การศึกษาสังคมใดสังคมหนึ่งอาจทำได้หลากหลายวิธี ไม่ได้หยุดอยู่แค่การอ่านข่าวต่างประเทศ หรือศึกษาหนังสือประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสามารถมองสภาพสังคมหนึ่งได้ผ่านวรรณกรรม ดนตรี ภาพยนตร์ หรือภาพยนตร์สารคดี
ภาพยนตร์สารคดีเป็นเครื่องมือชนิดที่เราอาจสามารถศึกษาสภาพสังคม และอุดมคติของสังคมในขณะนั้นได้ สมาคมมิตรภาพไทย-จีนมองเห็นความจริงข้อนี้ จึงเลือกใช้ภาพยนตร์สารคดีเป็นสิ่งย้ำความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ในวาระครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีนที่จะครบรอบอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 นี้
ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตครั้งนี้ สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และมูลนิธิปัญญาวุฒิร่วมมือกันสร้างภาพยนตร์สารคดี “สายใยรักสองแผ่นดิน” เพื่อบอกเล่าเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างสองประเทศ
สายใยรักสองแผ่นดินมี นายปรัชญา ปิ่นแก้ว กำกับภาพยนตร์ และอาจารย์ณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีคณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สร้างสรรค์ดนตรีประกอบภาพยนตร์ สายใยรักสองแผ่นดินนำแสดงโดยวรนิษฐ์ ถาวรวงศ์ และชิษณุพงศ์ สกุลนันทิพัฒน์ เป็นภาพยนตร์ย้อนยุค แนวดรามา-โรแมนติก บอกเล่าเรื่องราวความรักของหญิงชาวไทยและชายชาวจีนคู่กับความสัมพันธ์สองประเทศ
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คำแนะนำจากสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยให้สร้างออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดี สะท้อนว่าการศึกษาสังคมจีนนั้น วิธีหนึ่งคือผ่านงานอย่างภาพยนตร์สารคดี ซึ่งมีอยู่มากมายไม่ว่าจะจากอุดมการณ์ฝ่ายไหน ขณะนี้ที่ภาพยนตร์สายใยรักสองแผ่นดินกำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ และจะพร้อมให้เราได้รับชมในไม่ช้านี้ Spotlight อยากขอแนะนำ 10 ภาพยนตร์สารคดีที่จะพาเราเรียนรู้สังคมจีนสมัยใหม่ (1912-ปัจจุบัน) ได้
The Founding of a Republic เป็นภาพยนตร์เฉลิมฉลองการครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นภาพยนตร์ดรามาอิงประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราวปีสุดท้ายของการปฏิวัติจีน ควบคุมการผลิตโดย China Film Group Corporation บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน กรมโฆษณาชวนเชื่อกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Central Propaganda Department) ภาพยนตร์ฉายภาพตั้งแต่การเดินทางของเหมา เจ๋อตงและคณะไปพบเจียง ไคเช็กและพรรคก๊กมินตั๋ง ณ นครฉงชิ่ง เพื่อลงนามสัญญาพักสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งระหว่างทาง และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของเจียง ไคเช็ก และเหมาประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นยุคใหม่ของประเทศ
ชมภาพยนตร์ The Founding of a Republic
China: The Roots of Madness เป็นภาพยนตร์สารคดีวิเคราะห์แนวคิดต่อต้านตะวันตกในจีน ระหว่างช่วงสงครามเย็นจากมุมมองชาวอเมริกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากผู้กำกับชาวอเมริกัน จอห์น และเพจ คูแรน และเขียนบทโดยนักข่าวรางวัล Pulitzer ธีโอดอร์ เอช. ไวท์ ผู้ใช้อภิสิทธิ์ของนักข่าวในการเข้าถึงบุคคลสำคัญของจีนถ่ายฟุตเทจสำหรับภาพยนตร์ ภาพยนตร์แบ่งเป็น 7 ตอนเล่าเรื่องตั้งแต่ยุคสมัยของซูสีไทเฮาจนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจการก้าวกระดดดไกลไปข้างหน้า (Great Leap Forward)
ชมภาพยนตร์ China: The Roots of Madness
Mao Zedong 1949 เป็นภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องราวของเหมา เจ๋อตงขณะเตรียมการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 1949 ควบคุมการผลิตโดย Bona Film Group Limited ดำเนินการโดยบริษัทในเครือของ China Poly Group ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ
Mao’s Great Famine เล่าเรื่องราวที่เราอาจหาดูไม่ได้จากภาพยนตร์สารคดีที่ผลิตโดยบริษัทของรัฐบาลจีน นำเสนอภาวะทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในจีน อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของผู้รอดชีวิต และเอกสารลับจากโครงการ Great Leap Forward ของเหมา เจ๋อตงที่นำมาสู่ภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ แต่รัฐบาลจีนเรียกว่า “ภัยธรรมชาตินานสามปีเต็ม” Mao’s Great Famine ควบคุมการผลิตโดยเครือข่ายโทรทัศน์ RTBF หรือสถานีโทรทัศน์ภาษาฝรั่งเศสในเบลเยี่ยม
Tibet: Cry of the Snow Lion เป็นภาพยนตร์สารคดีมากรางวัล เล่าเรื่องการบุกรุกและยึดครองทิเบตของจีน และการยืนหยัดต่อสู้ของชาวทิเบต ภาพยนตร์ฉายภาพชีวิตประจำวันของพระในวัดทิเบต ความยากจนในเมืองลาซา และธรรมชาติอันกว้างใหญ่ของทิเบต ภาพยนตร์เรื่องนี้ควบคุมการผลิตโดย Earthworks Film และ Zambuling Pictures บริษัทผลิตภาพยนตร์สัชาติอเมริกัน
ชมภาพยนตร์ Tibet: Cry of the Snow Lion
Amazing China คือภาพยนตร์สารคดีควบคุมการผลิตโดย China Central Television (CCTV) และ China Film จำกัด ซึ่งล้วนเป็นสื่อและผู้ผลิตภาพยนตร์ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ เล่าความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของจีน อย่าง การสร้างรถไฟความเร็วสูง สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า เทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์สุดล้ำ และการจ้างงานชาวเอธิโอเปียในแอฟริกาที่ถูกนำเสนอในฐานะ “การถ่ายทอดประสบการณ์ความมั่งคั่งของจีนสู่แอฟริกา”
Queer China, “Comrade” China เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในจีน มีการรวมบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวคนสำคัญเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ Cui Zi'en และนักแสดง นักสังคมนิยมวิทยา ภาพยนตร์ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงในกรอบเวลา 80 ปีของสังคมจีน ตั้งแต่การเลือกปฏิบัติ ปัญญาสุขภาพจิตจากแรงกดดันสังคม พัฒนาการ Queer theory จนถึงการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ได้รับการเสนอครั้งแรกในปี 2003
ชมภาพยตร์ Queer China, “Comrade” China
The East Is Red หรือ The East Is Red: A Song and Dance Epic เป็นภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นจากอุปรากรจีน มีโจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีคนแรกของจีนภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง และผลิตโดย August First Film Studio บริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์หนึ่งเดียวของกองทัพจีน เล่าเรื่องราวการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประวัติศาสตร์ชาติจีนภายใต้การนำของเหมา เจ๋อตง ได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทางเยือนเกาหลีเหนือของ พลเอกหลัว เผ่ยชิง ในปี 1960 และได้ชมการแสดงขับร้องและระบำชุดใหญ่ในชื่อ "ภูผาแม่น้ำสามพันลี้" ดัดแปลงจากบทเพลงและการแสดงในช่วงสงคราม เผ่ยชิงจึงอยากทำงานเกี่ยวกับการปฏิวัติจีนในลักษณะเดียวกัน
ภาพยนตร์ Children of Blessing: Opportunity for China’s Minorities สะท้อนภาพกระบวนการที่จีนใช้ในการกลืนกลายกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยเข้าสู่ระบบส่วนกลางของประเทศ ผ่านเรื่องของกลุ่มเด็กชาวลาหู่ ชนกลุ่มน้อยจากพื้นที่ห่างไกลของจีนที่พูดได้แค่ภาษาลาหู่ และต้องทิ้งบ้านเกิดอันเงียบสงบไปเรียนในโรงเรียนประจำในเมืองใหญ่ เพื่อที่จะเป็น “แรงงานสังคมนิยมที่ดี” ภาพยนตร์ยังฉายภาพความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการศึกษาระหว่างเขตเมืองละชนบท ชาวจีนฮั่นและชนกลุ่มน้อย
ชมตัวอย่างภาพยนตร์ Children of Blessing: Opportunity for China’s Minorities
Joshua: Teenager vs. Superpower เล่าเรื่องราวของโจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวเยาวชนจากประเทศฮ่องกง ที่กลายเป็นบุคคลสำคัยในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีน ตั้งแต่กลุ่มนักเรียนเคลื่อนไหวชื่อ Scholarism ที่เขาจัดตั้งขึ้น “การปฏิวัติร่ม” ในปี 2014 ที่หว่องและประชาชนชาวฮ่องกงอีกนับพันเข้าร่วมเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของเมือง และภูมิทัศน์การเมืองในฮ่องกงยุคใหม่หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนผิดคำมั่นเรื่องการมอบอำนาจในการปกครองตนเองให้ฮ่องกง ภาพยนตร์ผลิตโดน June Pictures บริษัทผลิตภาพนต์สหรัฐฯ และฉายบน Netflix