ชายไทย และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีอาการที่คล้ายกับอาการต่อมลูกหมากโต หรือต่อมลูกหมากอักเสบ ถ้าวินิจฉัยไม่ถุกต้องอาจเกิดการเข้าใจผิดได้

ต่อมลูกหมาก คืออะไร สำคัญอย่างไร?

ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) เป็นหนึ่งในต่อมไร้ท่อของเพศชาย เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ที่อยู่ต่ำกว่ากระเพาะปัสสาวะและอยู่ด้านหน้าต่อกับทวารหนักมีขนาดเท่าลูกวอลนัตและล้อมรอบส่วนหนึ่งของท่อปัสสาวะ มีหน้าที่สร้างน้ำเมือกในการมีเพศสัมพันธ์ ช่วยหล่อเลี้ยงอสุจิ และช่วยปกป้องสารพันธุกรรมหรือ (DNA) ของอสุจิ โดยต่อมลูกหมากจะโตขึ้นตามวัย เมื่ออายุมากขึ้นต่อมลูกหมากจะโตขึ้นและอาจอุดตันท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นผลให้ปัสสาวะลำบากหรืออาจรบกวนหน้าที่สืบพันธุ์ มักจะเกิดในผู้ชายวัยเกิน 60 ปีขึ้นไป ซึ่งถ้าละเลยอาจเป็นอันตรายได้

มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดขึ้นได้อย่างไร?

การเกิดมะเร็งของต่อมลูกหมากนั้นเกิดจากเซลล์เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ผิดปกติ คือมีการเจริญเติบโตและการแบ่งตัวของเซลล์เหล่านี้อย่างรวดเร็ว และมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดการอุดตันของหลอดปัสสาวะ หรือมีการทำลายเซลล์ปกติของต่อมลูกหมากอย่างมากมาย ร้ายไปกว่านั้นเซลล์ที่โตและเบ่งตัวอย่างรวดเร็วนี้จะแทรกหรือเคลื่อนย้ายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ข้างเคียงหรือแม้กระทั่งอวัยวะสำคัญๆ ของร่างกาย เช่น ปอด หรือกระดูก ทำให้อวัยวะเหล่านั้นเสียหาย และถูกทำลายไปในที่สุด ซึ่งเมื่อถึงระยะนั้นแล้วผู้ป่วยก็จะถึงแก่ชีวิตได้

สัญญาณเตือนมะเร็งต่อมลูกหมาก

อาการที่เป็นไปได้ของมะเร็งต่อมลูกหมากคือ เวลาเริ่มปัสสาวะจะรู้สึกลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่งหรือปัสสาวะราดเท้า ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน ปัสสาวะแสบหรือขัด รู้สึกปวดเมื่อปัสสาวะหรือหลั่งน้ำอสุจิ มีเลือดปนในปัสสาวะหรืออสุจิ

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โอกาสการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากสูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ที่ชอบทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์

istock-1477469816

ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก

การแบ่งระยะของโรค แพทย์จะพิจารณาดูจากขนาดของก้อนเนื้อและการกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ประกอบกับค่า PSA และผลการตรวจเซลล์มะเร็ง

• ระยะเริ่มต้น มะเร็งยังอยู่เฉพาะในต่อมลูกหมาก ค่า PSA น้อยกว่า 10 ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
• ระยะไม่ลุกลามหรือแพร่กระจาย มะเร็งยังอยู่เฉพาะในต่อมลูกหมาก ค่า PSA มากกว่า 10 ในระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
• ระยะลุกลามอวัยวะข้างเคียง เซลล์มะเร็งเริ่มมีการกระจายออกนอกต่อมลูกหมากไปยังอวัยวะข้างเคียง
• ระยะแพร่กระจาย เซลล์มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรือกระจายไปยังอวัยวะที่อยู่ไกลออกไป

การค้นหาวินิจฉัยมะเร็งต่อมลูกหมาก

การตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากสามารถทำได้หลายวิธี ต้องอาศัยการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

• การคลำต่อมลูกหมาก แพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าไปทางรูทวารหนักเพื่อตรวจหาว่ามีก้อนหรือลักษณะผิดปกติของต่อมลูกหมากหรือไม่ โดยการคลำเพื่อตรวจสอบขนาดรูปร่าง และความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก

• การตรวจเลือดหาค่า PSA (Prostatic Specific Antigen) เป็นการตรวจเพื่อหาระดับค่า PSA ในเลือด ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

