2568 เป็นปีที่ยุโรปร้อนระอุ และไม่ใช่เพียงแค่จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือการค้า แต่ร้อนระอุจริง ๆ ในเชิงกายภาพ เนื่องจากวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา บางพื้นที่ในประเทศทางตอนใต้ของยุโรป อาทิ สเปน โปรตุเกส อิตาลี และกรีซ มีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส
ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วทั้งยุโรปกำลังเฝ้าระวังความเสี่ยงจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูง อาทิ ไฟป่า และปัญหาสุขภาพ อันเป็นผลมาจากคลื่นความร้อนระลอกแรกของฤดูร้อนปีนี้ มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิอาตสูงถึง 42 องศาเซลเซียส (107.6 องศาฟาเรนไฮต์) หรือสูงกว่า 44 องศาเซลเซียสกลางสัปดาห์นี้
ประเทศสเปน เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสูงสุด สำนักข่าว BBC รายงานว่า พื้นที่ตอนใต้ของประเทศมีอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาที่เมือง เอลกรานาโด ตามข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยาสเปน ในวันเดียวกันนั้น พนักงานหญิงเก็บขยะในบาร์เซโลนาเสียชีวิตขณะทำงาน ทางการกำลังหาสาเหตุว่าเกี่ยวข้องกับอากาศร้อนครั้งนี้หรือไม่
และเนื่องจากอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในช่วงนี้ของปี กระทรวงสาธารณสุขของมาดริดออกคำเตือนให้ประชาชนดูแลตัวเองเป็นพิเศษ หลีกเลี่ยงแสงแดด ดื่มน้ำมาก ๆ และใส่ใจดูแลกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของสเปน (Aemet) ออกประกาศเตือนพิเศษเมื่อวันศุกร์ ระบุว่า อุณหภูมิอาจแตะ 42 องศาในบางพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศในวันนี้ (30 มิถุนายน 2568) และอาจทำลายสถิติเป็นเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดตั้งแต่มีการบันทึกข้อมูลมา
“คาดว่าจะมีอุณหภูมิที่สูงมากและต่อเนื่อง ทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนที่อยู่กลางแจ้งหรือกลุ่มเปราะบาง” Aemet ระบุ
ที่โปรตุเกส พื้นที่สองในสามของประเทศอยู่ภายใต้การเตือนภัยขั้นสูงเมื่อวานนี้ และมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิวันนี้จะสูงถึง 42 องศาเซลเซียส
ฝรั่งเศสมีการประกาศเตือนอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยรุนแรง 84 จาก 101 แคว้นทั่วประเทศ มีประกาศเตือนภัยคลื่นความร้อนตั้งแต่วันจันทร์ไปจนถึงกลางสัปดาห์ ฝรั่งเศสเผชิญคลื่นความร้อนมายาวนานกว่า 1 สัปดาห์ทั่วประเทศ เว้นแต่พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือเท่านั้น ที่พอจะรอดพ้นความร้อนครั้งนี้
มีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิฝรั่งเศสจะพุ่งสูงสุดช่วงวันอังคาร-พุธสัปดาห์นี้ ปลายสัปดาห์ก่อน ฝรั่งเศสเผชิญกับพายุฝนฟ้าคะนองลูกใหญ่ในหลายพื้นที่ เป็นเหตุไฟดับกระทบกว่า 110,000 หลังคาเรือน และน้ำท่วมถนนสายต่าง ๆ และสถานีรถไฟใต้ดินในปารีส
นอกจากคลื่นความร้อนและพายุฝน ฝรั่งเศสยังต้องต่อสู้กับไฟป่า อันเป็นผลพวงของคลื่นความร้อนรุนแรงนี้ด้วย สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า เขตคอร์บิแยร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสซึ่งอุณหภูมิทะลุ 40 องศา เกิดเหตุไฟป่าปะทุขึ้น เจ้าหน้าที่ดับเพลิงถูกระดมกำลังรับมือไฟป่า
ส่วนในเมืองมาร์แซย์ มีอุณหภูมิเฉียด 40 องศา ทางการได้ประกาศให้บริการสระว่ายน้ำสาธารณะฟรี เพื่อช่วยประชาชนคลายร้อนจากคลื่นความร้อน
ที่อิตาลี เมืองเนเปิลส์และปาแลร์โมบนเกาะซิซิลีคาดว่า อุณหภูมิจะสูงสุดถึง 39 องศา ทางการสั่งห้ามทำงานกลางแจ้งระหว่างช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนที่สุดในช่วงวัน มาตรการเดียวกันนี้ยังได้ถูกปรับใช้กับแคว้นลิกูเรียทางเหนือของอิตาลีเช่นเดียวกัน ขณะที่สหภาพแรงงานเรียกร้องให้ขยายคำสั่งนี้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
โรงพยาบาลบางแห่งในอิตาลีจัด ศูนย์ย์พักพิงจากสภาพอากาศ บริการเครื่องปรับอากาศและน้ำดื่ม รวมถึงจัดตั้งเส้นทางรักษาภาวะลมแดดเฉพาะกิจ ในกรุงโรม ผู้สูงอายุเกิน 70 ปียังสามารถเข้าใช้บริการสระว่ายน้ำของเมืองได้ฟรี
ที่กรีซ อุณหภูมิเฉลี่ยถือว่าสูงเกินค่าเฉลี่ยเช่นกัน มีอุณหภูมิสูงเกือบ 40 องศาเมื่อวานนี้ โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน สำนักข่าว AP รายงานเหตุไฟป่าขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของกรุงเอเธนส์ ทางการกรีซออกคำสั่งอพยพและปิดถนนเลียบชายฝั่งบางส่วนที่เชื่อมเมืองหลวงกับซูเนียน ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารโพไซดอนโบราณ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
โฆษกกรมดับเพลิงกรีซ ระบุว่า ระดมกำลังเครื่องบินดับเพลิง 12 ลำ เฮลิคอปเตอร์ 12 ลำ เจ้าหน้าที่ดับเพลิง 130 นาย และทีมอาสาสมัครร่วมปฏิบัติการดับเพลิง โดยมีหน่วยยามชายฝั่งเข้าให้ความช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามลมแรงและเปลี่ยนทิศบ่อยทำให้การควบคุมเพลิงยากลำบาก ควันไฟลอยปกคลุมบริเวณกว้าง และในรายงานโทรทัศน์มีการถ่ายทอดภาพบ้านหลังหนึ่งกำลังถูกไฟไหม้
ตุรกีเองก็เผชิญไฟป่าเช่นกัน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน ที่จังหวัดอิซเมียร์ ทางตะวันตกของประเทศ รายงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงป่าไม้และสื่อท้องถิ่นเมื่อเช้านี้ (30 มิถุนายน) ชี้ว่า ลมแรงทำให้ไฟป่าลุกลามหนัก ทำให้เฮลิคอปเตอร์ดับเพลิงไม่สามารถขึ้นบินได้ เหลือเพียงเครื่องบินทิ้งน้ำ 2 ลำ และทีมภาคพื้นดินที่ต้องรับมือกับไฟต่อเนื่องเป็นวันที่สอง
ไฟป่าที่ตุรกีเป็นเหตุให้ต้องสั่งอพยพ 4 หมู่บ้านและอีก 2 ย่านที่พักอาศัยออกจากพื้นที่ และสนามบินอัดนาน เมนเดเรส (Adnan Menderes Airport) ซึ่งเป็นสนามบินหลักของเมืองอิซมีร์ปิดให้บริการชั่วคราวเมื่อวานนี้ ขณะนี้สนามบินกลับมาให้บริการแล้วบางส่วน
ไม่ใช่แค่ยุโรปตอนใต้ที่ได้รับผลจากคลื่นความร้อน คาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และสหราชอาณาจักรในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อังกฤษได้ประกาศเตือนภัยระดับสีเหลืองและสีอำพันในบางพื้นที่สำหรับช่วงสุดสัปดาห์นี้ และในวันจันทร์ อุณหภูมิในกรุงลอนดอนอาจแตะ 35 องศาเซลเซียส
ตามรายงานของโครงการ Copernicus ของสหภาพยุโรป นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรง เช่น พายุ ไฟป่า น้ำท่วม และคลื่นความร้อน เกิดบ่อยและรุนแรงขึ้น เดือนมีนาคมที่ผ่านมาถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเดือนมีนาคมที่ร้อนที่สุดในยุโรปที่เคยมีการบันทึกไว้ และคาดว่าเดือนมิถุนายนจะทำลายสถิติตามไป
ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และนำไปสู่ภัยพิบัติทั่วโลก มูลค่าความเสียหายมากกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11 ล้านล้านบาท)
งานวิจัยจากวารสาร Lancet Public Health ที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้วพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนในยุโรปอาจเพิ่มขึ้นสามเท่าภายในสิ้นศตวรรษ โดยประเทศทางใต้ เช่น อิตาลี กรีซ และสเปน จะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่น ๆ หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม จำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อนอาจพุ่งถึงปีละ 129,000 ราย ในขณะที่ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากความร้อนราว 44,000 คนต่อปี
ถึงแม้ว่าผู้นำโลกจะสามารถควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ในเป้าหมายไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่การศึกษาก็ยังพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากความร้อนและความหนาวรวมกันในยุโรป อาจเพิ่มจาก 407,000 คนในปัจจุบัน เป็น 450,000 คนภายในปี 2100
ที่มา: CNN, BBC, EuroNews, France24, The Guardian,