• การตรวจ MRI/Ultrasound Fusion Biopsy เทคโนโลยีภาพเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กสามมิติแบบที่ใช้ในการบ่งชี้ความผิดปกติของต่อมลูกหมากและแนวโน้มจะเป็นมะเร็ง ทำให้แพทย์มองเห็นรายละเอียดและตำแหน่งก้อนในต่อมลูกหมากชัดเจน สามารถกำหนดบริเวณที่จะตัดชิ้นเนื้อได้แม่นยำ

วิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยจะต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียและตัดสินใจร่วมกัน แพทย์จะแนะนำวิธีการรักษาต่างๆ ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ระยะของการป่วย และปัจจัยอื่นๆ

• การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าเปิดช่องท้องเพื่อผ่าตัดเอาต่อมลูกหมาก รวมทั้งท่อน้ำเชื้อและถุงพักน้ำเชื้อออกทั้งหมด ข้อดีคือ ผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองออกง่ายกว่า ข้อเสียคือ แผลยาวกว่า เจ็บแผลมากกว่า เสียเลือดเยอะกว่าวิธีอื่น และนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน

• รังสีบำบัด มีทั้งการฝังแร่ต่อมลูกหมากและการฉายรังสี ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง หรือความเสี่ยงสูง ในระยะเริ่มต้นการใช้รังสีรักษาจะให้ประสิทธิภาพเทียบเท่าการผ่าตัดในแง่ของการควบคุมเซลล์มะเร็ง ข้อดีคือ ไม่มีแผล ไม่เสียเลือด ไม่ต้องใช้ยาดมสลบ ช่วยลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ลดโอกาสอวัยวะเพศไม่แข็งตัว ส่วนข้อเสียคือ การรักษาไม่ได้ผลเนื้อต่อมลูกหมากทั้งหมด หรือได้ต่อมน้ำเหลืองออกมาตรวจ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะอื่นได้ ทำให้ต้องใช้ยาฮอร์โมนร่วมด้วย

• ฮอร์โมนบำบัด การฉีดยาฮอร์โมน ช่วยขัดขวางฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองไม่ให้กระตุ้นอัณฑะและลดฮอร์โมนเพศชาย เป็นการรักษาเพิ่มเติมหลังการผ่าตัด หรือในกรณีที่มะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจาย โดยแพทย์จะทำการลดหรือกำจัดฮอร์โมนเพศชายด้วยการใช้ยาต้านฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก ข้อดีคือ มีความสะดวก โดยผู้ป่วยต้องมาฉีดทุก 3 เดือน ไม่มีแผลผ่าตัด ข้อเสียคือ ยามีราคาแพง ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงคล้ายอาการวัยทอง เช่น ซึมเศร้า น้ำหนักเพิ่ม กระดูกพรุน รวมทั้งมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น

• การผ่าตัดอัณฑะ ช่วยลดฮอร์โมนเพศชายที่ไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง การผ่าตัดลูกอัณฑะออกจึงเป็นการลดฮอร์โมนเพศชายออกแบบถาวร ทำให้ไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ข้อดี เป็นการผ่าตัดเล็ก มีความเสี่ยงน้อย ไม่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เสียค่าใช้จ่ายน้อย ข้อเสีย ผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจ รู้สึกขาดความมั่นใจ

• ผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม ด้วยวิธีนี้แพทย์จะสอดกล้องที่เรียกว่า laparoscope และเครื่องมือต่างๆ ผ่านแผลผ่าตัดขนาดเล็ก แล้วทำการผ่าตัดผ่านจอมอนิเตอร์ ผลคือผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง ฟื้นตัวเร็วขึ้น เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า และผลการรักษาดีกว่าการผ่าตัดใหญ่แบบเปิดหน้าท้อง การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้เห็นภาพ 3 มิติระหว่างผ่าตัด ช่วยเพิ่มความแม่นยำและสามารถเก็บเส้นประสาทที่ช่วยเรื่องการแข็งตัวขององคชาตหลังผ่าตัดได้ดี แต่มีค่าใช้จ่ายสูง มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญน้อย และต้องใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ข้อดี เครื่องมือและกล้องช่วยให้ผ่าตัดได้ดีกว่าในที่แคบและลึก โดยเฉพาะอุ้งเชิงกรานทำให้ปวดแผลน้อยกว่า แผลมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย และรักษาตัวได้เร็วกว่า ข้อเสีย ต้องใช้ความชำนาญในการผ่าตัด และต้องใช้อุปกรณ์ผ่าตัดในการส่องกล้องทำให้การรักษามีค่าใช้สูง

advertisement

Powered by สุขภาพและความงาม

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด